ข้อควรคิดวิธีเลือกผู้รับเหมา ไม่ให้โดนหลอก

ได้เห็นข่าว ผู้รับเหมาสร้างบ้าน ทิ้งงานอยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่ผู้ว่าจ้างนั่นเป็นดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ก็ยังไม่วายต้องเจอปัญหานี้ เห็นทีว่าควรบรรจุเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนที่กำลังจะสร้างบ้านเลยก็ว่าได้

ด้วยการประกอบอาชีพ ผู้รับเหมาสร้างบ้าน นั้น ไม่ได้มีใบรับรองหรือใบอนุญาตใดๆ เป็นเครื่องหมายการันตีในความสามารถ ความรับผิดชอบ และที่สำคัญคือความซื่อสัตย์ นอกเสียจากจะเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนนิติบุคคลและได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกร

•รู้ไว้..ก่อนผิด กฎหมายบ้าน
•ก่อสร้างบ้าน แล้วเดือดร้อนข้างบ้าน ผู้ว่าจ้าง หรือผู้รับเหมา ต้องรับผิดชอบ

บางครั้งการคัดเลือกผู้เหมารายย่อยสำหรับสร้างบ้านที่นับว่าเป็นโปรเจ็คขนาดเล็ก หรือบางทีเจ้าของบ้านก็มีแบบบ้านที่ได้รับการรับรองโดยสถาปนิกที่มีใบอนุญาตแล้วนั้น เจ้าของบ้านอาจจะใช้วิจารณญาณของตัวเองในการคัดกรองคัดเลือกผู้รับเหมาสร้างบ้าน แต่ก่อนจะเลือกผู้รับเหมาลองมาพิจารณาเป็นข้อๆ ป้องกันปัญหาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

ผู้รับเหมาสร้างบ้าน

1 มีคนใกล้ตัวไว้ใจได้แนะนำให้

ว่ากันว่าการตลาดที่ดีที่สุดคือการบอกต่อ คนในยุค4.0 ต่างให้ความเชื่อใจสินค้าที่ผ่านการรีวิวของคนมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่การบอกต่อหรือแนะนำผู้รับเหมานั้นไม่ได้ง่ายเหมือนอย่างการรีวิวสินค้าทั่วไป เพราะต้องผ่านด่านหินสร้างผลงานที่น่าเชื่อถือมีคุณภาพอย่างแท้จริง การคัดเลือกผู้รับเหมาสร้างบ้าน คงไม่ต้องถึงขั้นให้คนมีชื่อเสียงมารีวิวในสิ่งที่สร้างมา แต่หากผลงานการสร้างบ้านที่ผ่านมาได้รับการยอมรับจากลูกค้าเดิมที่เป็นบุคคลที่เราน่าเชื่อถือ ไว้ใจได้ ก็สมควรรับพิจารณาไว้เพราะการเข้าไปนั่งอยู่ในใจลูกค้าจนกล้าบอกต่อนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว

2 มีที่ตั้งเป็นหลักแหล่งแน่นอน

แน่นอนว่าจะให้ใครมาสร้างบ้านให้เรานั้น เขาต้องมีที่อยู่ที่แน่นอนหรือมีสำนักงานที่ตั้งที่ชัดเจน ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งข้อพิจารณาสำคัญ การจัดตั้งสำนักงานรับเหมาก่อสร้างอาจจะทำให้เรารู้สึกเชื่อมั่นเชื่อถือได้มากกว่าผู้รับเหมารายย่อยที่ไม่มีอยู่ชัดเจน แต่ก็ต้องพิจารณาในตัวที่ตั้งสำนักงานด้วยว่าสภาวะแวดล้อมนั้นมีความมั่นคงในแง่ธุรกิจมากแค่ไหน หรือเป็นสำนักงานรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนพานิชย์ถูกต้องตามกฎหมายเป็นบริษัทจำกัด หรือเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือไม่

