รู้หรือไม่? ทุกปี ช้างป่าแอฟริกันกว่า 20,000 ตัวถูกฆ่าเพื่อเอางาโดยเฉพาะ
เท่ากับว่า ภายใน 1 วัน จะมีช้างถูกฆ่าเพื่อเอางาจำนวน 55 ตัว
งาเหล่านั้น ถูกส่งไปเติมเต็มความต้องการในตลาดเอเชีย พื้นที่ที่มีความเชื่อผิดๆที่สืบต่อกันมาว่า งาข้างคือสัญลักษณ์แสดงฐานะทางสังคม ซึ่งไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องแม้แต่น้อย
ปัจจุบันมีช้างแอฟริกันเหลืออยู่ในป่าเพียงแค่ 415,000 ตัว โดยมีอัตราลดลงเรื่อยๆทุกปี ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปข้างแอฟริกันจะสูญพันธ์ุในที่สุด
(คำเตือน: เรื่องนี้อาจมีภาพที่ชมแล้วอาจก่อให้เกิดความไม่สบายใจ)
นี่คือข้อมูลที่ baanlaesuan.com ได้รับจาก งานแถลงข่าว “เที่ยวไทยไร้การซื้อขายงาช้าง” (Travel Ivory Free) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ซึ่งจัดขึ้นโดย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สายการบินนกสกู๊ต และ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เพื่อรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวมีความตระหนักรู้ ความเข้าใจ และ ความรับผิดชอบร่วมกันในการไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงานช้าง งานนี้ได้เชิญศิลปินมากประสบการณ์ ติ้ว วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินที่ได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัล ศิลปาธร, รางวัล วัฒนคุณาธร, รางวัล นักออกแบบไทย รวมถึงเคยเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแสดงงานในเวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 55 ในปี 2556 มาสร้างผลสร้างประติมากรรมเชิงสัญลักษณ์ “ช้างแอฟริกันแม่ลูก” โดยก่อนที่จะถึงงานแถลงข่าวไม่กี่ชั่วโมง วศินบุรี ได้โพสต์ลง Facebook ส่วนตัวแสดงความรู้สึกขณะที่เขาได้สร้างผลงานชิ้นนี้ไว้ดังนี้
หากเปรียบเทียบกับงานที่ผ่านมาของ วศินบุรี ที่เน้นความน่ารัก สดใส ผลงานชิ้นนี้ถือได้ว่าเป็นการกระตุกอารมณ์พอสมควร และยังเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่แฝงในองค์ประกอบของงานศิลปะอย่างแยบคาย baanlaesuan.com ได้มีโอกาสพูดคุยเจาะลึกเรื่องราวของผลงานเรซิ่นไฟเบอร์ที่มีความกว้างถึง 7 เมตร กับ วศินบุรี ณ พื้นที่แสดงงาน ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ (BACC)
“ตอนที่ได้รับโจทย์นี้มา ก็อย่างที่โพสต์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าอยากให้มัน โหดร้ายแบบเหนือจริง แต่พอได้มาทราบกระบวนการจริงๆแล้วมันโหดร้ายกว่ามากๆ อย่างการฆ่าช้างสักตัวเพื่อให้ได้งาที่ยาวที่สุด ต้องลอกหน้าออกมาทั้งหน้า มันเป็นอะไรที่โหดร้ายมาก”
ร่างของแม่ช้างที่นอนหมดลมหายใจ ใต้ท้องมีเลือดท่วมนอง และ เศษงาที่ตัดออกเป็นชิ้นๆหล่นอยู่ข้างๆ ลูกช้างที่ไร้เดียงสากำลังเดินมาดู พร้อมสังสัยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น
ตัวแม่ช้างนั้นทำจากวัสดุไฟเบอร์ใส สื่อถึงว่ามันจะค่อยๆเลือนหายไป ส่วนลูกช้างที่ใช้ไฟเบอร์สีขาวนั้นสื่อถึงความไร้เดียงสา โดยไม่รู้ว่าเรื่องนี้มีผลกระทบต่อมันมากเพียงใด
“ในงานศิลปะของผมจะเห็นว่าช้างนั้นถูกตัดขา ซึ่งจริงๆแล้วกระบวนการฆ่าช้างเอางานั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการตัดขาช้างเลย หรือ งาชิ้นเล็กๆที่ถูกตัดของจริงก็ไม่ได้ทำแบบนั้น แต่ทั้งหมดนี้ผมอยากจะสื่อถึงความ non-sense (ไร้เหตุผล) ของมนุษย์ที่สักแต่จะฆ่าอย่างเดียว ไม่ได้คิดถึงความทรมาน ไม่คำนึงถึงความสูญเสียอะไรเลย มันไร้สาระมากๆ ” วศินบุรี กล่าว
ถึงแม้ว่า งานศิลปะของ วศินบุรี นั้นได้รับใช้สังคมมาหลายครั้ง แต่โดยมากจะเป็นในเรื่องการพัฒนาชุมชน และ หรือ การสนับสนุนการสร้างงานศิลปะในท้องถิ่น สำหรับงานในลักษณะ แรงๆ เชิงสัญลักษณ์เช่นนี้ ศิลปินชาวราชบุรีผู้นี้บอกกับเราว่า “ถือว่าเป็นครั้งแรกเลย ไม่เคยทำงานลักษณะนี้มาก่อน”
นอกจากนี้เราจะเห็นเลือดที่ออกมาจากแม่ช้างนั้นค่อยๆกลายสภาพเป็นพรมแดง ศิลปินมือรางวัลผู้นี้อธิบายให้ฟังสั้นๆ ว่า มันคือสัญลักษณ์ เปรียบเหมือน การที่ยืนอยู่บนความหรูหราแห่งความตาย
น่าเสียดายว่าผลงานชิ้นนี้ได้จัดแสดงอยู่ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพียงไม่กี่วันเท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 1 – 10 ตุลาคม 2561 …แต่เรื่องราวของการรณรงค์เรื่องนี้จะยังดำเนินต่อไป วศินบุรี เปิดเผยกับเราว่า มีแผนจะนำ ผลงาน “ช้างแอฟริกันแม่ลูก” ไปจัดแสดงต่อที่ลำปาง ซึ่งต่อจากนี้เขาอยากจะทำให้ช้างกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง จะต่อขา จะใส่สีสัน จะทำให้คล้ายๆกับว่าช้างกลับมาวิ่งได้อย่างมีชีวิตชีวาอีกครั้ง เพื่อสื่อสารออกไปว่าในสถานการณ์ที่ช้างกำลังจะสูญหายไปจากโลก หากพวกเราช่วยกัน วันหนึ่งบรรดาช้างทั้งหลายจะกลับมามีชีวิต และ มีความสุขอีกครั้งหนึ่ง
สุดท้ายนี้ baanlaesuan.com ขอฝากข้อคิดกับทุกท่านว่า
หากไม่มีคนซื้อ จะไม่มี คนขาย
หากไม่มีคนขาย จะไม่มี คนซื้อ
เรื่องและภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์
6 ศิลปินที่ห้ามพลาด ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018
มารีนา อบราโมวิช กับ มนตราแห่งศิลปะที่ทำให้ทั้งโลกต้องหยุดมอง
เปิดประตู อาคาร อีสต์ เอเชียติก สถาปัตยกรรมทรงคุณค่า ที่น้อยคนจะรู้ว่าภายในมีอะไร
เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x