บ้านลอฟต์สุดเท่ในสวนญี่ปุ่น

หลายคนน่าจะเคยฝันถึงบ้านหลังใหญ่บนที่ดินกว้างๆ เพื่อสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบาย โดยอาจไม่รู้ความจริงที่ว่าที่ดินกว้างกับบ้านหลังใหญ่ก็กลายเป็นปัญหาแบบคิดไม่ถึงได้เหมือนกัน

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Lynk Architect

เพราะฟังก์ชันที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นบนพื้นที่ขนาดกว้างมากเกินไป นอกจากจะใช้งานไม่ทั่วถึงแล้วการดูแลรักษายังอาจไม่ทั่วถึงได้เช่นกัน บ้านลอฟต์สุดเท่

บ้านลอฟต์สุดเท่

แต่ถึงกระนั้น บ้านหลังนี้ก็สร้างขึ้นบนพื้นที่ขนาดกว้างซึ่งเติมเต็มด้วยสวนญี่ปุ่นได้อย่างพอดิบพอดี ด้วยขนาดพื้นที่ใช้สอยรวมภายนอกและภายใน 1,040 ตารางเมตร นั่นเพราะคุณลิ้งค์-เอกลักษณ์ สถาพรธนพัฒน์ สถาปนิกจาก Lynk Architect มีแนวคิดว่า “เพราะที่ดินมีขนาดใหญ่มาก บ้านที่สร้างจึงต้องมีขนาดใหญ่ด้วย พร้อมกับพื้นที่สวนกว้างๆ เพื่อให้ทั้งหมดดูเหมาะสมกลมกลืนไปด้วยกัน วิธีออกแบบบ้านหลังใหญ่ไม่ให้ดูแห้งแล้งก็คือการเล่นระดับในบ้านและพื้นที่ใช้งานภายในสวน ทำให้มุมมองจากบ้านออกไปถึงสวนดูสดชื่นสบายตา และมุมมองจากสวนเข้ามาสู่ตัวบ้านเองก็ต้องดูผ่อนคลายด้วย การแทรกสเต็ปขึ้นๆ ลงๆ จึงช่วยลดทอนฟอร์มแข็งๆ ของบ้านหลังใหญ่ให้ดูพอดีได้”

บ้านลอฟต์ในสวนสไตล์ญี่ปุ่น

คุณบิ๊ก-สารเชษฐ์ และคุณบี-แพรวนภา โอษธีศ ผู้เป็นเจ้าของบ้านเล่าให้เราฟังว่าเดิมทีพวกเขาเคยอยู่บ้านสไตล์คอนโดมาก่อน จนกระทั่งมีลูกคนแรก จึงตัดสินใจหาที่ดินเปล่าเพื่อสร้างบ้านหลังใหม่ เพราะต้องการพื้นที่ใช้สอยที่เพิ่มขึ้นและอยากให้ตรงกับความต้องการมากที่สุด

บ้านลอฟต์ สวนญี่ปุ่น

บ้านลอฟต์ บ้านทรงกล่องสามชั้นในบ้านลอฟต์ในสวนสไตล์ญี่ปุ่น

“ผมคิดไว้แค่ว่าอยากได้บ้านโปร่งๆ ที่เล่นระดับ และมีขนาด 3 ชั้น เพราะเราเน้นถึงการใช้สอย ผมเองก็ทำบ้านจัดสรรมาอยู่แล้ว รู้ว่าเมื่อลงทุนโครงสร้างไปก็ควรทำให้เต็มที่และคุ้มค่าไปเลย คือทำห้องสำหรับลูกๆ อยู่กันได้จนโต และห้องสำหรับปู่ย่ามาเยี่ยมด้วย ซึ่งแล้วแต่ว่าอนาคตจะปรับใช้ยังไงต่อก็ได้ สิ่งที่ต้องการต่อมาก็คือสวนญี่ปุ่น เพราะผมชอบแนวคิดบางอย่างของญี่ปุ่น รู้สึกว่าสวนญี่ปุ่นมีความสงบแฝงอยู่ ซึ่งถ้ามันอยู่กับบ้านก็น่าจะทำให้บ้านดูสงบด้วย แล้วก็อยากมีบ่อปลามาช่วยเพิ่มความสดชื่นในสวนอีกที” คุณบิ๊กเล่าถึงความต้องการง่ายๆ ของเขา

บ้านลอฟต์ บ้านทรงกล่อง สามชั้นบ้านลอฟต์ในสวนสไตล์ญี่ปุ่น มีบ่อปลา

ด้วยโจทย์กว้างๆ และการให้อิสระกับสถาปนิกอย่างเต็มที่ทำให้เกิดบ้านที่มีรูปทรงโดดเด่นสวยงาม ก่อร่างขึ้นมาจากการวางฟังก์ชันภายในซึ่งเน้นถึงการเชื่อมต่อส่วนกลางบริเวณโถงชั้นล่างและการแยกห้องนอนส่วนตัวบริเวณชั้นบน มีการหันผนังช่องเปิดเพื่อรับแสงและลมธรรมชาติ และยังเพิ่มดีไซน์ภายนอกบ้านให้ดูคล้ายกล่องซ้อนกันอยู่ โดยข้างล่างเป็นโทนสีอ่อน ข้างบนใช้โทนสีเข้มผสมเส้นสายของเทคเจอร์ที่ผิวผนังคอนกรีตสำเร็จรูปจนเกิดเป็นแพทเทิร์นแบบสามมิติ

