“สิ่งสำคัญสำหรับงาน รีโนเวตบ้านเก่า คือเรื่องโครงสร้างเก่าที่ต้องตรวจเช็คและดูให้ละเอียดก่อน เช่น ความแข็งแรงของคาน ฐานรากของโครงสร้าง ระบบไฟที่ซ่อนใต้ฝ้า ระบบน้ำ รวมไปถึงพื้น” บ้านโปร่งสบาย
เจ้าของ-ออกแบบ : คุณวิษณุ ภู่ประสิทธิ์
ความรู้สึกแรกที่ได้เห็นบ้านหลังนี้ต้องบอกเลยว่าดูไม่น่าจะใช่บ้านที่ผ่านการ รีโนเวตบ้านเก่า ปรับเปลี่ยนมา แต่น่าจะเรียกได้ว่าเหมือนบ้านสร้างขึ้นใหม่มากกว่า โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับหน้าตาบ้านเดิมซึ่งสร้างตามรูปแบบของบ้านจัดสรรในโครงการเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ไม่ว่าจะทั้งรูปทรง วัสดุ และสไตล์ ซึ่งคุณเอ็ด-วิษณุ เจ้าของบ้านบอกกับเราว่าเป็นเพราะเขารื้อผนังบ้านทึบๆ ออกเกือบทั้งหมดจนเหลือไว้แค่เสาโครงสร้างหลักของบ้านเท่านั้นแล้วจึงตกแต่งเข้าไปใหม่ทุกอย่าง ให้กลายบ้านใหม่หลังนี้ขึ้นมา บ้านโปร่งสบาย
“เราอยู่บ้านหลังนี้กันมาสิบกว่าปีแล้วครับ ที่ต้องรีโนเวตใหม่ก็เพราะปัญหาดินรอบบ้านและโรงจอดรถทรุด ตอนแรกว่าจะรื้อแค่โรงจอดรถออกเพื่อซ่อมแซม แต่พอรื้อแล้วก็ต้องลงเสาเข็มใหม่ ทีนี้ถ้าต้องลงเสาเข็มเพื่อทำแค่โรงจอดรถก็ดูจะไม่คุ้ม ผมเลยมีไอเดียเพิ่มพื้นที่ใช้งานชั้นบนขึ้นมา ก็ปรึกษากับวิศวกรให้ช่วยออกแบบเรื่องโครงสร้างและหาเทคนิคการเชื่อมต่อส่วนขยายนี้ให้เป็นไปตามแบบที่ผมวาดขึ้นมาเอง”
ขณะที่กำลังรีโนเวตพื้นที่หน้าบ้าน คุณเอ็ดยังได้ให้วิศวกรช่วยดูปัญหาผนังร้าวบริเวณชั้นสองของบ้านด้วย เมื่อเปิดฝ้าเพดานออกดูก็พบกับปัญหาคานตกท้องช้างเพิ่มอีก จึงตัดสินใจรื้อผนังออกทั้งหมดแล้วเปลี่ยนเป็นผนังเบาเพื่อลดน้ำหนักของผนังลง ทีนี้งานรีโนเวตก็เริ่มขยายมาถึงพื้นที่ชั้นล่างจนในที่สุดกลายเป็นว่าต้องรีโนเวตใหม่หมดทั้งหลัง
“พอทำแล้วก็เลยอยากทำใหม่ทั้งหมดให้มันดีเพื่อให้อยู่ได้นานๆ หลังจากเปลี่ยนผนังชั้นสองแล้วผมก็เลยเปลี่ยนผนังชั้นล่างด้วย คือทุบออกทั้งหมดแล้วกรุเป็นผนังกระจกใสแทน เลยได้ห้องนั่งเล่นที่โปร่งกว้างและอยู่สบายมากขึ้น ผนังที่เคยวางโซฟาก็เปิดออกไปเห็นสวนสีเขียวด้านข้างได้ ส่วนผนังอีกด้านก็เปิดให้มองเห็นโรงจอดรถ มันเป็นความสุขแบบผู้ชายๆ น่ะครับที่ได้นั่งมองรถสวยๆ ไปด้วย แล้วก็ย้ายมุมนั่งเล่นไปไว้ด้านในบ้านที่ติดกับสวนซึ่งทำผนังกระจกให้เป็นบานพลิกเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่สวนไปเลย กลายเป็นมุมที่ภรรยากับลูกสาวผมชอบและใช้งานเกือบตลอดทั้งวัน”
ส่วนงานตกแต่ง คุณเอ็ดบอกว่าเขาเลือกทาสีผนังห้องนั่งเล่นด้วยสีโทนเทาอมฟ้าเพราะไม่อยากปล่อยให้ผนังสีขาวสะท้อนแสงสว่างมากเกินไป จากนั้นก็เลือกซื้อเก้าอี้และโซฟาใหม่ แต่ออกแบบโต๊ะรับประทานอาหารเองโดยซื้อไม้สักแผ่นใหญ่มาทำส่วนท็อปและใช้เศษเหล็กที่เหลือจากงานก่อสร้างมาเชื่อมต่อเป็นลวดลายของขา “ผมชอบโต๊ะยาวๆ เพราะใช้งานได้หลากหลายดี อย่างมุมนี้ผมใช้ทั้งนั่งกินข้าว ทำงานจากโน้ตบุ้ค บางทีก็รับแขก และก็ปาร์ตี้กับเพื่อนๆ ผมว่าการปรับฟังก์ชันบ้านใหม่มันช่วยตอบรับการใช้ชีวิตได้ดีขึ้นมากเลย”
