Stacking Green บ้านสีเขียวหลายชั้น

             เพราะบ้านหรือการออกแบบไม่ได้มีหลักการตายตัวว่าจะต้องเป็นไปในรูปแบบเดิมที่เคยเป็นมา มีเพียงความต้องการพื้นฐานของผู้ใช้งานที่ผู้ออกแบบจะต้องตอบโจทย์เหล่านั้นให้ได้ ส่วนสิ่งที่นอกเหนือจากนี้ก็เป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ล้วนๆที่จะสร้างงานซึ่งมีเอกลักษณ์และเหมาะสมกับพื้นที่รอบข้างได้ดีเพียงใด เช่นเดียวกับบ้านหลังนี้ที่มีชื่อว่า Stacking Green ตั้งอยู่ในนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม สถาปนิกจาก Vo Trong Nghia Co., Ltd. ได้สร้างรูปแบบและเปลือกของอาคารที่น่าสนใจและดึงดูดให้เราต้องมาเห็นด้วยตาตัวเองให้ได้
บ้านหลังนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากงาน World Architecture Festival 2012 ซึ่งประกาศรางวัลไปเมื่อปลายปีที่แล้วที่ประเทศสิงคโปร์ เป็นรางวัลซึ่งให้ผู้ออกแบบและงานสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นทั่วโลก ซึ่ง Stacking Green ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทบ้านพักอาศัย ผมไม่แปลกใจเลยที่สถาปัตยกรรมหลังนี้จะได้รับรางวัล เพราะการแก้ปัญหาที่ดูจะซับซ้อนด้วยวิธีที่เรียบง่าย กลับให้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
รูปแบบของบ้านคล้ายทาวน์เฮ้าส์มีทั้งหมดสี่ชั้น หน้ากว้าง 4 เมตร ลึก 20 เมตร พื้นที่ประมาณ 250 ตารางเมตร สถาปนิกออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน ซึ่งมีสามชิก 3 คน โดยคนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ จึงได้ออกแบบห้องนอนไว้ที่ชั้นล่างสุด เพื่อให้ไม่ต้องเดินขึ้นชั้นบน ชั้นสองเป็นห้องรับประทานอาหาร ครัว และส่วนนั่งเล่น ชั้นสามเป็นห้องนอนใหญ่และห้องน้ำที่ไม่มีผนังกั้นระหว่างทั้งสองห้อง ส่วนชั้นสี่เป็นห้องนอนแขก
เนื่องจากที่ดินของประเทศเวียดนามมีราคาสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองราคาก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก บ้านจึงมีรูปแบบที่รวบตัวกันและใช้พื้นที่น้อยที่สุดในลักษณะของบ้านทาวน์เฮ้าส์ สิ่งที่ตามมาคือความแออัดและมุมมองที่ดูไม่งามนัก สถาปนิกจึงคิดที่จะสร้างพื้นที่ส่วนตัวที่คนภายนอกไม่สามารถมองเข้ามาได้ และเจ้าของบ้านเองก็อยู่ในพื้นที่นี้อย่างมีความสุข อีกทั้งช่วยป้องกันมลพิษทางเสียงและฝุ่นควันจากถนนหน้าบ้านด้วยการให้ตัวบ้านทั้งด้านหน้าและหลังมีแผงบังตาเป็นกระบะคอนกรีตปลูกต้นไม้ซึ่งวางตัวในแนวนอนเป็นเส้นสายที่น่าสนใจ ยาวตลอดความกว้าง 4 เมตรของบ้าน และสูงตั้งแต่ชั้นสองขึ้นไปถึงชั้นสี่ เว้นช่องให้ต้นไม้สามารถโตได้ ส่วนภายในบ้านก็แทบไม่มีผนังกั้นห้องเลย จะมีเพียงส่วนห้องน้ำเท่านั้น เพื่อให้การระบายอากาศสะดวกตลอดทั้งบ้าน และยังทำให้ตัวบ้านดูโปร่งสบาย ไม่อึดอัด และส่วนนี้เองที่ทำให้บ้านหลังนี้ได้รับคำชมและรางวัลระดับโลกนี้
ช่องว่างระหว่างกระบะปลูกต้นไม้ดังกล่าวนั้นกำหนดด้วยประเภทของต้นไม้ที่นำมาปลูก ความสูงที่สูงที่สุดของต้นไม้นั้นๆจะนำมาแปลงเป็นระยะห่างนี้ ฉะนั้นเมื่อมีการปลูกต้นไม้จนครบ แผงกระบะต้นไม้นี้ก็จะกลายเป็นเปลือกอาคารธรรมชาติที่คอยกรองแสงแดด แต่ยังคงปล่อยให้ลมพัดผ่านได้อยู่ สถาปนิกตั้งใจเลือกต้นไม้ที่มีใบละเอียดเพื่อไม่ให้เกิดการบังลมนั่นเอง โดยกระบะปลูกต้นไม้เหล่านี้มีระบบรดน้ำอัตโนมัติที่เดินท่อไว้ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน
บ้านนี้ยังเจาะช่องโล่งทะลุระหว่างชั้นซึ่งกลายเป็นช่องอากาศที่ทะลุจากชั้นล่างออกสู่ด้านบนของอาคาร อากาศร้อนจึงลอยตัวสูงขึ้นและออกไปทางช่องระบายอากาศด้านบน ขณะเดียวกันก็มีอากาศที่เย็นกว่าพัดพาเข้ามาในบ้านแทนที่อากาศเหล่านั้น ทำให้ภายในบ้านไม่ร้อนแม้จะเป็นเวลาเที่ยงตรงก็ตาม แสงแดดยามเช้า เที่ยง และเย็นจะให้ความสว่างและร่มเงาจากใบไม้ที่ต่างกันออกไป
เมื่อกลับออกมามองจากหน้าบ้าน ผมจึงพบว่าบ้านหลังนี้แตกต่างจากเพื่อนบ้านทั้งรูปแบบของสถาปัตยกรรมและความคิดของผู้ออกแบบ ไม่เพียงแต่สร้างสิ่งใหม่ แต่ยังเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ผู้ที่ได้พบเห็นกลับมามองตัวเองว่าสิ่งที่เป็นอยู่นั้นดีแล้วจริงหรือ นี่จึงไม่ใช่การแหกกฎ แต่เป็นการกลับมาคิดถึงสิ่งที่มีอยู่รอบตัว และดึงกลับมาใช้ในรูปแบบใหม่ ตำแหน่งใหม่ เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆให้วงการการออกแบบ เพราะไม่ว่าเราจะคิดค้นเทคโนโลยีมากมายและล้ำหน้าแค่ไหน แต่สุดท้ายเราก็ยังคงหลงรักอะไรที่เรียบง่าย แต่กลับแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด…
ขอให้สนุกกับการออกแบบบ้านของตัวเองครับ

