DESIGNER DIRECTORY : เจ้าของ: ครอบครัวเจริญเรืองเดช
รีโนเวทบ้านไม้เก่า ผมเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการฟังบทเพลงเก่าๆ แม้ว่าบางเพลงจะแต่งมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ทุกครั้งที่ได้ฟังคำร้องและทำนองก็ยังคงรู้สึกว่าเป็นบทเพลงร่วมสมัยที่ฟังครั้งใดก็มีความสุขได้เสมอ ไม่ต่างกับการได้เดินซึมซับบรรยากาศอาคารบ้านเรือนเก่าๆ
รีโนเวทบ้านไม้เก่า ที่แม้ว่าคนสมัยก่อนจะเน้นปลูกสร้าง เพื่อป้องกันตัวจากภัยธรรมชาติและอันตรายอื่นๆมากกว่าจะเน้นเรื่องความสวยงาม แต่ผมเองมีความเชื่อว่าวันเวลาได้กลายเป็นเครื่องกล่อมเกลา ให้บ้านเก่าดูเท่และมีเสน่ห์ได้เฉกเช่นบทเพลงสุดคลาสสิกในอดีต
เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสแวะไปที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ได้ลองเดินสำรวจอาคารเก่าในย่านนี้ หนึ่งในอาคารเก่าที่ผมเห็นแล้วรู้สึกประทับใจก็คือ “บ้านส้มลิ้ม” เป็นบ้านไม้สองชั้นอายุกว่าหกสิบปีแล้ว แต่รูปทรงของอาคารหลังนี้ยังคงดูทันสมัยและมีเสน่ห์ให้ชวนมอง
คุณตู่ – อภิชาติ พรหมฤทธิ์ และคุณอ๊อด – อรทัย เจริญเรืองเดช เจ้าของบ้านเล่าให้ฟังว่า ตัวบ้านเดิมเป็นอาคารไม้สองชั้น ฐานรากเป็นฐานแผ่ คานคอดินเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นและเสาชั้นหนึ่งเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด ส่วนตัวบ้านใช้ไม้หลากหลายชนิด เช่น ไม้รัง ไม้เต็ง ไม้มะค่า และไม้สัก ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ไม้รวม” ชั้นล่างมีหน้ากว้าง 4.50 เมตร ลึก 15.65 เมตร
ประตูหน้าบ้านเป็นบานเฟี้ยมทึบแสง 6 บาน โดยเจาะช่องแสงด้านบนเหนือประตูพร้อมกรุกระจกลายพิกุล เหนือช่องแสงคือช่องลมซึ่งสมัยก่อนยังไม่มีมุ้งลวด นอกจากลมจะผ่านเข้ามาได้แล้ว พวกแมลงและสัตว์ไม่พึงประสงค์ก็เข้ามาได้ด้วยเช่นกัน บริเวณชั้นล่างเดิมอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ดูอึดอัดและอับชื้น ประกอบกับขาดการดูแลรักษา จึงทำให้ปลวกกัดทำลายชั้นล่างของบ้านไปครึ่งหลัง
แม้สภาพของบ้านจะดูทรุดโทรม ทว่าด้วยเสน่ห์ของไม้ซึ่งเป็นวัสดุที่เห็นเมื่อไรก็รู้สึกอบอุ่น และเท็กซ์เจอร์ของไม้แต่ละแผ่นที่ดูมีเอกลักษณ์และเป็นธรรมชาติ ก็ทำให้ทั้งคุณตู่และคุณอ๊อดตัดสินใจปรับปรุงบ้านหลังนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยนอกจากทำเป็นที่พักสำหรับครอบครัวแล้ว ก็ยังทำที่พักในรูปแบบโฮม สเตย์ เพื่อให้นักเดินทางได้ลองมาใช้ชีวิตแบบคนในท้องที่ดูบ้าง เพราะทำเลที่ตั้งของบ้านส้มลิ้มอยู่ระหว่างอำเภอเมืองฯกับอำเภอศรีสัชนาลัย ห่างจากสนามบินสุโขทัยเพียง 4 กิโลเมตร จึงสะดวกกับการวางแผนไปท่องเที่ยวตามจุดไฮไลต์ต่างๆในสุโขทัย
