ชลูด นิ่มเสมอ หากกล่าวถึงชื่อนี้แล้วคงไม่ต้องอธิบายอะไรกันมาก กับ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปี พ.ศ. 2541 ผู้มีผลงานติดประติมากรรมจัดวางอยู่ในสถานที่สาธารณะมากมายไม่ว่าจะเป็นผลงาน ประติมากรรมไฟเบอร์กลาส “โลกุตระ” (2534) ที่รูปทรงได้รับแรงบันดาลใจจากเปลวรัศมีของพระพุทธรูป ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หรือ งานประติมากรรม “องค์สาม” (2524) หรือ ที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่า “เงินพดด้วง” ที่จัดแสดงอยู่หน้าอาคาร ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานพหลโยธิน
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ชลูด นิ่มเสมอ คอลเลคชั่นแอนด์อาร์ไคฟ (Chalood Nimsamer Collection and Archive) ร่วมกับ หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล นำเสนอ Preview Collection สุดพิเศษ จาก นิทรรศการ Edition of Small Sculpture ณ หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล ถนนบรมราชชนนี เพื่อนำเสนอผลงานประติมากรรมต้นแบบของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ อ.ชลูด นิ่มเสมอจำนวน 14 ชิ้น ที่ไม่เคยมีใครได้เห็นมาก่อน โดยงานนี้ได้รับเกียรติจากแขกรับเชิญระดับ VIP มาร่วมงานกันมากมาย ซึ่ง baanlaesuan.com ก็ไม่พลาดที่จะเก็บเรื่องราวของนิทรรศการครั้งนี้มาฝากกัน
เมื่อเข้ามาในงานเราได้พบกับ ดร.ประติมา นิ่มเสมอ ลูกสาวของ อ.ชลูด ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ Chalood Nimsamer Collection and Archive โดยเธอได้เล่าถึงการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ว่า
“งานนี้เป็นการรวมผลงานที่คุณพ่อได้ทำไว้เป็นต้นแบบ ซึ่งมีหลายชิ้นที่ทำจากปูนปลาสเตอร์และก็เริ่มจะผุเปื่อยไปหากปล่อยไว้คงสูญหายไป เลยอยากจะทำจัดเก็บผลงานให้เป็นระบบสากลเลย และพอดีได้ไปปรึกษากับ อ.สุรสีห์ กุศลวงศ์ จึงเกิดเป็นโครงการบันทึกจัดเก็บ(ทำ Archive)ผลงานของคุณพ่อในครั้งนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการรวบรวมผลงานที่หล่อขึ้นมาใหม่จากต้นแบบแล้ว ยังมีผลงาน ชุดลูกสาว ผลงานชุดสุดท้ายที่คุณพ่อได้ทำไว้ก่อนที่จะจากโลกนี้ไป”
ซึ่งโดยปกติแล้ว ผลงานประติมากรรมของอาจารย์ ชลูด ที่เราพบเห็นได้ตามพื้นที่สาธารณะนั้นจะมีขนาดใหญ่ ในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ผลงานเหล่านั้น ได้ถูกนำเสนอใหม่ในลักษณะของประติมากรรมต้นแบบขนาดเล็กที่สูงไม่กี่สิบเซ็นติเมตร
ดร.พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นอีกท่านหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็น แฟนพันธ์ุแท้ ของ อ.ชลูด นิ่มเสมอ ที่ติดตามผลงานของ อ.ชลูด ตั้งแต่สมัยที่ตนเองยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2521 จนกระทั่งเมื่อสิบปีที่ผ่านมา ดร.พินิจ ได้ตัดสินใจเข้าไปหา อ.ชลูด ที่บ้านและไปพูดคุยกันจนกระทั้งเกิดความสนิทกันทางความคิด และ ไปมาหาสู่ติดต่อกันมาจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิตอ.ชลูด โดย ดร.พินิจ ได้เล่าเกี่ยวกับลักษณะนิสัยของ อ.ชลูด ให้เราฟังว่า
“ท่านเป็นคนเอาจริงเอาจังกับทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อศึกษาเรื่องอะไรแล้ว ท่านจะทุ่มเท และ ศึกษาอย่างลึกซึ้ง อย่างเช่น อาจารย์ ชลูด จะวาดรูปที่วิวหลังบ้าน ท่านวาดต้นไม้แต่ละต้น ใบไม้แต่ละใบ วาดทุกวัน วาดแล้ววาดอีก ท่านอาจารย์เคยเล่าให้ผมฟังว่า ท่านวาดจนท่านรู้นิสัย และ เข้าถึงจิตวิญญาณของมัน และสุดท้ายมันจะตอบโต้กลับมา และ ท่านก็เป็นคนพูดตรงมาก คิดอย่างไรพูดอย่างนั้น จนบางทีนักศึกษาจะนึกว่าท่านเป็นคนดุ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เลย ท่านแค่เป็นพูดตรงๆ ”
นอกจากนี้เรายังทราบจาก ดร.พินิจ ว่า อ.ชลูด ชอบฟังเพลงของ วิตนีย์ ฮิวสตัน
บุญชัย เบญจรงคกล ผู้ก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย หรือ Museum of Contemporary Art (MOCA BANGKOK) เป็นอีกหนึ่งท่านที่เคยได้พูดคุย และ เสวนา เรื่องราวของศิลปะกับ อ.ชลูด ซึ่ง บุญชัย ได้บอกกับ baanlaesuan.com ว่า
“จริงๆแล้วที่ผมเปิด MOCA เพราะมีท่านอาจารย์ชลูด เป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งตอนที่ผมกำลังจะเปิดนั้น ก็มีคนแนะนำให้เปิดแบบนั้นแบบนี้ โดยอาศัยแนวทางจากพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ พอได้มาคุยกับ อาจารย์ชลูด ท่านบอกว่า พิพิธภัณฑ์นี่มันเป็นของใครหละ? ของคุณ บุญชัย ใช่ไหม? ก็เปิดไปตามที่ชอบก็พอ ตอนนั้นผมฟังแล้ว รู้สึกทันทีว่าได้ข้อคิดที่มันกระจ่าง เลยเปิดอย่างที่ MOCA เป็นอยู่ทุกวันนี้”
นอกจากการจัดนิทรรศการครั้งนี้แล้ว ทาง Chalood Nimsamer Collection and Archive ยังได้จัดทำหนังสือภาพ รวมผลงานจิตรกรรมของ อ.ชลูด ซึ่งมีทั้งหมด 5 เล่มด้วยกัน หากใครสนใจไปติดต่อสั่งซื้อได้ที่ Facebook ของ Chalood Nimsamer Collection and Archive ดร.ประติมา แอบกระซิบกับเรามาว่า ในอนาคตเตรียมที่จะจัดทำชุดหนังสือรวมภาพผลงานประติมากรรมของคุณพ่อเช่นกัน
สำหรับใครที่อยากจะชมผลงานเหล่านี้ของจริง อย่างใกล้ชิด โอกาสมาถึงแล้ว เพราะ นิทรรศการ Edition of Small Sculpture Collection ได้เตรียมเปิดให้สาธารณชนได้ชมกันเป็นครั้งแรก ที่งาน บ้านและสวนแฟร์ 2018 MASSCLUSIVE ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 2-3 บริเวณพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ ThaiBev Art Gallery by Ardel Gallery โดยจะจัดแสดงร่วมกับศิลปินอีก 2 ท่านคือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิต และคุณชลิตา ตันติวิชญ์โกศล ระหว่างวันที่ วันที่ 26 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2561 เท่านั้น
เรื่อง สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์
ภาพ สิทธิศักดิ์ น้ำคำ