จากข้อสงสัยที่ว่า ทำไมขนมไทยไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็มีแต่เมนูเดิม ทั้ง ๆ ที่ส่วนผสมของการทำขนมไทยทั้งหมดก็สามารถหยิบจับนำมาสร้างสรรค์ขนมที่แปลกใหม่ได้
ปราง – จิตราภา เลิศทวีวิทย์ นักออกแบบประสบการณ์ ผู้ก่อตั้ง Another New Design Studio ในกรุงสต็อกโฮล์ม ตั้งคำถามนี้ขึ้น พร้อมหาคำตอบด้วยการดีไซน์อาหาร วิธีเดียวกันกับที่เธอใช้ในวิทยานิพนธ์จบการศึกษา Master of fine Art Experience Design ที่ College of Arts, Crafts and Design มหาวิทยาลัย Konstfack ประเทศสวีเดน
“เป้าหมายการออกแบบของปรางก็คือพฤติกรรมกับการรับรู้ มันคือการออกแบบประสบการณ์ โดยที่มองเป้าหมายนั้น แล้วหาวิธีการที่จะทำให้เกิดขึ้น ทำอย่างไรให้เขารับรู้ เราต้องการพฤติกรรมอะไรในเวลานั้น แล้วเราก็ดีไซน์ช่วงเวลานั้นออกมาโดยใช้มีเดียที่แตกต่างกันออกไป เมื่อได้โจทย์มาคิด เราก็หาวิธีและสร้างทีมจากหลากหลายสาขาออกมาเพื่อทำโจทย์นั้น ทำให้ธรรมชาติของงานเป็นลักษณะของ Interdisciplinary Design (การออกแบบสหวิทยาการ) อาหารก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราทำมา” ปรางขยายความถึงบทบาทนักออกแบบประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งจากการออกแบบประสบการณ์ผ่านอาหารนี้เองที่ทำให้เธอได้เข้าไปอยู่ในกลุ่ม New Nordic Food กลุ่มที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือกันของกลุ่มประเทศ Nordic ที่ประกอบไปด้วยเดนมาร์ก, ฟินแลนด์, ไอซ์แลนด์, นอร์เวย์ และสวีเดน เพื่อยกระดับอาหารในภูมิภาคนั้นตั้งแต่การผลิตอาหารไปจนถึงเกษตรกรรม
งานที่อธิบายนิยามอาชีพของจิตราภาได้เป็นอย่างดีก็คือ Web App : 31T (บิท) คือการการนำ Gastronomy มาผสานเข้ากับวิธีคิดเรื่อง Internet of Things บิทได้เป็น 1ใน 5 ของ Vision Showcase ของ New Nordic Food นำเสนอผ่านการนำส่วนผสมของอาหารมาวางไล่สีกันไป และให้ผู้ร่วมงานสร้างสรรค์อาหารจานเรียกน้ำย่อย จานหลัก และของหวาน กฎก็คือจะต้องทำเองโดยเลือก 3 อย่าง นำมาทานใน 1 คำ และบอกรสชาติให้คนอื่นได้รู้
“ประสบการณ์การกินนี้มันทำให้เกิด Intercreativity ความคิดสร้างสรรค์ของเราส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของคนอื่น ปรางมองว่าบิทมันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนวิธีการสร้างความรู้ใหม่ ปกติแล้วเซฟจะเป็นคนตัดสินใจว่าอะไรเวิร์กไม่เวิร์ก ซึ่งส่วนใหญ่เซฟก็จะถูกเทรนด์มาตามหลักสูตรของเขา แต่ในบิทเราเปลี่ยนเป็นการสร้างข้อมูลความรู้จากคนทั่วไปแทน เราชวนเชฟให้นำของมาวางไว้บนโต๊ะ 60 ส่วนผสม ความเป็นไปได้ของการใช้ทั้ง 60 ส่วนผสมนี้คือ 2 แสนกว่ารสชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เซฟไม่สามารถทดลองด้วยตัวเองได้ แม้ว่าของทั้งหมดจะเป็นสิ่งที่เขาทำก็ตาม นั่นหมายความว่าคนทั่วไปเองก็สามารถเป็นแรงบันดาลในการสร้างสรรค์รสชาติใหม่ ๆ ให้เชฟกลับไปได้เช่นกัน ซึ่งปรางคิดว่าการสร้างความรู้มันไม่ควรจะเกิดขึ้นจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่มันสามารถนำคนมาอยู่ร่วมกันเพื่อหาความรู้ใหม่ได้”
วิธีการสร้างประสบการณ์แบบบิทจะเกิดขึ้นภายในกิจกรรม ‘The art of Gastronomy’ จัดขึ้นภายในบูธ room x BAB Art & Design Cafe ที่งาน บ้านและสวนแฟร์ 2018 โดยครั้งนี้เธอจะมาเล่นกับความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของขนมไทย โดยนำส่วนผสม 30 อย่างวางเรียงบนโต๊ะ และให้แขกรับเชิญที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ เลือกส่วนผสมมา 3 อย่างและมาทานใน 1 คำ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ร่วมกัน เมนูที่รังสรรค์ใหม่ของแต่ละคนจะถูกนำไปถ่ายรูป ถ่ายทอดเรื่องราว และเสิร์ฟให้ทุกคนได้ทานไปพร้อม ๆ กัน มาร่วมลุ้นกันว่าขนมไทยหน้าตาแปลก รสชาติใหม่ของแต่ละคนจะออกมาเป็นอย่างไรได้บ้าง
สัมผัสกับประสบการณ์การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด และทดลองชิมอาหารในมิติแปลกใหม่ ซึ่งเรามั่นใจว่าคุณไม่เคยสัมผัสที่ไหนมาก่อนเเน่นอน เริ่มตั้งแต่เรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังก่อนจะมาเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหาร ศิลปะการรับรสชาติ ไปจนถึงการออกแบบพื้นที่เพื่อสร้างประสบการณ์พิเศษในระหว่างนั่งรับประทานอาหารผ่าน 6 โปรแกรมในกิจกรรม ‘The art of gastronomy’ โดย Lucky Planet ที่งาน บ้านและสวนแฟร์ 2018 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2561 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com/fair
เรื่อง จรัลพร พึ่งโพธิ์
ภาพ กรองเเก้ว ก้องวิวัฒน์สกุล
ขอขอบคุณ ช่างชุ่ย (ถนนสิรินธร) ที่เอื้อเฟื้อสถานที่
www.facebook.com/ChangChuiBKK/