เช็คลิสต์เบื้องต้นในการเตรียมบ้านให้พร้อมรับมือกับหน้าฝน

เข้าฤดูฝนทีไร บ้านมักมีปัญหาชวนปวดหัวทุกที แต่จะมาคอยแก้คอยซ่อมตอนหน้าฝนก็ดูเหมือนจะไม่ทันการณ์ วันนี้เราเลยจดเช็คลิสต์ในการเตรียมบ้านเพื่อรับมือกับหน้าฝนมาฝาก เผื่อเจอจุดเสียหายจะได้รีบซ่อมก่อนเกิดปัญหาจริง!!

หลังคา ดาดฟ้า และผนัง
หลังคา ดาดฟ้า และผนังคือส่วนที่จะสัมผัสน้ำฝนเป็นอย่างแรก และยังเป็นส่วนที่สำคัญที่ป้องกันน้ำฝนรั่วซึมเข้าบ้าน ดังนั้นการตรวจสอบหลังคา ดาดฟ้า และผนังจึงเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรก

  • สิ่งที่ต้องเช็คคือ “รอยร้าว” ซึ่งทำให้น้ำซึมสร้างความเสียหายให้บ้าน สามารถสังเกตได้จากคราบน้ำหรือรอยน้ำบนฝ้าเพดาน และรอยน้ำตามพื้น รวมทั้งซอกมุมที่อับสายตาหรือมุมที่มีสิ่งของวางเอาไว้เยอะ ก็ควรรื้อข้าวของออกมาตรวจเช็คหาคราบน้ำซึมเช่นกัน สำหรับบ้านที่มีหลังคา แนะนำให้ตรวจเช็คให้ละเอียดที่ไม่ใช่แค่รอยร้าวของแผ่นกระเบื้องมุงหลังคา เพราะหลังคาที่รั่วซึมน้ำอาจไม่ได้เกิดจากกระเบื้องมีรอยร้าว แต่อาจเกิดจากรอยต่อของกระเบื้องที่ติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นควรเรียกช่างมาเช็คให้แน่ใจว่าหลังคาบ้านของเราเกิดปัญหาตรงจุดไหน ส่วนดาดฟ้า นอกจากมองหารอยร้าวหรือรอยแยกแล้ว แนะนำให้ตรวจเช็คจุดระบายน้ำว่ามีเศษใบไม้กิ่งไม้อุดตันหรือไม่ เพราะไม่ควรปล่อยให้เกิดน้ำขังบนดาดฟ้า
  • วิธีแก้ไข หากพบรอยร้าวบนหลังคาก็ควรเปลี่ยนหลังคาทันที ซึ่งอาจต้องให้ช่างมาช่วยเช็คดูว่าหลังคาที่มีรอยร้าวนั้นสามารถเปลี่ยนเฉพาะแผ่นได้หรือไม่ แต่หากหลังคาบ้านมีอายุการใช้งานที่นานมากแล้ว แนะนำให้เปลี่ยนหลังคาทั้งหมดไปเลยจะดีกว่า ส่วนดาดฟ้าที่มีรอยรั่วซึมหรือรอยแยก วิธีแก้ไขในเบื้องต้นคือการทา ‘วัสดุกันซึม’  ซึ่งจะช่วยป้องกันน้ำซึมได้ในเบื้องต้น ส่วนท่อระบายน้ำก็ควรทำความสะอาดด้วยการใช้ลูกยางปั้มลมใส่ท่อระบายหรือใช้อุปกรณ์ทะลวงท่อในการทำความสะอาด สำหรับผนังมีรอยซึมน้ำที่เกิดจากรอยร้าวตามมุมวงกบประตูหน้าต่าง หรือรอยร้าวเป็นเส้นแนวนอนใต้ท้องคาน สามารถใช้ยาแนวอย่างวัสดุ PU ซิลิโคน, PU โฟม หรือปูนซีเมนต์สำหรับงานซ่อมอุดตามรอยร้าวได้เลย

