บ้านสไตล์มินิมัล A Big Pot for Living
จากทาวน์เฮ้าส์หลังเก่าซอมซ่อควรแก่การบ่ายหน้าหนี เมื่อถูกกะเทาะเปลือกความหม่นหมองที่นอนก้นอยู่ในกาลเวลาทิ้ง โดยสองคู่รักสถาปนิก คุณซัน-ศรัญญู เอื้อวิเศษวัฒนา และคุณทราย-นภัทร สำเภาทอง โครงสร้างเดิมที่แฝงด้วยความงามจึงกลับมาเฉิดฉายมีชีวิตชีวาอีกครั้ง
เจ้าของ : คุณศรัญญู เอื้อวิเศษวัฒนา และคุณนภัทร สำเภาทอง
ออกแบบ – ตกแต่ง : S+S Architects
“ใจความหลักในการสร้างบ้านหลังนี้ มาจากการจัดการพื้นที่ให้สามารถปลูกต้นไม้ได้เยอะที่สุด เพื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้แบบลงตัวครับ” คุณซัน เจ้าของบ้าน/สถาปนิกแห่ง S+S Architects เกริ่นถึงแนวคิด ก่อนฉีกยิ้มเอ่ยถึงพื้นที่สีเขียวในโลกส่วนตัว “เพราะผมกับแฟนรักต้นไม้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะต้นบอนไซ ดังนั้นเราจึงหาบ้านไว้อยู่อาศัยและทำเป็นสตูดิโอเพาะเลี้ยงบอนไซไปด้วยพร้อมๆ กันครับ”
“แต่… กว่าจะได้บ้าน ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย” เขาเท้าความพร้อมระลึกอดีตก่อนเล่าให้ฟังว่าเดิมทีตนเองอาศัยอยู่ย่านสุทธิสาร เมื่อเริ่มจับธุรกิจเลี้ยงบอนไซ จำต้องไป-มาแถวจตุจักรบ่อยๆ จึงหาบ้านใหม่ในการกำหนดโซนที่ใกล้ทั้งแหล่งค้าต้นไม้ รถไฟฟ้า และที่ทำงาน ก่อนตระเวนขับรถมาในซอยลาดพร้าว 41 จนพบกับบ้านทาวน์เฮ้าส์ที่ยืนตัวติดกัน 6 หลัง “เริ่มแรก ผมเล็งหลังที่ 3 ไว้ ซึ่งมีชื่ออยู่ในรายการของกรมบังคับคดี ช่วงเทียวมาดูบ่อยๆ ก็เห็นหลังมุมติดป้ายประกาศขายเช่นกัน สุดท้ายเมื่อผมไม่สามารถประมูลชนะ จึงตัดใจลองเสี่ยงโทรขอต่อรองราคากับหลังริมดู”
และนั่นจึงเป็นที่มาให้เขาค้นพบกับโครงสร้างที่มีเสน่ห์ของบ้านหลังนี้ แม้ด้านหน้าดูตื้น ไม่ดึงดูดใจ แต่เมื่อเข้ามาสัมผัสภายในที่ลึกราวกว่า 20 เมตร (พื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 300 ตร.ม.) จึงทำให้ทั้งคู่เกิดความกระเหี้ยนกระหือรืออยากเข้ามาพิชิตโครงสร้างเก่าอันเหือดแห้งให้ผลิความสดใสกลายเป็นของขวัญแด่ชีวิตคู่ทันที “ชอบมากๆ ครับ (ยิ้ม) คือถ้าไม่เข้ามาชมจะไม่รู้เลยว่าบ้านอายุ 27 ปีนี้ซ่อนโครงสร้างที่น่าสนใจ มีช่องแสงเสมือนคอร์ตยาร์ดอยู่ตรงกลาง อนุมานว่าผู้ออกแบบเดิมคงตั้งใจโยงแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในให้ดูโปร่งสว่างมากยิ่งขึ้น”
คุณซันกล่าวพร้อมร่ายถึงปัญหา และการจัดการในบ้านอย่างเป็นขั้นเป็นตอน “สิ่งแรกที่ทำเลยคือผมจัดการซีลบ้านส่วนที่แตกร้าว น้ำซึม หลังคารั่วให้เรียบร้อย ก่อนเบนเข็มสู่การตรวจเช็คงานระบบ ด้วยความที่มันเก่าเสื่อมสภาพ ผมจึงตัดสินใจทำการโละของเดิมทิ้งทั้งหมด โดยวางแผนใหม่ให้เข้ากับระบบไฟ ระบบท่อ สายอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันที่มีการพัฒนามากขึ้น ผมคิดว่าการรีโนเวทบ้าน เรื่องโครงสร้างและงานระบบที่ทำให้น้ำไหล ไฟสว่าง สามารถอยู่อาศัยได้ปกติสุขเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญก่อน ส่วนเรื่องการตกแต่งเรามีเวลาสามารถค่อยๆ คิด ค่อยๆ ปรับให้สวยในแบบสไตล์ที่ต้องการได้อยู่แล้วครับ”
