“กล้วย” ผลไม้ที่อยู่คู่วิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน นำมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ต้น ใบ ดอก หน่อ และผล จนถึงราก ใช้เป็นอาหารและยารักษาโรค มีหลากหลายสายพันธุ์ ชนิดของกล้วย ที่นิยมบริโภคและจำหน่ายกันทั่วประเทศ ได้แก่
ชนิดของกล้วย
– กล้วยน้ำว้า –
“กล้วยน้ำว้า” มีชื่อสามัญหรือชื่อเรียกท้องถิ่นว่า กล้วยใต้ กล้วยตานีอ่อง กล้วยมะลิอ่อง หรือกล้วยอ่อง (Pisang Awak) และมีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Musa (ABB) ‘Nam Wa’
มีเหลี่ยมเล็กน้อย เปลือกผลหนา เมื่อผลสุกมีสีเหลือง เนื้อสีขาวนวล รสหวาน ไส้กลางสีเหลือง ชมพู หรือขาว มีหลากหลายสายพันธุ์ อาทิ กล้วยน้ำว้าค่อม กล้วยน้ำว้าดำ กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง และกล้วยน้ำว้าจันทร์ ให้คุณประโยชน์มากมาย มีธาตุเหล็กสูงที่สุด ช่วยป้องกันโรคโลหิตจางได้ยอดเยี่ยม เป็นยาอายุวัฒนะ สามารถทานเพื่อลดน้ำหนัก นอกจากนี้ยังมีสารฮิสโตแฟนที่เป็นสารตั้งต้นฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน หลั่งสารแห่งความสุข ช่วยให้หลับสบาย คลายความเครียด ทั้งยังมีแคลเซียมสูง ช่วยป้องกันฟันผุ
– กล้วยหอม –
“กล้วยหอม” หรือ “กล้วยหอมทอง” เป็นชื่อท้องถิ่นที่ถูกเรียกโดยทั่วไป มีชื่อสามัญคือ Gros Michel และชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Musa (AAA) ‘Hom’
มีผลใหญ่ ปลายโค้งเรียวยาว เปลือกบาง เมื่อสุกจะมีสีเหลืองทอง เนื้อในสีส้มอ่อน รสหวาน มีกลิ่นหอม สายพันธุ์ที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ กล้วยหอมเขียว กล้วยหอมทอง กล้วยหอมค่อม และกล้วยหอมแกรนด์เนน มีผลวิจัยพบว่า กล้วยหอมทองมีโปรตีนสูง ช่วยให้ร่างกายเติบโตแข็งแรง มีแร่ธาตุเป็นจำนวนมาก สรรพคุณมากมาย รักษาอาการโลหิตจาง นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการของโรคหลอดเลือดในสมอง บำรุงประสาท ปรับอารมณ์ ลดความตึงเครียด ช่วยให้ร่างกายสดชื่น สามารถป้องกันโรคซึมเศร้าและบรรเทาอาการปวดต่างๆ
– กล้วยไข่ –
“กล้วยไข่” มีชื่อท้องถิ่นว่า กล้วยกระ และชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Musa (AA) ‘Khai’ มีลักษณะคือ ผลค่อนข้างเล็ก ก้านผลสั้น มีเปลือกบาง เมื่อสุกเปลือกและเนื้อมีสีเหลืองสด มีจุดกระสีดำที่เปลือก มีรสชาติหวาน
กล้วยไข่มี 2 สายพันธุ์ที่เป็นที่รู้จัก คือ กล้วยไข่กำแพงเพชร และกล้วยไข่ทองเงย มีเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยต้านมะเร็งได้อย่างวิเศษ เมื่อสุกช่วยบำรุงกำลัง เป็นยาระบาย ผลดิบใช้ชงน้ำร้อนหรือบดเป็นผงรับประทาน ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารและอาการท้องเสียเรื้อรัง มีรสฝาด