หน้าต่างและประตู
อีกหนึ่งจุดที่หลายคนมักละเลย แต่เป็นส่วนที่เกิดปัญหาน้ำรั่วซึมได้ง่ายเช่นเดียวกับหลังคา ดาดฟ้า และผนัง โดยเฉพาะประตูหน้าต่างที่มีอายุการใช้งานยาวนาน อาจเกิดการผุหรือวัสดุบางชนิดเสื่อมจนทำให้น้ำซึมเข้ามาได้

  • สิ่งที่ต้องเช็คคือ รอยแตกร้าวหรือรองรอยการผุพังของประตูและหน้าต่าง เช่น หน้าต่างกระจกแบบบานเลื่อน ควรตรวจเช็คขอบยางว่าเสื่อมสภาพแล้วหรือยัง เพราะขอบยางที่เสื่อมสภาพจะไม่สามารถกันน้ำฝนได้ ทำให้เกิดการซึมของน้ำ แต่หากเป็นประตูหน้าต่างไม้ ควรตรวจเช็ดด้วยการมองหารองรอยแตกร้าว ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้น้ำซึมเข้าบ้าน แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่นานไปจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้เช่นกัน นอกจากนี้อย่าลืมตรวจเช็ควงกบประตูหน้าต่างซึ่งเป็นจุดที่มักเกิดปัญหา
  • วิธีแก้ไข หากเป็นรอยผุรอยร้าวเล็กๆ สามารถซ่อมแซมได้ด้วยการอุดยาแนว แต่หากเป็นรอยผุที่ใหญ่เกินกว่าจะซ่อมแซม แนะนำให้เปลี่ยนประตูหน้าต่างนั้นเลยจะดีกว่า แต่ทั้งนี้หากเป็นบ้านฉาบปูนที่วงกบหน้าต่างประตูติดแน่นกับผนังปูน แนะนำให้เรียกใช้บริการช่างที่มีความชำนาญในการเปลี่ยน เพื่อความสะดวกและมั่นใจได้ว่าบ้านจะไม่เสียหายเพิ่มขึ้น อีกหนึ่งวิธีป้องกันน้ำซึมผ่านประตูหน้าต่างคือติดตั้งกันสาด ซึ่งสามารถช่วยป้องกันฝนสาดในวันที่ลมฝนแรง แถมยังช่วยรักษาประตูหน้าต่างให้ใช้งานได้ยาวนานอีกด้วย

เพราะรางน้ำในคือจุดที่รองรับน้ำฝนจากหลังคา ดังนั้นการตรวจเช็ครางน้ำฝนให้อยู่ในสภาพพร้อมรับมือกับน้ำฝนอยู่เสมอจึงสำคัญ โดยปัญหาที่มักพบคือรางน้ำฝนระบายน้ำไม่ทัน ทำให้น้ำฝนไหลย้อนกลับเข้าบ้าน รวมทั้งรางน้ำฝนมีรอยรั่วทำให้น้ำซึมเข้าบ้าน

  • สิ่งที่ต้องเช็คคือ รองน้ำฝนต้องไม่มีสิ่งอุดตัน ทั้งเศษดินและเศษใบไม้ที่จะมาขวางทางระบายน้ำ แต่สำหรับบ้านไหนที่ใช้รางน้ำฝนคอนกรีต หากมีการใช้งานมานานอาจเกิดรอยร้าวจนทำให้น้ำจากรางซึมเข้าบ้านได้ ดังนั้นควรเช็คว่ารางน้ำฝนของเราอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่
  • วิธีแก้ไข หากรางน้ำฝนมีเศษใบไม้อุดตันก็ควรรีบทำความสะอาดและหมั่นมาตรวจสอบเสมอ อาจทำตะแกรงครอบเพื่อป้องกันใบไม้และเศษกิ่งไม้ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้ แต่ในกรณีที่รางน้ำฝนมีสภาพไม่พร้อมใช้งาน เช่น ติดรางน้ำฝนสำเร็จรูปไม่ได้ระดับ ทำให้น้ำไหลย้อนเข้าบ้าน ปัญหานี้อาจต้องเรียกช่างมาแก้ แต่สำหรับรางน้ำฝนคอนกรีตที่มีรอยรั่ว แนะนำให้รีบซ่อมแซมด้วยซีเมนต์สำหรับงานซ่อมและทาวัสดุกันซึมหรือใช้แผ่นปิดรอยต่อสำหรับกันซึมทับอีกชั้น นอกจากนี้กรณีที่รางน้ำฝนระบายน้ำไม่ทัน สามารถแก้ปัญหาน้ำล้นรางด้วยการเจาะรูรางด้านนอกเพิ่ม

