ออกแบบครัวไทย ให้ไร้กลิ่นและควัน
ออกแบบครัวไทย ให้ไร้กลิ่นและควันรบกวนชวนให้จามไปทั่วบ้าน ที่เป็นปัญหาทั่วไปของชาวคอนโดมิเนียมหรือเจ้าของบ้านทาวน์เฮ้าส์ และทาวน์โฮมหลังน้อยที่ชื่นชอบการทําอาหารไทยซึ่งมีกลิ่นฉุน รสชาติเผ็ดร้อนแรง แต่ด้วยพื้นที่จำกัด การต่อเติมครัวแบบเปิดเพื่อลดกลิ่นและควันไม่ให้ลอยตลบอยู่ในบ้าน อาจกลายเป็นเรื่องยุ่งยากของใครหลายคน จนถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว อย่าเพิ่งถอดใจไปค่ะ เพราะเรามีข้อแนะนําเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหานี้มาฝาก เพื่อช่วยให้คุณมีครัวไทยในฝันและใช้งานได้จริง
/ 1- กั้นพื้นที่ส่วนห้องครัว /
ทาวน์เฮ้าส์หรือทาวน์โฮมส่วนใหญ่ มักมีครัวอยู่หลังบ้าน เราจึงสามารถจํากัดการกระจายกลิ่นและควันไม่ให้เข้าไปในส่วนอื่นๆ ของบ้านได้ง่ายดาย ด้วยการติดตั้งประตูกั้นพื้นที่ ซึ่งก็มีหลากดีไซน์หลายวัสดุให้เลือก ทั้งนี้เราควรคํานึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ ลักษณะการใช้งาน และสไตล์การตกแต่งเป็นหลักด้วย ส่วนบานประตูที่ว่านั้นจะมีแบบไหนบ้าง ไปเลือกดูกันเลย
01 ประตูบานเฟี้ยม : เหมาะกับบ้านที่ต้องการพื้นที่แบบยืดหยุ่น โดย เปิดบานเฟี้ยมเพื่อเชื่อมพื้นที่ครัวและส่วนอื่นของบ้านขณะไม่ได้ประกอบอาหาร บานเฟี้ยมกินพื้นที่การใช้งานน้อยและเปิดได้กว้างกว่าประตูแบบอื่นๆ เราสามารถเลือกวัสดุและออกแบบหน้าบานให้เป็นจุดเด่นของห้องได้ แต่ควรติดตั้งทั้งรางบนและรางฝังพื้นเพื่อป้องกันบานแกว่ง
02 ประตูบานเลื่อน : ช่วยแก้ปัญหาการเสียพื้นที่ในรัศมีการเปิดประตูบานสะวิง อาจเลือกใช้แบบบานแขวนเพื่อป้องกันการเดินสะดุดรางเลื่อนบนพื้นในกรณีที่ไม่สามารถติดตั้งรางแบบฝังได้ หากไม่อยากให้ประตูดูเป็นส่วนเกิน อาจเลือกใช้บานประตูอะลูมิเนียมทึบทําสีพาวเดอร์โค้ตให้กลายเป็น ผนังอีกด้านไปเลย แม้จะมีราคาสูง แต่ก็ดูแลรักษาง่าย มีความทนทานกว่าบานประตูไม้
03 ประตูบานสะวิง : เป็นประตูบานเปิดที่สามารถผลักเข้า-ออกได้สองทาง อาจเลือกแบบไม่มีมือจับ เพื่อความสะดวกขณะใช้งานที่ต้องเดินเข้า-ออกบ่อยๆ เหมาะสําหรับบริเวณที่มีพื้นที่แคบและยาว ไม่มีพื้นที่ด้านข้างพอสําหรับซ้อนบานเลื่อน โดยคุณสามารถเลือกใช้ได้ทั้งบานแบบไวนิล และกรุสเตนเลสท่ีทนทานและทําความสะอาดง่าย
Tip :
ถ้าเป็นไปได้ แนะนําให้ติดตั้งพัดลมดูดอากาศบนผนังบริเวณที่ใกล้กับเตา เพื่อช่วยดูดควันและช่วยระบายอากาศให้อากาศถ่ายเทได้ดีขณะประกอบอาหาร