Design Details
A. กระบะเปลือกอาคาร กระบะของอาคารมีความกว้างประมาณ 40 เซนติเมตร ความสูงขอกระบะก็แล้วแต่ประเภทของต้นไม้ที่ปลูก เดินระบบรดน้ำอัตโนมัติไว้ภายในเพื่อความสะดวกสบาย
B. รั้วเว้นช่อง รั้วของบ้านไม่จำเป็นต้องทึบทั้งหมดเสมอไป เช่นบ้านนี้เว้นให้เกิดช่องว่างประมาณ 15 – 20 เซนติเมตร เพื่อให้รู้สึกโล่งและระบายอากาศได้
C. พาแสงเข้าบ้าน บ้านหลังนี้มีช่องแสงที่ทะลุจากชั้นบนของบ้านลงมาที่ชั้นสอง ทำให้บ้านไม่มืดและการใช้กระจกเงายังช่วยให้บ้านไม่คับแคบอีกด้วย
D. หลังคากระจกช่วยได้ ช่องว่างระหว่างกระบะปลูกต้นไม้และตัวอาคารทำเป็นหลังคากระจกใสที่ให้แสงแดดผ่านลงมาได้ แต่ไม่อนุญาตให้ฝนนั้นสาดเข้ามา

แปลน
1. ที่จอดรถ
2. ห้องนอน
3. ลานโล่ง
4. ห้องเก็บของ
5. ห้องน้ำ
6. ครัว
7. ส่วนรับประทานอาหาร
8. ห้องอาบน้ำ
9. สวนดาดฟ้า
10. ห้องรีดผ้า

เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์
ศุภกร ศรีสกุล