ท่อระบายน้ำรอบบ้าน
น้ำฝนที่ถูกระบายจากบ้านหรือตัวอาคารจะไหลลงสู่ท่อระบายน้ำรอบบ้าน ดังนั้นหากท่อระบายน้ำอุดตันปัญหาที่ตามมาคือ น้ำจะล้นจนท่วมเข้าบ้านได้

  • สิ่งที่ต้องเช็คคือ ตรวจสอบการอุดตันของท่อ โดยเฉพาะดินที่มักสะสมจนทำให้การระบายน้ำได้ไม่ดี
  • วิธีการแก้ไขคือ การลอกท่อ แต่โดยปกติท่อน้ำรอบบ้านไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก ดังนั้นอาจต้องใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า ‘งูเหล็ก’ เป็นตัวช่วย หรือจะใช้แรงดันน้ำอัดเพื่อล้างก็ได้ นอกจากนี้ควรเตรียมวิธีรับมือระยะยาวด้วยการหาจุดรั่วที่ทำให้ดินไหลลงท่อจนอุดตัน แล้วจัดการอุดรอยรั่วนั่น

ต้นไม้ใหญ่
ต้นไม้ใหญ่ดูเหมือนไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะอยู่นอกบ้าน แต่หากวันไหนที่ลมฝนแรงอาจทำให้กิ่งไม้หรือต้นไม้หักโคมลงมาทับบ้านได้เช่นกัน ดังนั้นควรเตรียมพร้อมเรื่องต้นไม้เอาไว้ตั้งแต่เนินๆ จะดีกว่า

  • สิ่งที่ต้องเช็คคือ ตรวจดูกิ่งไม้ว่ายังแข็งแรงดีหรือไม่ ถ้าเป็นกิ่งไม้ใกล้ตายที่สามารถหักโค่นลงมาได้ง่าย แนะนำให้ตัดทิ้งแต่เนินๆ ไปเลยจะดีกว่า ที่สำคัญคือตรวจสอบว่าต้นไม้ใหญ่อยู่ห่างจากบ้านในระยะปลอดภัยหรือเปล่า หากมีกิ่งใหญ่ยืนออกเข้าใกล้บ้านก็ควรตัดทิ้งเช่นกัน รวมทั้งอย่าลืมตรวจสอบว่าต้นไม้ใหญ่สามารถยืนต้นทนแรงลมได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหากเป็นต้นไม้ใหญ่ที่เพิ่งลงดินหรือต้นไม้ใกล้ตายจะสามารถหักโคนได้นั่นเอง
  • วิธีแก้ไข แนะนำให้ตัดแต่งกิ่งไม้ให้โปร่ง เพื่อป้องกันต้นไม้หักโค่นหรือฉีกขาด ส่วนต้นไม้ใหม่ที่เพิ่งลงดินหรือต้นไม้ที่ใกล้ตาย แต่ยังไม่อยากโค่นทิ้ง แนะนำให้ทำไม้ค้ำยันต้นไม้เอาไว้ เพื่อป้องกันต้นไม้ล้ม

ทั้งหมดนี้เป็นเช็คลิสต์เบื้องต้นในการเตรียมบ้านรับมือหน้าฝน เพราะเมื่อไรที่ฝนมาเยือนเราจะได้อยู่บ้านอย่างมีความสุข โดยไม่ต้องวุ่นวายกับการรับมือปัญหาเหล่านี้ ลองมองหาอุปกรณ์และเครื่องมือในการเตรียมบ้านรับหน้าฝนในเบื้องต้นได้ที่ HomePro ทุกสาขาหรือที่เว็บไซต์ www.homepro.co.th