ไม่ว่าเทรนด์หรือแฟชั่นในการจัดสวนจะเปลี่ยนไปอย่างไร ไม้ใบก็ยังคงเป็นที่นิยมอยู่ไม่เสื่อมคลาย ด้วยความที่องค์ประกอบหลักของต้นไม้ซึ่งมีลักษณะที่ชัดเจนไม่ต้องดูแลหรือบำรุงมากอย่างพรรณไม้ดอกหรือไม้ทานผล ซึ่งธรรมชาติเองก็ได้ออกแบบใบไม้ของต้นไม้แต่ละต้นให้มีรูปทรงและสีสันสวยงามหลากหลายต่างกันจนสามารถนำมาใช้ในการตกแต่งทั้งภายในบ้านและสวนได้ดังนี้ ไม้ใบยอดฮิต
ไม้ใบใหญ่
พรรณไม้ซึ่งมีใบขนาดยาวกว่า 15 เซนติเมตรหรือกว้างกว่า 5 เซนติเมตรขึ้นไปจะให้ผิวสัมผัสที่หยาบชัดเจน เหมาะสำหรับใช้เป็นจุดเด่นในสวนและเกิดมุมมองที่สะดุดตา โดยสามรถยอมรับให้มีปริมาณใบน้อยได้เนื่องจากขนาดที่ใหญ่ของใบเพียงไม่กี่ใบก็ช่วยสร้างลักษณะเด่นให้ชัดเจนขึ้นได้ ส่วนใหญ่เรานิยมปลูกไม้ใหญ่บริเวณด้านหน้าของมุมสวน จุดนำสายตาหรือปลูกเป็นไม้กระถางทั้งตั้งพื้นหรือแขวนก็ได้ รวมไปถึงนำไปจัดวางตามส่วนต่างๆภายในบ้านซึ่งมีแสงแดดส่องถึงอีกด้วย
ต้นไม้ที่เข้าข่ายต้นไม้ใบใหญ่มีตั้งแต่ต้นไม้ยืนต้นไปจนถึงไม้คลุมดิน โดยพรรณไม้ยืนต้นที่นิยมใช้กันได้แก่ยางอินเดีย ไทรใบสัก องุ่นทะเล สาเก กระถิง ลั่นทม เป็นต้น รวมไปถึงต้นไม้ตระกูลปาล์มอย่าง หมากเขียว หมากเหลือง ปาล์มคิง ปาล์มพัด กล้วยพัด เป็นต้น ส่วนต้นไม้พุ่มและไม้คลุมดินได้แก่ พลับพลึง พุดซ้อน เปปเปอร์โรเมีย พรมกำมะหยี่ กาบหอยแครง เป็นต้น บางชนิดสามารถปลูกติดกันหรือตัดแต่งให้ทรงพุ่มหนาเพื่อปลูกเป็นรั้วพรางสายตาได้เช่น อโศกอินเดียและตะโก ต้นไม้ที่ใช้ตกแต่งภายในบ้านควรใช้ไม้ใบยืนต้นที่เติบโตได้ดีในพื้นที่ซึ่งได้รับแสงแดดไม่เต็มวันและมีรูปทรงใบที่มีขนาดใหญ่เอกลักษณ์ชัดเจนอย่างต้นไทรใบสัก ต้นไม้ที่มีใบขนาดใหญ่เมื่อใช้ตกแต่งในสวนบริเวณริมทางเดินหรือส่วนด้านหน้าจะช่วยให้ผู้ที่เดินชมสัมผัสกับธรรมชาติและรับรู้ถึงความหลากหลายของพรรณไม้ได้ง่าย ต้นไม้ตระกูลมะเดื่อที่มีรูปทรงใบขนาดใหญ่ชัดเจนเมื่อตัดแต่งให้มีรูปทรงพุ่มแน่นก็สามารถใช้เป็นฉากหลังได้ดีแต่ไม่ควรใช้ร่วมกับพรรณไม้หลายชนิดมากนักเพราะจะทำให้สวนดูมีเส้นสายที่รกตาเกินไป
ไม้ใบละเอียด
ใบไม้ขนาดเล็กจะให้ความรู้สึกที่ละเอียดเป็นกลุ่มเป็นก้อนกัน ขณะเดียวกันใบขนาดเล็กหรือใบที่มีลักษณะเป็นเส้นเล็กยังให้ความรู้สึกอ่อนช้อย สบายตาและดูพริ้วไปตามลมด้วยเช่นกัน ควรบำรุงให้ต้นไม้ชนิดดังกล่าวได้รับแสงแดดและสารอาหารเพียงพอตามที่ต้นไม้ชนิดนั้นต้องการ รวมไปถึงหมั่นตัดแต่งให้ต้นไม้แตกกิ่งและใบใหม่เสมอเพื่อให้ได้จำนวนใบที่มากขึ้น การนำไปใช้นิยมปลูกเป็นกลุ่มก้อนรวมกับพรรณไม้ใบละเอียดหลายต้นสำหรับเป็น ฉากหลัง แนวรั้ว ขอบแปลง บดบังมุมที่ไม่ต้องการให้เห็น หรือไม้ตัดแต่งซึ่งให้รูปทรงตามต้องการ
