ใครว่า ผู้หญิงเที่ยวคนเดียวจะเที่ยวแบบแอดเวนเจอร์ไม่ได้
ผู้หญิง เที่ยวคนเดียว เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือ เป็นเรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไปแล้วค่ะ เพียงแค่เราต้องเตรียมตัวและระวังตัวเพิ่มมากขึ้นหน่อย ก็เพราะว่าโลกใบนี้ มีสถานที่ที่น่าสนใจ รอการไปค้นพบและท่องเที่ยวอีกตั้งมากมาย โดยเฉพาะแนวแอดเวนเจอร์
อย่างเช่นการแคมปิ้ง หรือแบกเป้ตะลุยโลกกว้าง ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ของการท่องเที่ยวที่ท้าทายผู้หญิงไม่ใช่น้อย อย่าให้ความกลัวกีดกั้นประสบการณ์ใหม่ ๆ อย่างน้อยการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ก็ให้อะไรมากกว่าที่คิด มีอิสระ ได้เรียนรู้ตัวเองและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างดี ดังนั้น ก่อนออกเดินทาง ควรรู้อะไรบ้าง ? โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยที่หลายคนดูจะกังวล
มั่นใจในตัวเอง และเตรียมร่างกายให้พร้อม
แรก ๆ อาจมีตื่นเต้น อดที่จะกังวลไม่ได้ แต่เมื่อได้เดินทางเองบ่อยขึ้น ความมั่นใจก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ อย่างฉันชอบเดินทางไปเพื่อนซี้หญิงล้วน 2 – 4 คน ขึ้นอยู่กับมีวันว่างที่ตรงกัน หากทริปไหนพร้อมกันได้ทั้ง 4 สาว ครบทีม รับรองว่าจะเที่ยวรูปแบบไหนก็ไม่หวั่น มั่นใจว่าสนุกแน่นอน จะมีกังวลหรือตื่นเต้นบ้างก็เฉพาะทริปที่ภูมิประเทศโหด ๆ และสภาพอากาศช่วงที่ไปแปรปรวน แต่อีกใจก็แอบลุ้นรอที่จะได้เปิดประสบการณ์ชีวิตสัมผัสสิ่งใหม่ ๆ ที่สำคัญคือมั่นใจไว้ก่อน ปัญหาเป็นสิ่งท้าทายทุกอย่างมีทางแก้เสมอ
การฟิตร่างกาย ออกกำลังเตรียมร่างกานให้พร้อมเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะสถานที่ที่สวยงามและยังคงเป็นธรรมชาติมักจะเป็นสถานที่ซึ่งการเดินทางเข้าไปลำบาก มีปราการธรรมชาติขวางกั้น หากสาวๆอย่างเราอยากเข้าไปสัมผัสก็ต้องฟิตร่างกายกันหน่อยล่ะ รับรองทำได้!
ทำความรู้จัก หาข้อมูลจุดหมายที่จะไปท่องเที่ยว
แน่นอนที่สุดควรวางแผนการท่องเที่ยว ที่ไหนห้ามหลาด กิจกรรมไหนที่ต้องทำ อะไรประมาณนี้ เพื่อเป็นการจัดสรรบริหารเวลาเที่ยวได้อย่างสนุกและให้ลงตัวที่สุด การเดินทางเป็นอย่างไรใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ คำนึงถึงความปลอดภัยและจุดที่ควรระวังหรืออันตราย การหาข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราระวังตัวและปลอดภัยขึ้น อ้อ!อย่าลืมข้อมูลเบอร์ฉุกเฉินไว้ในโทรศัพท์ หากเกิดเหตุจำเป็นจะได้โทรขอความช่วยเหลือได้ สำหรับผู้หญิงต้องคิดเสมอว่าการเดินทางท่องเที่ยวแบบแอดเวนเจอร์เป็นสิ่งท้าทาย การเตรียมแผนเดินทางตอนกลางวันปลอดภัยมากกว่าตอนกลางคืน ตรวจสอบเส้นทางให้แน่ชัดเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