บ้านลอฟต์ บ้านทรงกล่อง

บ้านลอฟต์ บ้านทรงกล่อง

“จริงๆ บีไม่ได้ชอบบ้านสีเข้มนัก แต่ตอนอยู่คอนโดบีเคยแต่งห้องแนวผู้หญิงๆ ที่มีของเยอะมากมาแล้ว พอมาบ้านหลังนี้บียกให้เป็นแนวพี่บิ๊กเต็มที่เลยค่ะ พอดีสมาชิกในบ้านก็เป็นผู้ชายทั้งหมดมีเราเป็นผู้หญิงคนเดียว บ้านเลยออกมาในแนวแมนๆ ลอฟต์ๆ ส่วนของบีก็ไปเน้นเลือกเฟอร์นิเจอร์เข้ามาตกแต่ง ส่วนใหญ่ผสมไปทาง Exotic หน่อย ทั้งสีและวัสดุอย่างทองแดง พรมลายหนังวัว บีว่ามันช่วยเพิ่ม Accent ให้บ้านเปรี้ยวขึ้นและลดความแข็งของบ้านได้” คุณบีเล่าถึงแนวทางการผสมผสานระหว่างเส้นสายเท่ๆ แบบผู้ชายและการเติมรายละเอียดที่นุ่มนวลแบบผู้หญิง

ชั้นวางหนังสือ

ห้องครัวและห้องอาหาร

ห้องครัว

ฟังก์ชันหลักที่ครอบครัวโอษธีศใช้งานประจำมักจะอยู่บริเวณโถงกลางบ้านที่ยกเพดานสูงแบบ Double Volume มีห้องนั่งเล่นเปิดโล่งออกสู่สวนญีปุ่นและบ่อปลาคาร์ฟซึ่งกลายเป็นส่วนสำคัญที่สร้างบรรยากาศความผ่อนคลายให้กับพื้นที่ในบ้านได้ดี ใกล้ๆ กันเป็นประตูกระจกบานเลื่อนกั้นส่วนห้องรับประทานอาหารและครัวแพนทรีไว้ โดยมีบันไดไม้โครงเหล็กโปร่งๆ นำทางขึ้นไปสู่ชั้นสองซึ่งเป็นอีกมุมที่ครอบครัวนี้ใช้งานบ่อย เพราะมีทั้งห้องกิจกรรมกึ่งห้องนั่งเล่นแบบส่วนตัวพร้อมกับโต๊ะทำงานในบริเวณเดียวกัน เมื่อครบทุกฟังก์ชันที่ต้องใช้แล้ว บนชั้นสามของบ้านที่เป็นส่วนของห้องนอนจึงปล่อยให้เรียบง่ายเพื่อเน้นการพักผ่อนอย่างแท้จริงโดยไม่มีอะไรมารบกวน

ห้องนั่งเล่นเพดานสูง

ห้องนั่งเล่น ชั้นวางของติดผนัง

นอกจากความสบายภายในแล้ว บรรยากาศพิเศษของบ้านนี้ยังอยู่ที่การเชื่อมต่อพื้นที่ออกไปสู่สวนญี่ปุ่นและศาลาจิบชากลางสวน ซึ่งแม้จะแยกอาคารออกจากตัวบ้าน แต่สถาปนิกก็ได้ออกแบบทางเดินเล่นระดับเชื่อมไว้และยังสามารถใช้งานแยกส่วนจากภายในได้ด้วย

ห้องนอน

คุณบี เล่าถึงความตั้งใจจริงที่ทำศาลานี้ให้ฟังว่า “เราอยากทำให้พ่อกับแม่ได้มาใช้งานค่ะ อยากให้ท่านมาอยู่กับลูกกับหลานบ่อยๆ และก็ยังไว้เผื่อสำหรับรับแขกของแต่ละคนได้โดยไม่รบกวนกัน นั่นทำให้เรามีมุมนั่งเล่นค่อนข้างเยอะหน่อย เพราะเมื่อก่อนเราอยู่กันสี่คนพี่น้อง แขกใครมาก็ไม่ค่อยจะมีที่ให้ใช้สอย พอมาบ้านนี้เราเลยจัดให้มีพื้นที่เยอะๆ เผื่อไว้เลย ซึ่งบางทีบีก็ใช้เป็นห้องประชุมงานบ้าง เล่นโยคะบ้างเหมือนกัน”

ห้องน้ำ

เดินชมบ้านมาจนถึงเวลาบ่ายแก่ๆ คุณบิ๊กกับคุณบีก็เริ่มชวนเด็กๆ ออกมาเดินเล่นรับลมริมบ่อปลาคาร์ฟ แล้วก็เดินลงไปตามแผ่นหินนำทางไปสู่สวนญี่ปุ่น พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสนามวิ่งเล่นให้เด็กๆ ได้อย่างดี พอๆ กับที่สร้างความสดชื่นในมุมมองของความสงบนิ่งแบบที่ทั้งคู่ต้องการ สมดุลที่พอดิบพอดีแบบนี้เองที่ทำให้พื้นที่ขนาดกว้างนี้อบอุ่นและไม่อ้างว้างจนเกินไป

เจ้าของ: คุณสารเชษฐ์และคุณแพรวภา โอษธีศ
สถาปนิก:  Lynk Architect
ภูมิสถาปนิก: คุณสุภัสเศรษฐ์ วิละรัตน์
เรื่อง: ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ: ธนกิตติ์ คำอ่อน
สไตล์: นภิษฐา พงษ์ประสิทธิ์


เรื่องที่น่าสนใจ