พรรณไม้ยืนต้นซึ่งให้ใบละเอีดส่วนใหญ่ใช้ปลูกเป็นฉากหลังและให้ร่มเงา เช่น สนประดิพัทธ์ จามจุรี ไทรอิเรกูล่า หูกระจง ข่อย เป็นต้น บางชนิดนิยมนำมาตัดแต่งทำเป็นขอบแปลงและรูปทรงต่างๆในสวนประดิษฐ์ เช่น ชาฮกเกี้ยน ชาปัตตาเวีย ชาข่อย ไทรทอง เทียนทอง สนเลื้อย เป็นต้น บางชนิดให้รูปทรงที่พริวไหวเหมาะกับปลูกบริเวณริมน้ำหรือที่ซึ่งมีสายลมพัดผ่านอย่าง หลิวลู่ลม หลิวใบ ตันหยง เป็นต้น พื้นที่ริมน้ำอย่างน้ำตกเหมาะที่จะปลูกพรรณไม้ที่มีลักษณะใบขนาดเล็กหรือกิ่งเรียวยาวอย่างหลิวลู่ลมและหลิวใบแต่ควรคำนึงเรื่องเศษใบไม้ที่จะตกลงไปในน้ำ ในสวนสไตล์ยุโรปนิยมใช้พรรณไม้ที่มีใบละเอียดเนื่องจากมีลักษณะใบที่คล้ายกับพรรณไม้ในประเทศแถบยุโรปหลายชนิดและให้ความรู้สึกอบอุ่นสบายตามากกว่าพรรณไม้ที่มีใบขนาดใหญ่ ไม้ใบละเอียดหลายชนิดนิยมนำมาทำต้นไม้ตัดแต่งได้ดีเนื่องจากสามารถแตกใบใหม่ที่ดูสมบูรณ์ได้เร็วและให้รูปทรงที่ดูแน่นชัดเจน
ไม้ใบด่าง
ต้นไม้ใบด่างอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น ขาดแสงสว่าง ขาดสารอาหาร หรือผิดปกติทางพันธุกรรม และบางชนิดก็มีใบด่างเองตามธรรมชาติด้วย ซึ่งลักษณะคือทั้งใบหรือบางส่วนของใบจะมีสีเขียวอ่อนไปจนถึงสีขาวตัดกับสีเขียวในบริเวณอื่น ทั้งเป็นลักษณะแบบจุดแต้มหรือเป็นลายเส้นบนใบ ส่วนมากเป็นต้นไม้ซึ่งต้องการแสงเต็มวัน แต่ก็มีพรรณไม้พุ่มเตี้ยและไม้คลุมดินบางชนิดซึ่งชอบแสงแดดรำไรด้วยเช่นกัน ในการนำไปใช้นิยมนำไปใช้ได้หลากหลายทั้งนำไปปลูกเป็นจุดเด่นในบริเวณที่มีพื้นที่สีเขียวมากเกินไปหรือบริเวณซึ่งดูมืดได้รับแสงน้อย ทั้งยังสามารถปลูกเป็นแนวเพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับสวนบริเวณนั้นคล้ายกับต้นไม้ออกดอกอยู่เสมอ นอกจากนั้นหลายคนที่ชื่นชอบพรรณไม้ลักษณะนี้ยังนิยมนำไปปลูกใส่ในกระถางที่มีรูปทรงหรือสีสันสวยงามอีกด้วย
พรรณไม้ใบด่างมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดทั้งไม้ยืนต้นไปจนถึงไม้คลุมดิน ส่วนมากจะพบมากอยู่ในสกุลอโกลนีมา(แก้วกาญจนา) ไดฟ์เฟนแบเกีย(สาวน้อยประแป้ง) พอลิสเซียส(เล็บครุฑ) แอสพิดิสตรา(ละอองดาว) ราชีนา(วาสนา) ไปเปอราซีอี(เปปเปอร์โรเมีย) และมาแรนทาซีอี(คล้า) โดยที่รู้จักกันทั่วไปมานานในท้องตลาดได้แก่ ขาไก่ด่าง ชบาด่าง 3 สี เกล็ดปลากระโห้ด่าง ซองออฟจาไมก้า ซองออฟอินเดียน เตยด่าง ทองหลางด่าง ไทรด่าง ไผ่ฟิลิปปินส์ มะขามเทศด่าง ยางอินเดียด่าง ข้าวตอกพระร่วง สาวน้อยประแป้ง พลูด่าง เป็นต้น บางชนิดเกิดจากการกลายพันธุ์และพึ่งเป็นที่ได้รับความนิยมเมื่อเร็วๆนี้ เช่น เลม่อนด่าง หูกระจงด่าง กล้วยด่าง มันสำปะหลังด่าง ไอวี่ด่าง เป็นต้น