นำเสื้อผ้าและของใช้ไปเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม
ควรเอาของไปเท่าที่จำเป็น จะได้ไม่ต้องดูแลมากเกินไป การไปเที่ยวแต่ละทริปแต่ละที่ จุดหมายแตกต่างกันต้องแต่งตัวให้เหมาะสม ส่วนข้าวของเครื่องใช้เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญโดยเฉพาะหากต้องเที่ยวแนวแอดเวนเจอร์ จะเข้าป่าตั้งแคมป์ในแต่ละที่ เสื้อผ้าและสัมภาระที่นำไปควรพกพาสะดวก มีคุณภาพดี มาดูกันว่าต้องเตรียมอะไรกันบ้าง
หมายเหตุ เรื่องเสื้อผ้า การแต่งกายของผู้หญิงนี่ขอบอกก่อนเลยว่าเที่ยวแต่ละครั้งต้องมีธีมการแต่งตัว เพื่อถ่ายรูปแล้วดูสนุกสนานน่ารัก เพราะฉะนั้นว่าไม่ได้หากจะต้องมีพร็อบพกพาเข้าป่ามากกว่ากรณีคนปกติ 5555555
การแต่งกายและสัมภาระ (กรณีปกติไม่ได้นอนข้างอ้างแรม)
- รองเท้า ใช้รองเท้ากีฬาแบบหุ้มส้นธรรมดาก็ได้ แต่ถ้าจะใช้รองเท้าหุ้มข้อก็จะดี
- กางเกง ควรใส่กางเกงแบบขากว้าง หลวม และมีกระเป๋าข้างเพื่อใช้ใส่ขวดน้ำ
- เสื้อ แนะนำให้ใช้เสื้อแขนยาว เพื่อป้องกันแมลง และป้องกันกิ่งไม้ใบหญ้าที่จะมาสัมผัสกับผิวหนัง โดยส่วนตัว จะเสื้อยืดไว้ข้างใน คลุมด้วยเสื้อเชิ๊ตแขนยาวเพื่อป้องกันใบหญ้าขีดข่วน หากร้อนก็ถอดเสื้อเชิ๊ตแขนยาวออกได้ ตอนเดินลุยก็ค่อยใส่คลุมใหม่
- เป้ เป็นสิ่งจำเป็นเพราะต้องใส่สัมภาระเสื้อผ้า ของใช้ ควรเลือกขนาดกระทัดรัดที่บรรจุของใช้ส่วนตัวได้หมด เป้มีหลายแบบ หลายฟังก์ชัน ราคาขึ้นอยู่กับวัสดุคุณภาพ
- หมวก ก็เป็นสิ่งจำเป็น ช่วยกันแดด กันลมและกันฝน จะเลือกหมวกแบบมีปีกหน้าหรือมีปีกรอบด้านก็ได้
การแต่งกายและอุปกรณ์สัมภาระ (สำหรับ 4 คน ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ในกรณีไปเที่ยวกันเอง)
ของใช้ส่วนตัว
- ชุดเดินป่า – เสื้อกางเกงตัวโปรดใส่เดินทาง 1 ชุด (เพิ่มเสื้ออีก 1 ตัวสำหรับผู้หญิง) เอาไปมากก็ไม่ได้ใช้หนักเปล่าๆ
- ชุดกันฝน – เที่ยวป่าให้สวยต้องหน้าฝน ใครเห็นด้วยกับคำนี้ก็ต้องเตรียมชุดกันฝนไปด้วยเผื่อเจอฝนระหว่างการเดินทาง
- รองเท้าเดินป่า – ควรเป็นรองเท้าหุ้มข้อเพราะช่วยป้องกันปัญหาข้อเท้าพลิกได้
- รองเท้าแตะ – เลือกอย่างเบา ใช้สำหรับทำธุระต่างๆ ขณะตั้งแคมป์
- กระติกน้ำ หรือขวดน้ำดื่ม
- หมวกกันแดด
- เสื้อกันหนาว 1 ตัว
- ถุงนอน
- เป้หลัง ขนาดถูกใจ
- ชุดชั้นใน – ไม่จำกัดสำหรับท่านหญิง แล้วอย่าลืมสิ่งสำคัญส่วนตัวด้วยเพราะบนภูเขาไม่มีอะไรขาย
- ถุงเท้า – วันละ 1 คู่
