คุยกับประธาน ธีระธาดา ผู้ก่อตั้ง LUCKY PLANET แพลตฟอร์มที่หมายมุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านวัฒนธรรมบนโต๊ะอาหาร
First Time Lucky คุยกับ ประธาน ธีระธาดา ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มน้องใหม่ที่มีชื่อน่ารักว่า ‘Lucky Planet’ ซึ่งหมายมุ่งที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นผ่านศาสตร์และศิลป์ที่เขาเรียกมันว่า ‘วัฒนธรรมบนโต๊ะอาหาร’ ในกิจกรรม ‘The art of gastronomy’ ภายในบูธ room x BAB Art & Design Cafe ที่งานบ้านและสวนแฟร์ 2018
23 ปีที่ผ่านมาคือช่วงเวลาที่ คุณประธาน ธีระธาดา คลุกคลีอยู่กับการทำงานในแวดวงศิลปะและงานออกแบบในฐานะสื่อสารมวลชน บทบาทที่นำพาตัวเขาไปพบเจอกับผู้คนหลากหลายสาขาวิชาชีพ จากการเป็นสื่อกลางนำเสนอเรื่องราวของพวกเขาเหล่านั้น ตลอดจนการเป็นผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมที่คาบเกี่ยวในเชิงศิลปะและวัฒนธรรม ทั้งการจัดสัมมนา ฉายภาพยนตร์ นิทรรศการ หรือเวิร์กช็อปในหลาย ๆ เทศกาลสำคัญ
บรรณาธิการนิตยสาร art4d และผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลออกแบบบางกอกที่จัดมาครบ 10 ปี บอกกับเราว่า กลุ่มคนเหล่านี้เองก็มีส่วนในการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับเขาด้วยเหมือนกัน
กลุ่มก้อนพลังงานทางความคิดที่รับส่งต่อกันไปมาซึ่งเราเรียกมันว่า ‘แรงบันดาลใจ’ นั้นวนเวียนอยู่รอบตัว และเมื่อสถานการณ์นำพามันให้เกิดขึ้นบนโต๊ะอาหารของกลุ่มคนหลากหลายสาขาอาชีพที่มีคุณประธานนั่งร่วมวงอยู่ด้วย บทสนทนาที่ว่าด้วยเรื่องจะทำอย่างไรคุณภาพชีวิตในทุกวันนี้ดีขึ้นด้วยศาสตร์อื่นๆ จึงเป็นแรงกระตุ้นให้เขาตั้งใจสร้างแพลตฟอร์มใหม่ที่มีชื่อว่า Lucky Planet ขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางการถ่ายทอดเรื่องราวจากวงสนทนาเล็ก ๆ ให้กระจายไปสู่สาธารณะชนในวงกว้าง ผ่านการร่วมมือกับองค์กรที่มีความสนใจและจุดมุ่งหมายเดียวกับพวกเขา
ด้วยเหตุผลนี้เองจึงเป็นที่มาที่เรานัดเขาและสมาชิกจาก Lucky Planet มาพบกันที่ช่างชุ่ยในวันนี้
Lucky Planet เกิดจากการรวมกลุ่มของนักออกแบบ นักวิทยาศาสตร์ เชฟ บาริสต้า นักมายากล ฯลฯ ที่มีความสนใจอันหลากหลายและกล้าที่จะก้าวข้ามสิ่งที่ตนเองถนัด แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ อาหาร กับ สุขภาพ (Food & Wellness), ท่องเที่ยว กับ วัฒนธรรม (Travel & Culture) และ วิทยาศาสต์ กับ เทคโนโลยี (Science & Technology)
ทราบมาก่อนว่า LuckyPlanet เป็นการรวมกลุ่มกันของคนจากหลากหลายสาขาอาชีพ แต่จุดเริ่มต้นจริงๆ มาจากสิ่งใดช่วยเล่าให้เราฟังหน่อย