ถ้าย้อนภาพกลับไปตอนที่ยังไม่ได้ปรับปรุง เรียกว่าหักมุมสุดๆ เพราะทั้งคู่เนรมิตพื้นที่แต่ละส่วนซะไม่เหลือเค้าเดิม อาทิ โรงจอดรถช่วงสั้นต้องจำทนจอดแนวเฉียง ทั้งคู่แก้โดยรื้อบันไดหน้าบ้านขั้นสุดท้ายทิ้งเพื่อเพิ่มเนื้อที่ให้สามารถจอดได้ปกติ ส่วนด้านล่างเดิมทีแบ่งเป็นห้องนั่งเล่น ช่องแสง และห้องครัว ซึ่งถูกกั้นเขตด้วยกำแพงทึบตัน เจ้าของบ้านได้ทำการทลายและเปิดพื้นที่ให้เชื่อมถึงกัน พร้อมกับขยายช่องแสงและปลูกต้นไม้ทำเป็นเสมือนมีคอร์ตยาร์ดอยู่ตรงกลาง (กรุด้วยกระจกใสรอบด้าน) เพื่อให้แสงและลมลอดผ่านกระจายความสว่างและระบายอากาศให้กับพื้นที่ได้อย่างแยบยล หรือบริเวณหัวบันไดชั้น 3 ที่เคยมีเนื้อที่กุดสั้น (ใกล้กันเป็นระเบียง) เขาได้ทำการขยายพื้นที่ใหม่ให้เกิดประโยชน์ โดยทำเป็นห้องพระที่ยกสเต็ปแบ่งสเปซเป็นสัดส่วนสวยงาม
รวมถึงห้องนอนหลักมีการดีไซน์ระแนงไม้ติดล้อ (Facade) ตรงระเบียงให้สามารถเลื่อนปิดบังแดดและพรางความเป็นส่วนตัวไปพร้อมๆ กัน แถมทั้งคู่ยังเผยไต๋ว่าระแนงไม้นี้ไว้เลื่อนเปิดเพื่อยืมความเขียวขจีของต้นไม้ใหญ่บ้านตรงข้ามมาสร้างความร่มรื่นในบ้านตัวเองได้อีกด้วย
เมื่อถามถึงเรื่องการแบ่งหน้าที่ในการออกแบบตกแต่งภายใน คุณทรายตาลุกวาว “ทรายเป็นคนวางฟังก์ชั่นและการตกแต่งเองค่ะ เรามีการปรึกษากันตลอด ซันเขาต้องการแค่พื้นที่เวิร์คช็อปสำหรับเลี้ยงบอนไซ และพื้นที่ทำงานด้านล่างเท่านั้น ที่เหลือยกให้ทรายจัดการทั้งหมด สำหรับบ้านหลังนี้ ทุกพื้นที่เราตั้งใจออกแบบให้สามารถปรับประยุกต์ใช้เป็นอะไรก็ได้ ไม่อยากจำกัดตายตัว ส่วนเรื่องการการตกแต่งเป็นแบบสไตล์มินิมัลที่อยู่ร่วมกับธรรรมชาติค่ะ เพราะพยายามจะแซมแทรกให้มีต้นไม้ทุกจุด” คุณทรายกล่าว ก่อนฝ่ายชายเสริม “บ้านหลังนี้เปรียบเสมือนกระถางใบโตของพวกเรานั่นล่ะครับ ฟังก์ชั่นต่างๆ ที่คิดขึ้นก็เพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่เจ้าของบ้านต้องการ ไม่ผิดแผกกับการตัดแต่งต้นบอนไซให้เกิดความสวยงามลงตัวเลย และผมคิดว่าบ้านเก่ามือสองเนี่ยก็ไม่ต่างจากการดูแลคนเฒ่าคนแก่เช่นกันครับ เพราะต้องมีการเตรียมการให้ดีไว้ก่อนล่วงหน้า ดังนั้นการออกแบบบ้านประเภทนี้เราจึงต้องคิดเผื่อ ดีไซน์ให้ความสำคัญถึงการซ่อมบำรุงรักษาในอนาคตด้วย”
หลังจากการเดินชมบ้านเสร็จ ทำให้รู้ว่ายังมีรายละเอียดเล็กๆ อีกหลายจุดในบ้านหลังนี้ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งประตูขนาดโอเวอร์ไซส์เพื่อรองรับการขนของขนาดใหญ่เข้ามาในบ้านได้สะดวก การทำบิลท์อินเล็กๆ ใช้เก็บของและซ่อนแผงควบคุมไฟในคราเดียว หรือการทำบันไดตรงระเบียงห้องนอนไว้ปีนขึ้นไปซ่อมหรือตรวจเช็คหลังคาก่อนเข้าช่วงหน้าฝน และที่เด็ดคือลิฟท์ไฟฟ้าที่คุณซัน DIY ขึ้นเอง เพื่อใช้สำหรับขนย้ายต้นไม้ขึ้น-ลง
“บริเวณคอร์ตยาร์ดที่เปิดช่องแสงไว้ แล้วเวลาฝนตกคุณทั้งคู่ทำอย่างไรให้มันไม่เลอะเทอะเหรอครับ?” เรากระแซะถามด้วยความสงสัย “ปล่อยให้มันเป็นไปตามความงามของธรรมชาติเลยครับ” ทั้งคู่ยิ้มพร้อมหัวเราะร่วน
นี่คือคำตอบที่ปลดแอกจากทฤษฎีทั้งปวง ทำให้เรารู้สึกว่าการได้ยินเสียงฝนโปรยกระทบพื้นดังเปาะแปะ เห็นไออากาศจับกลุ่มเกาะกระจกให้ขุ่นมัว หรือน้ำที่กระเซ็นซัดหน้าดินในกระถางให้แปดเปื้อนบริเวณโดยรอบ ทั้งหมดล้วนเกิดเป็นมุมมองที่สวยงามได้ ขึ้นอยู่กับตัวเราจะเลือกมองนั่นเอง
เรื่อง : Doowoper
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