- ถุงมือกันหนาวและไอ้โม่ง น่าจะเอาไปด้วยเป็นอย่างยิ่งถ้าเป็นฤดูหนาว
- ช้อน 1 อัน, แปรงสีฟัน 1 อัน , กระดาษทิชชู่ 1 ม้วน
- ถุงพลาสติก
- อุปกรณ์ถ่ายภาพ ตามสะดวก
- ไฟฉายขนาดเล็ก พร้อมถ่าน และหลอดไฟสำรอง
ของส่วนกลาง
- เต๊นท์ขนาด 4 คน 1 หลัง หรือขนาด 2 คน 2 หลัง
- ผ้าพลาสติกปูพื้น 1 ผืน สำหรับปูนั่งทำภารกิจต่างๆ นอกเต๊นท์
- มีดเล็กสำหรับทำอาหาร 1 อัน
- มีดเดินป่า 1 อัน
- เตาแก๊สแคมปิ้ง 1 อัน สะดวกสบายไม่ทำลายธรรมชาติ
- แก๊สกระป๋อง 2 กระป๋องซึ่งเพียงพอสำหรับการปรุงอาหารปกติและชงกาแฟ หรือ 3 กระป๋องในกรณีพิเศษเช่นต้มถั่วเขียว
- ตะเกียงแก๊ส 1 อัน แต่ไม่จำเป็น ถ้ามีแล้วก็เอาไปถ้าไม่มีก็ไม่ต้องซื้อให้เปลืองเงิน อย่าลืมเอาแก๊สไปเผื่อด้วย
- เทียนแท่งใหญ่ 2 อัน ขนาด 2 นิ้วสูง 3 นิ้ว ( ในกรณีไม่มีตะเกียงแก๊ส ) เอาไฟแชคไปด้วย 2 อันเผื่อหาย 1 อัน
- ข้าวหอมมะลิ ต้องเป็นข้าวหอมมะลิเพราะใช้น้ำน้อย
- อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง
- น้ำดื่ม กรณีไปพักแรมที่ขาดแคลนน้ำ
- ยาสามัญที่จำเป็น ยานวดแก้ปวดขา พลาสเตอร์ปิดแผล ยาแดง ยาแก้ปวดท้อง ฯลฯ
หลักการตั้งแคมป์พักแรม
1.ควรกางเต็นท์บนที่ราบเรียบปราศจากของแหลมคม เช่น ตอไม้ที่ตัดไว้ไม่หมดหรือก้อนหิน เพราะนอกจากจะนอนไม่สบายแล้ว อาจทำให้พื้นเต็นท์เสียหายเกิดการฉีกขาดได้ หากเป็นช่วงฤดูฝนการฉีกขาดทำให้น้ำรั่วซึมจากพื้นเข้าเต็นท์ได้
2. ไม่ควรกางเต็นท์บนดอยสูงที่โล่งเตียน เช่น บนยอดเชียงดาว ยอดดอยลังกาหลวง สันดอยม่อนจอง เพราะบนดอยสูงเป็นที่โล่งมีแนวปะทะของลม หากเกิดลมกรรโชกแรงหรือเกิดลมพายุ แรงลมจะพัดเต็นท์ให้กระเด็นตกดอยได้ ตามลำพังน้ำหนักเป้ที่ใส่ไว้ในเต็นท์กับสมอบกที่ยึดเต็นท์ไว้ไม่เพียงพอที่จะทำให้เต็นท์มั่นคงเมื่อโดนแรงลม ไม่ใช่มัวแต่ไปถ่ายรูปพอวิ่งกลับมาเต็นท์ลอยหายไปแล้ว
3. ถ้าต้องการกางเต็นท์ในป่าโปร่งอย่างเช่น ภูสอยดาว หรือ ทุ่งแสลงหลวง ไม่ควรกางเต็นท์ใต้ต้นไม้เพราะเมื่อเกิดพายุในยามค่ำคืนที่เรานอนหลับสบาย อาจมีกิ่งไม้หักหล่นทับเต็นท์เราได้ ควรจะเปลี่ยนตำแหน่งไปกางเต็นท์นอกแนวของต้นไม้ แต่ถ้ากางเต็นท์ใต้ต้นไม้ในป่าทึบ อันนี้กางได้ไม่มีปัญหาแต่ประการใด เพราะต้นไม้ในป่าทึบที่มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น ต้นไม้เหล่านั้นจะไม่ล้มลงมาง่ายดายเพราะมีป่าเป็นแนวป้องกันแรงปะทะของลมและยังมีเถาวัลย์โยงใยยึดเกี่ยวกันไปมาซึ่งนี่เป็นความมั่นคงที่ธรรมขาติได้สร้างขึ้น
4. อย่ากางเต็นท์ริมลำธารในช่วงฤดูฝนหรือใกล้ฤดูฝน ลำธารในป่าใหญ่อาจจะมีพื้นหาดทรายที่ราบเรียบเหมาะแก่การตั้งแคมป์พักแรมเป็นอย่างยิ่ง แต่ใครจะรู้ว่าคืนนี้จะมีน้ำป่ามาเยือนหรือเปล่า หากมีฝนตกหนักน้ำจะไหลแรงมาก แล้วถ้าหากมีน้ำป่าไหลลงมา แรงน้ำนั้นจะพัดพาทั้งคนและเต็นท์ไปกับสายน้ำ