ชาดัดที่ปกตินิยมมาตัดแต่งทำขอบแปลงหรือแนวรั้วเมื่อมีชนิดใบด่างเข้ามาทดแทนก็สามารถทำให้สวนดูน่าสนใจแตกต่างจากสวนปกติได้
ต้นส้มจี๊ดปกติเป็นไม้มงคลที่นิยมปลูกประดับเป็นไม้กระถางตามส่วนต่างๆของบ้านและสวน ในปัจจุบันที่สายพันธุ์ที่มีใบด่างที่ช่วยให้มุมบริเวณนั้นโดดเด่นได้ไม่ยาก
ไม้ใบสี
ถึงแม้ว่ารงควัตถุหลักที่ใช้ในการสังเคราะแสงของต้นไม้ในบริเวณใบจะเป็นคลอโรฟิลล์ที่ให้สีเขียวในธรรมชาติแล้ว ต้นไม้บางชนิดยังมีรงควัตถุอื่นที่ให้สีนอกไปจากเขียวด้วยส่งผลให้เมื่อเรามองไปที่ใบไม้ต้นนั้นจะเห็นเป็นสีอื่นทั้งสีแดง ส้ม เหลือง ม่วง ชมพูและอื่นๆ ในบางกรณีเกิดจากการผลัดใบตามฤดุกาลเพื่อให้ต้นไม้ผลิตอาหารน้อยลงและเข้าสู่สภาวะพักตัวในฤดูหนาวด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากพรรณไม้ใบหลากสีนำมาจัดตกแต่งสวนหรือนำใส่กระถางวางเพื่อสร้างจุดเด่นตามมุมต่างๆตัดกับสีเขียวของต้นไม้ชนิดอื่นหรือผนังของอาคารได้ไม่ต่างจากส่วนของดอกไม้ แต่ควรดูแลให้ต้นไม้ดังกล่าวได้รับแสง น้ำและสารอาหารที่เพียงพอตามชนิดนั้นต้องการ
ไม้ใบสีส่วนมากมีเป็นพรรณไม้พุ่มไปจนถึงไม้คลุมดิน โดยแต่ละพันธุ์ก็จะมีสีสันแตกต่างกันหรือผสมกันหลายสีในหนึ่งใบ จนหลายสกุลเป็นที่นิยมสะสมกันแพร่หลายในหมู่นักสะสมพรรณไม้หายาก เช่น คาลาเดียม(บอนสี) อโกลนีมา(แก้วกาญจนา) และคอร์ดิไลน์(หมากผู้หมากเมีย) หรือวงศ์ใหญ่ๆอย่างวงศ์บีโกเนียซีอี(บีโกเนีย) วงศ์บรอมีเลียซีอี(สับปะรดสี) วงศ์เกสเนอเรียซีอี(พรมกำมะหยี่) และ วงศ์อแคนทาซีอี ซึ่งมีทั้ง ใบเงิน ใบทอง ใบนาก ดาดตะกั่ว พรมออสเตรเลียอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีต้นไม้ใบสีชนิดอื่นที่นิยมใช้ในการจัดสวนเช่น กาบหอยแครง ก้ามปูหลุด ปีกแมลงสาบ นีออน หัวใจม่วง โกสน เป็นต้น บางชนิดให้ใบประดับสีสันสดใสเมื่อออกดอก เช่น คริสต์มาส ดอนญ่า และเฟื่องฟ้า เป็นต้น
ต้นกระดุมไม้ใบเงินให้ใบสีเทามีขนขนาดเล็กดูนุ่มนวลเป็นไม้ยืนต้นที่สร้างจุดเด่นและความสว่างให้กับสวนได้เสมอ ทั้งยังสามารถปลูกในพื้นที่ริมทะเลและที่แห้งแล้งได้