ด้วยความที่คุณตู่และคุณอ๊อดเป็นนักออกแบบ ทั้งคู่ลงมือสำรวจตัวบ้านอย่างละเอียด ก็พบว่ามีไม้เก่าและเสาปูนที่ผุพังเพราะได้รับความชื้นมากเกินไป จึงรื้อในส่วนที่เสียหายเกินเยียวยาออกไป แล้วคัดไม้ที่ยังคงสภาพดีเก็บเอาไว้ใช้ต่อขั้นตอนต่อมาคือการดีดตัวบ้านขึ้น 1.50 เมตร เพื่อให้เท่ากับระดับถนนในปัจจุบัน และทำให้ตัวบ้านพ้นจากความชื้นที่หมักหมมมานาน พร้อมกับหล่อเสาปูนขึ้นมาใหม่
ตัวบ้านชั้นล่างกับชั้นบนมีการปรับแบบให้มีขนาดเท่ากัน โดยตัดห้องครัวกับห้องน้ำที่เคยอยู่ติดตัวบ้านออกไป แล้วปรับให้มีอาคารปูนซึ่งชั้นล่างออกแบบเป็นครัวและชั้นบนทำเป็นห้องน้ำ และลานอเนกประสงค์แยกจากตัวบ้านเดิม เพื่อลดทอนความอึดอัด ทำให้เกิดคอร์ตกลางระหว่างตัวบ้านไม้ กับอาคารปูนบริเวณนี้ทำเป็นลานปูพื้นอิฐมอญและจัดสวนขนาดเล็กสำหรับนั่งอ่านหนังสือหรือเป็นมุมทำกิจกรรมอื่นๆได้ ส่วนชั้นสองทำสะพานเชื่อมจากตัวบ้านไปยังห้องน้ำและลานอเนกประสงค์ซึ่งอยู่เหนือห้องครัวชั้นล่าง ไว้สำหรับเป็นที่ตากผ้า มุมพักผ่อนสบายๆหรือจะมานอนดูดาวในยามที่ท้องฟ้าเปิดก็ยังได้
ส่วนภายในบ้านไม้ บริเวณชั้นล่างจัดเป็นมุมพักผ่อน ฟังเพลง อ่านหนังสือ รวมถึงรับประทานอาหาร โดยคุณตู่และคุณอ๊อดพยายามตกแต่งให้มีบรรยากาศเหมือนอยู่บ้านมากที่สุด เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ดูไม่หรูหรามากนัก เช่น แชนเดอเลียร์ทรงสวยที่ได้จากวัดสวนแก้วในราคาไม่แพง ส่วนชั้นสองเน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก เพราะมีพื้นที่ที่จำกัด โดยออกแบบห้องโถงภายนอกเป็นห้องนอนรวมสำหรับนักเดินทางแบบแบ็กแพ็กเกอร์จัดวางเตียงสองชั้น 3 เตียง นอนได้ 6 คน กั้นผ้าม่านบางๆไว้บังตา หรือถ้าต้องการความเป็นส่วนตัวขึ้นมาอีกหน่อยก็ยังมีห้องพักเดี่ยวที่นอนได้ 2 คน รวมถึงมีมุมพักผ่อนที่จัดวางเบาะนั่งสีสันสดใสสำหรับให้ผู้มาพักนั่งเอกเขนกได้อย่างสำราญใจ
บ้านส้มลิ้มจึงถือเป็นตัวอย่างการรีโนเวตบ้านไม้เก่าที่น่าสนใจ นอกจากการปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตในปัจจุบันแล้วบ้านหลังนี้ยังเปี่ยมด้วยเสน่ห์ของงานไม้ที่แม้ผ่านกาลเวลามานาน แต่ก็ยังมีคุณค่าที่มิอาจประเมินได้ คุณผู้อ่านท่านใดที่แวะไปเที่ยวสุโขทัย แล้วอยากลองเปลี่ยนบรรยากาศมาใช้ชีวิตแบบคนในพื้นที่ดูบ้าง ลองแวะมาพักที่บ้านไม้เก่าหลังนี้ แต่บอกไว้ก่อนว่าที่นี่ต้องจองล่วงหน้าเท่านั้นครับ
บ้านส้มลิ้มโฮมสเตย์
26 หมู่ที่ 2 ถนนจรดวิถีถ่อง ตำบลบางยม อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย โทรศัพท์ 08 – 9210 – 0426
ขอขอบคุณ
ครอบครัวเจริญเรืองเดช
เรื่อง:“ไตรรัตน์ ทรงเผ่า”
ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข
เรื่องที่น่าสนใจ