3 ผลงานดีมีจริงโชว์ได้

หากไม่มีคนรู้จักแนะนำให้ ผู้รับเหมาที่ซื่อสัตย์งานดีต้องรีวิวผลงานตัวเองได้ ซึ่งไม่มีเวทีหรือช่องทางไหนจะบอกเล่าได้ดีเท่ากับสถานที่จริง ฉะนั้น อย่าลืมให้ผู้รับเหมาพาไปดูไปเยี่ยมไปชมผลงานที่ผ่านมาด้วย รวมทั้งให้ลูกค้าเก่าช่วยคอมเม้นต์ยืนยันถึงคุณภาพงานก่อสร้าง (ที่ไม่ใช่การอวยจนเกินจริง) จะเป็นการดียิ่งขึ้น

4 อย่าวัดใจเลือกใครก็ได้ให้ราคาถูก

ของดีราคาถูกใช่ว่าจะมีให้เห็นกันทั่วไป เพราะราคาวัสดุก่อสร้าง ราคาค่าแรงช่าง ทุกอย่างล้วนแต่มีมาตรฐานราคากลางเป็นตัวชี้วัด บ้านแต่ละหลังแต่ละขนาดจึงมีราคาลดหลั่นกันไป ซึ่งขั้นตอนการเสนอราคาของผู้รับเหมานั้นอยู่ในลำดับต่อจากแบบก่อสร้างที่ผ่านการรับรองจากสถาปนิกและวิศวกร (ที่มีใบอนุญาต) ได้รับการอนุมัติก่อสร้างจากสำนักเขต หลังจากนั้นเจ้าของบ้านต้องคัดเลือกผู้รับเหมาที่ยื่นราคาก่อสร้างที่สมเหตุสมผลที่สุด แพงไปก็ค้ากำไรเกินควรแต่ถูกไปก็มีนัยยะ

5 อย่าทำตัวให้ชวนหนีหน้า

สิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยให้ผู้รับเหมาต้องยกเลิกสัญญาหรือบางกรณีก็ทิ้งงานไปเลยนั้นคือ ตัวเจ้าของบ้านเอง ที่มักจะตัวเองให้เป็น “สถาปนึก” เล่นเปลี่ยนแบบ เปลี่ยนสเปกวัสดุรายวันก็ชวนปวดหัว จะทำอย่างไรให้ผู้รับเหมาสร้างบ้านแสนรักของเราจนเสร็จสมบูรณ์มีวีธีดังนี้

  • ทำความรู้จักกับแบบบ้านของตนเอง ลดปัญหาเรื่องการปรับแบบซึ่งอาจจะเกิดการเข้าใจไม่ตรงกัน ส่วนนี้ให้ตกลงกันตั้งแต่แรกเริ่ม รวมถึงระดับความสวยงามเรียบร้อยหรือที่เรียกว่า ความเนี๊ยบ ของงานก่อสร้าง ซึ่งข้อนี้ควรชี้จุดชัดๆ หรือพาไปดูตัวอย่างงานก่อสร้างบ้านที่มีความเรียบร้อยในระดับที่เจ้าของบ้านพอใจ
  • สเปกวัสดุก่อสร้างตรงลงกันให้ชัด ข้อนี้มาจากหลายสาเหตุทั้งเจ้าของบ้านอยากเลือกวัสดุเองเพราะเหตุผลด้านความสวยงามในแบบที่ชอบ หรือป้องกันปัญหาการหมกเม็ดราคา ลดสเปกวัสดุเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกกว่า หรือไม่อยากให้งบประมาณบานปลาย จึงควรตกลงกันให้ชัดเขนวัสดุอันไหนเจ้าของบ้านจัดหาเอง อันไหนผู้รับเหมาจัดหา หากเจ้าของบ้านจัดหาเองอย่าง กระเบื้องปูพื้น สุขภัณฑ์ โคมไฟ ควรจัดส่งตามระยะเวลาที่กำหนดด้วย เพื่อให้ส่วนของงานก่อสร้างติดตั้งได้เสร็จทันตามเวลา
  • ระวังเรื่องความต้องการที่จะเป็น “สถาปนึก” การปรับแบบไปมาแบบตามใจฉันเกินจากที่สถาปนิกออกแบบไว้ จนผิดไปจากข้อกฎหมาย นอกจากจะทำให้ผู้รับเหมาปวดหัวแล้ว ข้อนี้อาจจะถูกดำเนินคดีได้ทั้งผู้รับเหมาและเจ้าของบ้านด้วย
  • อย่าลืมว่าเรื่องเงินสำคัญ จ่ายให้ตรงงวดเพื่อให้ผู้รับเหมานำเงินส่วนนั้นไปหมุนเวียนต่อไป ท่องเอาไว้เงินมางานเดิน! เรียกว่าข้อนี้เป็นการใช้เงินซื้อความสบายใจก็ว่าได้ แต่อย่าลืมว่าอย่าเสี่ยงให้เบิกเงินล่วงหน้าโดยไม่สมเหตุสมผล อาจจะเจอผู้รับเหมาหนีงานเข้าอย่างจัง