การใช้ต้นไม่ที่มีลักษณะของใบคล้ายกันแต่มีสีสันต่างกันอย่างสนบลูและสนแผงทำให้สวนดูน่าสนใจขึ้นทั้งยังดูกลมกลืนเข้ากันได้ดี
ไม้ใบทรงสวย
นอกไปจากสีสันอันหลากหลายของพรรณไม้แล้ว เสน่ห์ของใบไม้อีกสิ่งคือรูปทรงของใบที่มีอยู่หลากหลายสร้างความแปลกตาโดดเด่นมากกว่าดอกหรือส่วนอื่นๆของลำต้น บางชนิดสามารถตัดใบเพื่อนำประดับตกแต่งแทนดอกไม้ในแจกันได้อีกด้วยซึ่งส่วนมากจะให้อายุการใช้งานยาวนานกว่าส่วนดอก โดยส่วนมากเราจะพบพรรณไม้ดังกล่าวปลูกใส่กระถางทั้งแขวนหรือตั้งโชว์ไว้ภายในบ้านหรือแยกจากส่วนอื่นในสวน หรือจัดว่างเป็นกลุ่มไว้ในมุมหนึ่งเพื่อให้เป็นจุดเด่นภายในสวน โดยควรใช้ต้นไม้หรือฉากหลักที่มีความละเอียดเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อไม่ไปรบกวนสายตาหรือแข่งกับไม้ใบชนิดดังกล่าวจนเกินไป
พรรณไม้ที่มีใบรูปทรงสวยงามมีหลายชนิดตั้งแต่ไม้ยืนต้นไปจนถึงไม้คลุมดินและไม้เลื้อยตามความชอบหรืออุดมคติของแต่ละบุคคลและการนำไปใช้ ซึ่งส่วนใหญ่พรรณไม้เป็นที่นิยมปลูกและสะสมในหมู่นักสะสมพรรณไม้คงหนีไม่พ้น เฟินชนิดต่างๆ วงศ์แอรีกาซีอี(ปาล์ม) วงค์ซาเมียซีอี(ปรง) สกุลอโลคาเซีย(กระดาด) สกุลมอนสเตอรา(พลูฉลุ) สกุลแอนทูเรียม(หน้าวัวใบ) สกุลฟิโลเดนดรอน และสกุลพอลิสเซียส(เล็บครุฑ)นอกจากนั้นยังรวมไปถึงพรรณไม้น้ำอย่าง บัวอเมซอน กกอิยิปต์ จอก สร่ายญี่ปุ่น อีกด้วย
การจัดสวนสไตล์ทรอปิคอลนิยมใช้ต้นไม้ที่มีรูปทรงและสีสันของใบแปลกใหม่ทั้งต้นไม้จำพวกเฟิน สับปะรดสี หมากผู้หมากเมียและปรงชนิดต่างๆผสมกันแต่ควรคำนึงให้ต้นไม้ขนาดเล็กกว่าอยู่บริเวณด้านหน้าไม่บังกัน
มุมไม้กระถางถึงแม้จะใช้พรรณไม้ที่สีสันไม้ฉูดฉาดนักแต่ด้วยรูปทรงของใบที่หลากหลายก็ช่วยให้มุมสวนดูน่าสนใจขึ้นได้ไม่ยาก
ไม้ใบทานได้
ความพิเศษอีกอย่างของไม้ใบที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือการนำไปใช้ประกอบอาหารและบริโภคที่มีมาแต่ช้านานไม่ว่าจะอยู่ในรูปของผักหรืออื่นๆก็ตาม ใบไม้ที่ทานได้มีประโยชน์ในการให้ใยอาหาร และวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย บางชนิดมีสรรพคุณในด้านสมุนไพรที่ช่วยรักษาโรคอีกด้วย ส่วนมากเป็นต้นไม้ที่ชอบปลูกกลางแจ้งและมีศัตรูพืชเข้ามารบกวนจำนวนมากจึงนิยมปลูกเป็นแปลงชัดเจนเพื่อง่ายต่อการดูแลและเก็บเกี่ยว จำเป็นต้องดูแลดินและให้น้ำอยู่เสมอเพื่อให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้แข็งแรงและให้ผลผลิตเต็มที่ อย่างไรก็ตามไม้ใบทานได้หลายชนิดก็มีความสวยงามไม้แพ้ต้นไม้ประดับจึงสามารถปลูกเป็นเป็นจุดเด่นในสวนได้ แต่บางชนิดที่ต้องการการเอาใจใส่ดูแลต่างจากต้นไม้ชนิดอื่นควรปลูกใส่กระถางหรือทำแปลงแยกเพื่อดูแลได้อย่างใกล้ชิด