คุโณปการของการได้ทำงานในวงการสื่อคือการได้เจอคนที่มีความสามารถจากวงการต่าง ๆ มากมาย ทุกวันที่ได้พูดคุยกับคนใหม่ ๆ จะเป็นอินฟอร์เมชั่นสำหรับตัวเราเอง ในส่วนหนึ่งพวกเขาก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำงานในแต่ละวันด้วยเช่นกัน การมีโอกาสได้เจอหรือได้พูดคุยกับคนพิเศษอย่างพวกเขาเป็นเสน่ห์ที่ผมเรียกว่า privilege คือสิ่งพิเศษสำหรับผม ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ทำงานด้านอื่นไม่ได้มีโอกาสได้เจอคนพวกนี้ ผมว่าเขาเสียโอกาสดี ๆ ไป เพราะสำหรับผมมันดูแพงมากกับการได้ทำงานแบบนี้
นอกจากความสนใจเบื้องต้นในแพสชั่นที่พวกเขามีในเรื่องงานออกแบบสร้างสรรค์ มันจะมีมุมมองอื่น ๆ หรือความสนใจด้านวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น เรื่องอาหาร ภาพยนตร์ ดนตรี เวลาเราแชร์กันมันจะเกิดความรู้และไอเดียใหม่ ๆ เสมอ ผมก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องราวอื่น ๆ ที่เราอยากนำเสนอนอกเหนือจากโฟกัสเรื่องงานออกแบบที่ทำประจำ
มันเริ่มมาจากผมอยากมีแพลตฟอร์มที่คุยกันถึงเรื่องที่ว่า จะทำอย่างไรคุณภาพชีวิตในทุกวันนี้ดีขึ้นด้วยศาสต์อื่น ๆ เกิดจากการรวมกลุ่มกันนัดไปกินข้าว กินกาแฟ นั่งคุยกันเล่น ๆ แต่เพราะสิ่งที่เราคุยกันมันมีประโยชน์ มีคนหลายคนที่สนใจสิ่งที่แตกต่าง จึงเป็นที่มาของเน็ตเวิร์ก Lucky Planet
จากบทสนทนาบนโต๊ะอาหาร จึงกลายมาเป็นโปรเจ็กต์แรกที่พูดถึงเรื่องการกินการอยู่ เปิดตัว LuckyPlanet ในงานบ้านและสวนแฟร์ครั้งนี้
บังเอิญว่าเป็นช่วงพอดีกับการจัดงานบ้านและสวนแฟร์ และงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เราจึงอยากจะคุยเรื่องศิลปะในบริบทอื่นเพื่อเชื่อมโยงไปหาความสนใจร่วมกัน คนที่สนใจศิลปะและสนใจเรื่องอาหารสามารถมาคุยกันได้ในวงเดียวกัน คนที่อาจไม่ได้สนใจศิลปะมาก่อนสามารถมาทดลองชิมอาหารดูก่อนแล้วค่อยทำความเข้าใจ ชอบหรือไม่ชอบว่ากันอีกที ผมว่ามันน่าสนใจดี
งานที่เรากำลังจะทำมันอาจเป็นงานเล็ก ๆ ของแฟร์ที่คนมาพูดกันเรื่องที่อยู่อาศัย หรือว่าบรรยากาศของคาเฟ่ แต่เราคุยกันเรื่องศิลปะกับการปรุงอาหารในชื่อ The arts of gastronomy ที่มีเนื้อหาเข้มข้น มันมีเรื่องราวของวัฒนธรรมซึ่งลงลึกได้เยอะ มีความน่าสนใจทั้งศาสตร์และศิลป์ ทั้งหมดนี้ผมเรียกว่ามันเป็นวัฒนธรรมบนโต๊ะอาหาร มันจะมีทั้งความลึกและความกว้างของเรื่องราวที่เราจะถ่ายทอด เรานำเสนอสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในบริบทแบบนี้ ดังนั้นผู้ชมที่มาร่วมกิจกรรมกับเราก็สามารถเลือกได้ว่าจะเอาแนวกว้างหรือลึก หรือจะเอาแค่ความสวยงาม เอาแค่ความรื่นรมย์ของรสชาติที่เรานำเสนอแค่นั้นก็พอ ผมมองว่ามันน่าพูดคุย น่าเอ็นจอยมากสำหรับวัน ๆ หนึ่งในชีวิตของเรา