/ 2- ติดตั้งเครื่องดูดควัน /
หากตําแหน่งของห้องครัวไม่เอื้ออํานวยให้กั้นพื้นที่ อย่างห้องครัวในคอนโดมิเนียม เครื่องดูดควันก็เป็นตัวเลือกยอดนิยมที่ช่วยลดความรุนแรงของควัน กลิ่นอาหาร และคราบน้ํามันตามผนังที่ทําความสะอาดยากอย่างได้ผล
การเลือกซื้อเครื่องดูดควันสำหรับครัวไทย
- ควรเลือกเครื่องดูดควันที่มีขนาดใหญ่กว่าหรือพอดีกับพื้นที่เตาประกอบอาหาร อาจกว้างกว่าด้านละ 10 เซนติเมตร เพื่อให้ครอบคลุมแหล่งกําเนิดควัน
- เครื่องดูดควันสําหรับครัวไทย ควรมีกําลังดูดอากาศอย่างน้อยชั่วโมงละ 1,500 – 2,000 ลูกบาศก์เมตรจึงจะเอาอยู่ และควรเลือกแบบปรับความแรงลมได้หลายระดับตามลักษณะการปรุงอาหาร เพื่อประหยัดไฟฟ้า
- ควรเลือกแบบระบบดูดอากาศผ่านท่อออกสู่ภายนอก เพราะมีพลังดูดอากาศสูง กําจัดควันได้หมดรวดเร็ว
การติดตั้ง
- สําหรับเครื่องดูดควันที่มีท่อระบายอากาศสู่ภายนอก ในส่วนที่ไม่มีชายคา ควรดูแลให้ช่างติดตั้งท่อส่วนปลายให้ต่ำกว่าท่อส่วนต้น เพื่อป้องกันน้ําฝนสาดและไหลย้อนเข้าไปในเครื่องดูดควันจนอาจทําให้เกิดความเสียหายได้
- ขณะเครื่องดูดควันทํางานจะเกิดการเคลื่อนที่ของลม ดังน้ันจึงควรติดตั้งในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท เพื่อให้ เครื่องทํางานได้เต็มประสิทธิภาพและไม่เกิดภาวะสุญญากาศ
- เครื่องดูดควันที่มีกําลังสูงอาจมีเสียงดัง แก้ปัญหาได้ด้วยการติดต้ังมอเตอร์พัดลมไว้ภายนอก แต่ควรระมัดระวังไม่ให้เสียงและท่อระบาย ควันอยู่ในตำแหน่งที่รบกวนเพื่อนบ้าน
การบํารุงรักษา
- ควรถอดแผงตะแกรงและถ้วยรองน้ํามันของเครื่องดูดควันออกมาทําความสะอาดเป็นประจําด้วยน้ํายาล้างจาน แต่ถ้าเป็นคราบฝังแน่น ให้ใช้ผ้าชุบน้ำยาแอมโมเนียเช็ดให้สะอาด หรือแช่ในโซดาไฟเจือจาง เพื่อให้คราบสกปรกหลุดออกมาเอง อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังการใช้สารละลายอันตรายท้ังสองชนิด โดยทําตามคําแนะนําบนฉลากอย่างเคร่งครัด
เครื่องดูดควันในท้องตลาดทั่วไป ที่มีรูปทรงสวยงามมักมีกําลังดูดไม่เพียงพอกับการใช้งานจริงของครัวไทย เราจึงขอแนะนําให้สั่งทําเครื่องดูดควันกําลังแรงพิเศษที่มักใช้ในร้านอาหารหรือโรงแรม แม้ดีไซน์จะไม่โดนใจ แต่เราก็สามารถออกแบบเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินมาช่วยปกปิดความเทอะทะของเครื่องและปล่องระบายควันให้ดูกลมกลืนกับห้องครัวโดยรวมได้ไม่ยาก