ไม้ใบบางชนิดเป็นที่รู้จักกันดีในประเภทพรรณไม้สวนครัวและไม้ล้มลุกที่ปลูกง่ายและควรมีติดสวนเพื่อนำมาบริโภค เช่น กะเพรา โหระพา แมงลัก คะน้า บัวบก ผักกาด ผักชีฝรั่ง ผักบุ้ง เป็นต้น บางชนิดเป็นไม้เลื้อยซึ่งควรทำโครงหรือซุ้มให้ต้นไม้สามารถไต่ได้ เช่น ตำลึง ชะพลู และผักปลัง เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีไม้พรรณไม้ยืนต้นและไม้ประดับหลายชนิดที่เราสามารถนำไบมาประกอบอาหารและรับประทานโดยเฉพาะใส่ของใบอ่อนได้อีกเช่น ขี้เหล็ก สะเดา แสงจันทร์ สมุย เล็บครุฑ ผักเฮือด เป็นต้น
ต้นไม้หรือผักสวนครัวหลายชนิดก็มีสีสันและรูปทรงของใบสวยงามช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับแปลงปลูกได้ไม่ยากอย่าง ปูเล่ เรดโอ๊ค และมาสตาร์ดแดง เป็นต้น
นอกจากรูปทรงใบที่น่ารักและชนิดพันธุ์ที่หลากหลายของใบมิ้นต์แล้ว กลิ่นหอมอันสดชื่นของมิ้นต์ยังเป็นเสห่น์ให้เป็นไม้ประดับแปลงปลูกที่ขาดไม่ได้
ไม้ใบกินแมลง
หลายคนเมื่อได้ยินคำว่าต้นไม้กินแมลงก็มักจะนึกถึงบรรยากาศของหนังสยองขวัญแต่ในนั้นก็ซ่อนความรู้สึกที่ทำให้สวนหรือมุมสีเขียวภายในบ้านเกิดความน่าสนใจและมีจุดเด่นขึ้นได้ ซึ่งปัจจุบันพรรณไม้กินแมลงหลายชนิดทั้งในธรรมชาติและต้นไม้ที่ถูกผสมให้เกิดสีสันและความสวยงามขึ้นใบบริเวณของใบและใบพิเศษที่ถูกออกแบบมาให้เป็นกับดักสำหรับจับเหยือเพื่อดูดซับสารอาหารโดยเฉพาะธาตุไนโตรเจนซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโต โดยส่วยใหญ่ต้นไม้กินแมลงหลายชนิดโดยฉพาะหม้อข้าวหม้อแกงลิงนิยมปลูกในกระถางหรือแปลงที่ปลูกเป็นกลุ่มต้นไม้กินแมลงชนิดเดียวกัน มีการปรับวัสดุปลูกให้ระบายน้ำได้ดีเช่นกาบมะพร้าวสับชิ้นใหญ่และดินผสมใบก้ามปูและแกลบดิน
ใบไม้ดักแมลงมีทั้งลักษณะที่มีถุงดักเหยื่อที่มีน้ำภายในล่อให้แมลงเข้ามาทานน้ำหวานและผลัดตกลงไป เช่น สกุลนีเพนทัส (หม้อข้าวหม้อแกงลิง) และสกุลซาร์ราซีเนีย บางชนิดมีใบพิเศษเป็นกับดักคล้ายบานพับเปิดออกและปิดขังอย่างรวดเร็วเมื่อมีเหยื่อเข้ามาพบในสกุลไดโอนีอี (กาบหอยแครง) นอกจานั้นบางชนิดใช้เพียงเมือกจากรยางค์บนผิวใบดักจับเหยื่อขนาดเล็ก เช่น สกุลโดรซีรา (หยาดน้ำค้าง)
ต้นกาบหอยแครงเป็นต้นไม้ที่สามารถปลูกประดับในบ้านได้เนื่องจากต้องการแสงแค่เพียง 50 เปอร์เซต์เท่านั้น และใบจะหุบเมื่อสัมผัสกับหยดน้ำฝน