แม้แต่บันไดทางขึ้นบ้านก็มีการปรับเปลี่ยนใหม่จากที่เป็นขั้นบันไดโปร่งก็ปิดผนังทึบและขยายความกว้างของบันไดให้เดินสบายขึ้นอีก จึงได้ผนังที่พอดีกับแนวคานเหมาะสำหรับกั้นเป็นห้องเก็บของ ส่วนชั้นบนมีห้องนอนในอนาคตของลูกสาวที่ยังไม่ตกแต่งอะไรกับห้องนอนใหญ่ที่เปลี่ยนฟังก์ชันใหม่หมด ทั้งการดันฝ้าเพดานให้สูงขึ้นอีก 30 เซนติเมตร ย้ายมุมเตียงนอนและตู้เสื้อผ้าแบบ Walk-in เพื่อให้แต่ละมุมมีพื้นที่ใช้สอยกว้างขึ้น เช่นเดียวกับห้องน้ำที่คุณเอ็ดรวมห้องน้ำเดิมที่มีอยู่สองห้องติดกันให้กลายเป็นห้องเดียว ทำให้ได้พื้นที่อาบน้ำกว้างขึ้นและออกแบบอ่างล้างหน้าขึ้นมาเองให้มีสองอ่างเพื่อเขากับภรรยาสามารถใช้งานพร้อมกันได้
การขยายพื้นที่ห้องนอนยังทำให้เกิดโถงนั่งเล่นเล็กๆ ที่หันหน้าออกสู่หน้าบ้านเพิ่มขึ้นมาด้วย พร้อมกับทำประตูทางออกอีกด้านเพื่อเปิดไปสู่ระเบียงที่เชื่อมกับห้องดูหนังฟังเพลงซึ่งอยู่ชั้นบนของโรงจอดรถ และเพื่อให้สะดวกเมื่อต้องการแยกใช้งานและไม่รบกวนการเข้าออกภายในบ้าน คุณเอ็ดจึงทำบันไดเหล็กนอกบ้านเพิ่ม “ตรงนี้โจทย์ยากนิดหน่อย เพราะผมต้องการบันไดที่ไม่มีเสาบังตัวบ้านและวิวสวน ก็เลยให้วิศวกรช่วยหาวิธีเสียบเหล็กเข้ากับผนังอิฐที่ก่อปูนฉาบเสริมเหล็กไว้ ทำให้บันไดเหล็กบางๆ นี้มีความแข็งแรง ไม่สั่นเวลาเดินขึ้นลง ซึ่งก็ทำออกมาได้ดีจนกลายเป็นดีไซน์สวยๆ หน้าบ้านได้เลย”
ความสบายในบ้านที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ทั้งเพราะฟังก์ชันใหม่ที่ตรงกับการใช้งานมากขึ้นและผนังโปร่งที่เน้นการมองออกไปชมสวนได้เต็มตา ทำให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุขในการอยู่บ้านมากกว่าเคยจนแทบไม่อยากออกไปไหน แม้คุณเอ็ดจะออกตัวว่าไม่ได้เป็นสถาปนิก แต่ด้วยความชอบและสนุกกับการได้ทดลองทำให้ได้บ้านออกมาสวยตรงใจ จนมีเพื่อนๆ ติดต่อให้ไปช่วยรีโนเวตบ้านอีกหลายหลัง ซึ่งคุณเอ็ดถือโอกาสแนะนำคนที่อยากรีโนเวตบ้านทิ้งท้ายไว้ด้วยเลยว่า
“สิ่งสำคัญสำหรับงานรีโนเวตคือเรื่องโครงสร้างเก่าที่ต้องตรวจเช็คและดูให้ละเอียดก่อน เช่น ความแข็งแรงของคาน ฐานรากของโครงสร้าง ระบบไฟที่ซ่อนใต้ฝ้า ระบบน้ำ รวมไปถึงพื้น อย่างของผมที่เจอปัญหาเกือบทุกจุด ตั้งแต่ดินทรุดจนต้องทำเชื่อนด้วยแผงซีเมนต์ฝังลงดินเกือบ 1.50 เมตร ไฟใต้คานถูกปล่อยเปลือยไว้ พื้นไม่ได้เทปูนกาวแต่เอากระเบื้องมาอัดก็ต้องปูใหม่ ถ้าเราซ่อมแซมโครงสร้างหลักให้ดีแล้ว เรื่องดีไซน์หรือฟังก์ชันก็สามารถปรับไปตามความชอบได้ไม่ยากครับ”
เรื่อง ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข
ชมบ้านรูปแบบอื่นๆเพิ่มเติม
เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x