คุณประธาน มุ่งหวังให้ Lucky Planet เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างแรงบันดาลใจและช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ผ่านศาสตร์และศิลป์ โดยมีกิจกรรม ‘The art of gastronomy’ เป็นโครงการริเริ่มที่จะจัดขึ้นครั้งแรกภายในบูธ room x BAB Art & Design Cafe ที่งานบ้านและสวนแฟร์ 2018
ศิลปะกับอาหารเกี่ยวข้องกันอย่างไรในความคิดของคุณ
จริงๆ เราเกือบจะไม่ต้องอธิบายเลยนะว่าอาหารเป็นศิลปะ แม้ในความเป็นจริงเมื่อเราพูดถึงศิลปะมันจะมีความกว้างของการตีความก็ตาม แน่นอนว่าอาหารมีความสวยงามด้วยสีสัน สวยงามด้วยคอมโพสิชั่น หรือด้วยสิ่งที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น มันมีกระบวนการเรียนรู้ การถ่ายทอดบางอย่างจนกลายมาเป็นหน้าตาและรสชาติของอาหาร รวมถึงเรื่องราวของวัตถุดิบ ดังนั้นอาหารเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับคนทุกคน เป็นเรื่องที่เราเข้าใจได้เลยทันที แต่ประสบการณ์ในการกินก็ของใครของมัน บางคนชอบสตรีตฟู้ด บางคนชอบ Fine Dine ที่มีรสชาติอาหารจากวัฒนธรรมอื่น ๆ ปะปนกัน ไม่ว่าเราจะเป็นคนแบบไหน มีเพื่อนไปทานแล้วกลับมาเล่าให้ฟัง หรือเราไปทานเองแล้วกลับมาเล่าให้เพื่อนฟัง บทสนทนาแบบนี้มันเกิดขึ้นในงานนี้ มันอาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับเรา แต่เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนอื่น แต่มันคุยกันได้เสมอ โลกมันก็เป็นแบบนี้
คุณจัดงาน Taste Makers ที่ช่างชุ่ย ในเทศกาลออกแบบบางกอก ซึ่งเป็นงานที่คล้าย ๆ กันมาแล้ว ดังนั้นบรรยากาศในงานครั้งนี้จะเป็นอย่างไร
นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้ทำเรื่องอาหาร จริงๆ แล้วมันยังไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่า Symposium ที่เราเชิญเชฟในมุมมองต่าง ๆ มาถ่ายทอดวัฒนธรรมอาหารแล้วมีการชิมด้วย มันสนุกตรงที่มันไม่ใช่แค่การพูดคุยแบบ TED Talks เชฟทำอาหารข้างบนแล้วเสิร์ฟด้วย ครั้งนั้นจึงเป็นการทดลองพูดไปชิมไป แต่ครั้งต่อ ๆ ไปเราคิดว่ามันน่าจะมีความเป็น Chef’s Table มากขึ้น เช่นงานที่จะทำร่วมกับ room และ BAB จะมีการทำและชิมจริงจังมากกว่าตอนทำ Taste Makers
ยกตัวอย่างที่เดนมาร์กมันจะมีงานที่ชื่อว่า MAD Symposium ซึ่งเขามักจะไปจัดงานกันตามหมู่บ้านหรือตามภูเขาที่มีบรรยากาศรื่นรมย์ เชิญชิมวัตถุดิบท้องถิ่น หรือ Wine tasting ก็ไปจิบกันตามภูเขา ปูผ้านั่งคุยกันเรื่องอาหาร วัตถุดิบ ซึ่งจะมีพวกนักโภชนาการ นักจิตวิทยา มาร่วมวงด้วย ผมรู้สึกว่าองค์ความรู้มันกว้างออกไปสู่บริบทอื่น นอกเหนือจากความเป็นห้องประชุม แต่สิ่งที่เราพยายามทำคือการเอาสิ่งที่เกิดขึ้นคล้าย ๆ กับอยู่ในบริบทนั้นมาอยู่ใน Exhibition Hall ซึ่งมันก็จะเป็นอีกแบบ มันไม่มีอะไรถูกอะไรผิดหรอก แต่มันเป็นการนำเสนอสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในบริบทนั้นให้กับสังคมที่เราอยู่