 6 แบ่งชำระเงินเป็นงวดๆ

อันนี้สำคัญต่อให้เชื่อใจมากแค่ไหนก็อย่าจ่ายค่าจ้างก้อนเดียวหนักๆ เพราะอนาคตอะไรก็เกิดขึ้นได้ ควรแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ตามสเต็ปต์งานก่อสร้างซึ่งแบ่งเป็นงวดต่างๆ ดังนี้

งวดที่1 จ่าย 5-10 % ของมูลค่างานก่อสร้างเมื่อเซ็นสัญญากับผู้รับเหมา

งวดที่2 งานตอกเข็ม ขนย้ายเครื่องมือก่อสร้างเข้าพื้นที่ และสร้างบ้านพักคนงานแล้วเสร็จ

งวดที่3 งานตอหม้อ คานคอดิน พื้นชั้นล่าง(หล่อในที่) เสาชั้นล่างแล้วเสร็จ

งวดที่4 งานคาน เสา พื้นชั้น2(หล่อในที่) เสาชั้นล่างแล้วเสร็จ

งวดที่5 งานมุงหลังคา งานก่ออิฐทั้งหมดแล้วเสร็จ

งวดที่6 งานติดตั้งวงกบ งานระบบไฟ สุขาภิบาล ส่วนเดินท่อร้อยสายแล้วเสร็จ

งวดที่7 งานฉาบปูนภายใน ภายนอก งานฝ้าเพดานภายนอกอาคารแล้วเสร็จ

งวดที่8 งานฝ้าเพดานภายใน งานปูพื้น งานติดตั้งประตูหน้าต่าง งานทาสี รองพื้นแล้วเสร็จ

งวดที่9 งานระบบสุขาภิบาลภายนอก งานติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า งานติดตั้งสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ งานทางสีจริงแล้วเสร็จ

งวดที่10 ส่งงาน เคลียร์พื้นที่ ขนขยะเศษวัสดุก่อสร้าง ตรวจเช็คงานประปาและไฟฟ้าทั้งหมด

 

อีกหนึ่งทางหลีกเลี่ยงเรื่องปวดหัวจากผู้รับเหมาที่อาจจะตามมานั้นคือการเลือกสร้างบ้านกับบริษัทรับสร้างบ้านแบบครบวงจร ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะมีสถาปนิก วิศวกร และช่างก่อสร้างประจำอยู่แล้ว ทำให้มาตรฐานของงานเป็นตามกำหนดเวลาแต่ค่าใช้จ่ายโดยรวมก็ย่อมสูงขึ้นด้วย หากอยากซื้อความสบายใจและอยากมั่นใจว่าบ้านที่สร้างนั้นเสร็จทันท่วงทีแน่นอนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจทีเดียว


เรื่อง JOMM YB

ภาพประกอบ อติยาฮ์ ศุภกุล

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ คู่มือปลูกบ้าน โดยศักดา ประสานไทย


10 จุดจับไต๋ผู้รับเหมาไม่ดี

เคล็ดไม่ลับกับวิธีคำนวณราคาถมดิน

รู้ราคาค่าแรงช่างตามมาตรฐาน