– กล้วยเล็บมือนาง –
“กล้วยเล็บมือนาง” มีชื่อเรียกโดยทั่วไปคือ กล้วยข้าว กล้วยเล็บมือ กล้วยทองดอกหมาก และกล้วยหมาก ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Musa (AA) ‘Lep Mue Nang’ เป็นกล้วยประจำท้องถิ่นของภาคใต้ ปัจจุบันนำมาปลูกกันทั่วทุกภาค โดยเฉพาะภาคกลาง
กล้วยเล็บมือนางมีผลเล็ก ปลายเรียวยาวและโค้ง ก้านผลสั้น เปลือกหนา เมื่อสุกสีเหลืองทองและมีก้านเกสรเพศเมียติดที่ปลายผล เนื้อด้านในมีสีเหลืองหรือสีครีม เนื้อนุ่ม รับประทานง่ายเพราะผลมีขนาดเรียวเล็ก กลิ่นรสหวานหอม ผลดิบมีรสมัน ไม่ฝาด นิยมนำมาปรุงอาหารปักษ์ใต้ ไม่นิยมนำมาแปรรูปเหมือนกล้วยชนิดอื่นเพราะขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีฟอสฟอรัสมากที่สุด ช่วยบำรุงให้กระดูกและฟันแข็งแรง
– กล้วยนาก –
“กล้วยนาก” เป็นกล้วยโบราณหายาก มีความแตกต่างจากกล้วยชนิดอื่น ด้วยผลที่มีสีแดงเหมือนกับสีของนาก ทำให้มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีชื่อท้องถิ่นว่า กล้วยกุ้ง กล้วยกุ้งเขียว กล้วยแดง กล้วยครั่ง และกล้วยน้ำครั่ง เป็นกล้วยที่พบทางภาคใต้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Musa (AAA) ‘Nak’
เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ก้านผลสั้น เนื้อสีเหลืองอมส้ม มีรสหวานอมเปรี้ยวและกลิ่นหอมเย็น เนื้อนิ่มละเอียด และไม่มีเมล็ด บางตำรากล่าวว่า กล้วยนากมีสารแอนติออกซิแดนต์สูง นิยมนำมารับประทานสดเมื่อผลสุก ส่วนผลดิบใช้ทอดหรือฉาบน้ำตาลเพื่อบริโภคหรือขาย นอกจากนี้ยังนำมาใช้ในการประกอบเครื่องบูชาเทวดาและในงานพิธีมงคลต่างๆ
– กล้วยน้ำไท –
“กล้วยน้ำไท” หรือกล้วยหอมเล็ก เป็นกล้วยท้องถิ่นของกรุงเทพฯ ในปัจจุบันพบได้ยาก มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Musa (AAB) ‘Nam Thai’
มีลักษณะของผลคล้ายกล้วยหอมจันทร์ แต่โค้งงอกว่า เป็นเหลี่ยม เปลือกหนา ปลายผลมีจุกและมักมีก้านเกสรตัวเมียติด เมื่อสุกมีสีเหลืองเข้มและมีจุดดำเล็กๆคล้ายกล้วยไข่ เนื้อสีเหลืองอมส้ม กลิ่นรสหวานหอม ไม่มีเมล็ด นิยมกินผลสด ถ้านำไปเชื่อมหรือผ่านความร้อนจะมีรสฝาด มีสรรพคุณเป็นยาดี สามารถนำมาดองกับน้ำผึ้งใช้เป็นยาอายุวัฒนะ แต่เดิมเป็นกล้วยที่ใช้โดยทั่วไปในพิธีกรรมต่างๆ แต่ปัจจุบันหายาก จึงเปลี่ยนมาใช้กล้วยน้ำว้าแทน
เรื่อง : วรุณพร อโศกพรชัย
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
เรื่องที่น่าสนใจ
- ปลูกกล้วยหอมทองกันเถอะ ปลูกกินก็ได้ ปลูกขายก็ดี
- ปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์ให้ได้ผล
- ติดตามข้อมูลดีๆจากบ้านและสวนได้ที่นี่
สรรพคุณของกล้วย ประวัติกล้วยกล้วยน้ำว้ากล้วย ชื่อวิทยาศาสตร์ ชนิดของกล้วย ประโยชน์ของกล้วยหอม กล้วยไข่ ประโยชน์ของต้นกล้วย