5. อย่ากางเต็นท์ในจุดที่เป็นแอ่งกระทะในช่วงที่อาจมีฝนตก เพราะที่ราบที่เราเห็นถึงแม้จะไม่มีน้ำขังแต่ถ้าหากมีฝนตกในวันนั้นหรือค่ำคืนนั้น น้ำฝนจะไหลมารวมกันยังพื้นที่ที่ต่ำกว่า และอาจจะท่วมขังสูงเกินกว่าที่เต็นท์จะป้องกันไว้ได้ ทางที่ดีที่สุดควรเลือกจุดที่เป็นเนินดินที่สูงกว่าบริเวณจุดกางเต็นท์ บนภูกระดึงถึงแม้เราจะมองดูว่าราบเรียบ แต่จริงๆแล้วมีบางพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม เห็นแห้งๆ อย่างนั้นแต่เมื่อมีฝนตกมีจะน้ำไหลมารวมกันเหมือนกับเรากางเต็นท์อยู่ในแหล่งน้ำ ถึงแม้จะไม่ท่วมแต่มันก็เฉอะแฉะน่ารำคาญ หากเป็นพื้นที่ที่เป็นเนิน น้ำจะไหลผ่านไป พอฝนหยุดตกแดดออกไม่นานพื้นก็แห้ง แต่หากเป็นที่ลุ่มน้ำจะท่วมขังอยู่อย่างนั้นเป็นวันๆ
6. อย่ากางเต็นท์ในพื้นที่เนินที่เป็นแนวน้ำไหล อันนี้ต้องพิจารณาด้วยตาตนเอง ว่าแบบไหนเป็นแนวน้ำไหล ภูเขาย่อมไม่ราบเรียบ ทุกที่ทุกแห่งมีลักษณะเป็นเนิน เนินทุกเนินจะรับน้ำเมื่อมีฝนตก น้ำนั้นจะไหลมารวมกันไหลลงสู่ทางที่ลาดลง หากเราเห็นราบๆ ลาดชันนิดๆ พอนอนได้ หากมีฝนตกหนักอาจจะมีปริมาณน้ำจำนวนมากที่ไหลมารวมกันไหลผ่านเต็นท์ อาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้
7. ไม่กางเต็นท์ขวางทางเดินสัตว์ เราอาจเห็นพื้นที่ราบๆ เป็นร่องทางเดินที่ไม่มีใครเดินมาแล้วเพราะมันมืดแล้ว แต่จริงๆแล้วอาจจะเป็นเส้นทางที่สัตว์ใช้เดิน สัตว์จะเดินออกหากินในตอนกลางคืน เต็นท์ของท่านอาจจะถูกทำลายได้
อัพเดทในโซเชียลมีเดีย
ด้วยการโพสต์รูป แท็กพ่อแม่หรือเพื่อน เช็คอินว่าอยู่ที่ไหนทั้งทางเฟสบุ๊ค อินสตาแกรม หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่จะอวดนะ แต่เป็นการบอกข้อมูลทางอ้อมว่าปลอดภัย ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีความสุขดี ถ้าจะต้องเข้าป่าปีนเขาหรือตั้งแคมป์ ประมาณว่า ต้องตัดขาดจากโลกโซเชียลไปหลายวัน ก็ควรบอกคนอื่นไว้ล่วงหน้าว่าจะติดต่อไม่ได้ประมาณกี่วัน หากนานกว่านี้ แสดงว่าอาจมีปัญหาหรืออันตรายเกิดขึ้น จะได้มีคนตามหา
มีแผนสำรองเสมอ เชื่อสัญชาตญาณตัวเอง อย่าเอาชีวิตไปเสี่ยง
ควรมีแผนสำรองเป็นทางเลือกไว้เสมอ แผน A แผน B แผน C ก็ว่ากันไป เพราะหากเที่ยวไม่เป็นไปตามแผนแรก อย่างน้อยก็มีแผนสำรองไว้ให้เที่ยว สาวๆจะได้ไม่กร่อยยกแก๊งไงล่ะ สุดท้ายก็เที่ยวให้สนุกและเต็มที่ตามประสาสาวๆ สะสมประการณ์กลับมาให้เต็มที่ไปเล้ยยยยย !!
Story : ลีฬภัทร กสานติกุล
Photo : Meen Patiyut / IG: meenpatiyut , Milk photography