ต้นไม้กินแมลงหลายชนิดอย่างหม้อข้าวหม้อแกงและซาร์ราซีเนียสามารถปลูกร่วมกับพรรณไม้ชนิดอื่นที่ชื่นชอบความชื้นสูงได้อย่างเฟิน บีโกเนียและมอส
ไม้ใบอวบน้ำ
อีกหนึ่งพรรณไม้ที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบันคือพรรณไม้อวบน้ำซึ่งหนึ่งในนั้นคือแคคตัส (กระบองเพชร) และพรรณไม้อีกหลายหมื่นชนิดที่สะสมอาหารและน้ำไว้ตามใส่ต่างๆของต้นสำหรับดำรงชีวิตรอดในสภาวะที่แห้งแล้ง หนึ่งในนั้นคือบริเวณใบทำให้ส่วนใบมีความอวบและแข็งกว่าต้นไม้ชนิดอื่นจนเป็นเอกลักษณ์ให้ต้นไม้ดังกล่าวนิยมนำมาใช้ในงานจัดสวนอยู่เรื่อยๆ ทั้งวางเป็นจุดในสวนร่วมกับพรรณไม้ชนิดอื่นๆ ปลูกเป็นจุดเด่นภายในสวนหินหรือสวนโมเดิร์นที่ต้องการต้นที่มีรูปทรงใบชัดเจน นอกจากนั้นยังสามารถนำมาจัดวางเป็นแปลงใหญ่เพื่อสร้างบรรยากาศแบบสวนทะเลทรายหรือสวนสไตล์แม็กซิกันได้อีกด้วย แต่สำหรับผู้ที่มีพื้นที่ขนาดเล็กภายในบ้านก็ยังมีไม้ใบอวบน้ำอีกหลายชนิดที่สามารถปลูกในกระถางหลากหลายขนาดเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและมุมที่ดูมีชีวิตชีวาขึ้นได้ แต่ควรระมัดระวังในการวางให้อยู่ห่างทางเดิน สนามเด็กเล็นหรือพื้นที่ซึ่งมีการใช้งานอยู่บ่อยเนื่องจากพรรณไม้หลายชนิดมีหนามหรือขอบใบที่แหลมคมพอที่จะทำให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน
นอกจากกระบองเพชรที่เรารู้จักกันดีแล้วยังมีพรรณไม้ใบอวบน้ำมีอยู่หลายวงศ์และสกุลมากมาย เช่น พรรณไม้ใบอวบน้ำชัดเจนอย่างวงศ์ไอโซซีอีและแครสซูลาซีอีที่มีแผ่นใบอวดหนา สกุลอากาเว่ สกุลแซนซีเวอเรีย (ลิ้นมังกร) พรรณไม้เลื้อยที่นิยมปลูกในกระถางแขวนอย่างสกุลดิสซิเดีย (เดป) และสกุลโฮย่า (หัวใจทศกัณฐ์) พรรณไม้รากอากาศอย่างทิลแอนด์เซีย รวมไปถึงพรรณไม้ที่เราคุ้นเคยอย่าง กล้วยไม้ วานิลลา เปอเปอโรเมีย คุณนายตื่นสาย ว่านหางจระเข้ ปรง และกุหลาบหินเป็นต้น
ต้นไม้อวบน้ำจำพวกกระบองเพชร อากาเว่ และปรง สามารถนำมาปลูกในโรงเรือนได้เพื่อความสะอาด ไม่มีน้ำชื้นแฉะจากฝนและน้ำท่วมขังแต่ควรมีตาข่ายหรือช่องลมให้อากาศถ่ายเทอยู่เสมอ
เดปและกล้วยไม้จัดเป็นไม้อวบน้ำชนิดหนึ่งที่มีรากอิงอาศัยสามารถปลูกให้เกาะกับลำต้นของต้นไม้ใหญ่ในสวนสร้างบรรยากาศความเป็นธรรมชาติได้
ต้นไม้อวบน้ำในวงศ์แครสซูลาซีอีมีอยู่หลายชนิดเช่นกุหลาบหิน สามารถปลูกได้ไม่ยากและให้ลักษณะใบที่คล้ายดอกไม้ที่บานอยู่เสมอ
เรื่อง : ปัญชัช
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน
เรื่องที่น่าสนใจ