รักษาใบบัวแหว่งเพราะหนอนผีเสื้อกิน
หากบัวในโอ่งน้ำมีอาการ ใบบัวแหว่ง มีรอยกัดกินจากหนอนผีเสื้อ คงไม่เป็นการดี บัวเป็นไม้นํ้าที่อยู่คู่กับเรามาเนิ่นนาน มีการเจริญเติบโตในนํ้าแต่ชูช่อดอกและใบขึ้นเหนือผิวนํ้าอวดความสวยงามของรูปทรงสีสันที่หลากหลายของกลีบดอก อีกทั้งในบัวบางสายพันธุ์จะส่งกลิ่นหอมละมุนเย้ายวนหมู่แมลงให้มาช่วยผสมเกสรอันเป็นกลไกของธรรมชาติที่สรรค์สร้าง ตลอดจนการปลูกเลี้ยงและบำรุงรักษาที่ไม่ยากเย็นนัก จึงทำให้บัวได้รับความนิยมในการปลูกประดับตลอดมา
แต่หาก ใบบัวแหว่ง และเนื้อเยื่อบริเวณแผ่นใบขาดหายเป็นวงกว้าง เหลือเพียงเส้นใบที่ยึดแผ่นใบให้ได้รูปทรงเท่านั้น เกิดจากหนอนกินใบบัวหรือหนอนผีเสื้อที่เรียกว่า “หนอนกระทู้” (Spodoptera litura F.) ซึ่งเป็นตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่งที่ออกหากินและวางไข่บนใบบัวในตอนกลางคืน เมื่อไข่ฟักเป็นตัวจะคอยกัดกินใบบัวจนแหว่ง
•ดอกบัวมีหลายแบบ มารู้จักบัวกัน
•รวมพรรณไม้น้ำยอดนิยมเลี้ยงง่ายและเทคนิคการเลือกซื้อ
ขั้นตอนแก้ไข ใบบัวแหว่ง เพราะหนอนผีเสื้อ
STEP 1
- เด็ดใบที่ถูกหนอนกัดกินออกจากกระถางแล้วนำไปเผาทำลายทิ้ง
STEP 2
- อีกหนึ่งเดือนต่อมา ถ้าพบการระบาดเพิ่มขึ้นควรฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงบ้าง
STEP 3
- ใส่ปุ๋ยเม็ดที่ห่อในกระดาษหนังสือพิมพ์โดยการกดลงในดินปลูกใต้น้ำให้ลึก5 – 10 เซนติเมตร ทุก 3 เดือนแต่ไม่ควรใส่บ่อยจนเกินไปเพราะจะทำให้เกิดตะไคร่ขึ้นในน้ำ
Tips
บัวบางพันธุ์มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากบัวชนิดอื่น ๆ นั่นคือสามารถแตกต้นอ่อนจากกึ่งกลางใบ และนำไปปลูกขยายพันธุ์ต่อได้ตามปกติ ซึ่งได้แก่ บัวพันธุ์ August Koch,Dauben, Panama Pacific, Pink Platter อาจตัดใบที่เกิดตุ่มยอดให้มีก้านติดสั้น ๆและฉีกแผ่นใบรอบ ๆ ตุ่มยอดออกแล้วลอยไว้ในอ่างน้ำ จะคว่ำใบหรือหงายขึ้นก็ได้ไม่นานใบอ่อนและรากจะแตกมากขึ้นแล้วใบจะเริ่มเน่า ควรรีบนำไปปลูกไม่เช่นนั้นน้ำจะเน่าเสียได้
หนังสือ “ดูแลต้นไม้ด้วยตัวเอง” ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนรักต้นไม้ เพราะได้รวบรวมปัญหาที่มักเกิดกับต้นไม้ที่นิยมปลูกเลี้ยง อาทิ กุหลาบ แคคตัส บัว เฟินก้านดำ ฯลฯ พร้อมเสนอวิธีแก้ปัญหาที่สามารถทำได้ด้วยตัวของคุณเอง