Lucky Planet มีคุณเป็นแกนนำ แล้วแนวร่วมของคุณมีใครบ้าง
จริง ๆ แล้วทุกคนสามารถเป็นแนวร่วมได้หมด ผมเพียงแค่เป็นคนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการไปร่วมบทสนนาในวงต่าง ๆ ผมแค่รู้สึกว่าสิ่งที่ผมรับฟังจากสิ่งที่พวกเขาคุยกัน ผมไม่อยากเป็นคนเดียวที่ได้รับประสบการณ์แบบนี้ ผมอยากจะแบ่งปันมัน ผมเลยอยากจะชวนคนมาร่วมกันแบ่งปัน มันอาจจะเป็นวงเล็ก ๆ แต่ถ้าเรามีโอกาสที่จะทำวงใหญ่ ๆ เราก็จะทำ ขึ้นอยู่กับจังหวะของมัน
กลุ่มเป้าหมายและความคาดหวังต่อในอนาคตของ Lucky Planet เป็นอย่างไร
เราคุยกันถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ฝั่งผมจะมองไปถึงผู้บริโภคเป็นหลัก เพราะเราทุกคนก็คงอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ถ้ามองกลับไปทางฝั่งคอร์เปอร์เรต ผมเข้าใจว่าแทบจะทุกที่ในโลกให้ความสนใจกับเรื่องการเอาดิจิตัลแพลตฟอร์มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับสิ่งที่ Lucky Planet พยายามจะทำ คือการช่วยกันทำให้โลกมันดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นผมจะทำร่วมกับคอร์เปอร์เรต หรือจับมือร่วมกับมีเดียซึ่งเป็นในวงการที่ผมอยู่ โดยเราสามารถปรับโปรเจ็กต์ให้เหมาะกับแต่ละคอร์เปอร์เรตทั้งภาครัฐและเอกชน แต่สุดท้ายแล้ว LuckyPlanet มันคือแพลตฟอร์มสำหรับใครหรือองค์กรใดก็ได้ มาร่วมกันทำอะไรก็ได้ที่จะทำให้ชีวิตมีคุณภาพดีขึ้น กิจกรรมมันจะเป็นอะไรไม่สำคัญ แต่สุดท้ายโลกมันดีขึ้นแค่นี้ผมก็มีความสุขแล้ว
สัมผัสกับประสบการณ์การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด และทดลองชิมอาหารในมิติแปลกใหม่ ซึ่งเรามั่นใจว่าคุณไม่เคยสัมผัสที่ไหนมาก่อนเเน่นอน เริ่มตั้งแต่เรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังก่อนจะมาเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหาร ศิลปะการรับรสชาติ ไปจนถึงการออกแบบพื้นที่เพื่อสร้างประสบการณ์พิเศษในระหว่างนั่งรับประทานอาหารผ่าน 6 โปรแกรมในกิจกรรม ‘The art of gastronomy’ โดย Lucky Planet ที่งาน บ้านและสวนแฟร์ 2018 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2561 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com/fair
เรื่อง นวภัทร ดัสดุลย์
ภาพ วงศกร จิรชัยสุทธิกุล, เมธี สมานทอง, กรองเเก้ว ก้องวิวัฒน์สกุล
ขอขอบคุณ ช่างชุ่ย (ถนนสิรินธร) ที่เอื้อเฟื้อสถานที่
www.facebook.com/ChangChuiBKK/