เคยมีชาวต่างชาติหันมาถามผมหลังสิ้นเสียงแตรขอทางจากวินมอเตอร์ไซต์ใจร้อนคนหนึ่งว่า “คนที่นี่ (คนไทย) เขาขับขี่รถบนทางเท้า บีบแตรไล่คนจนกลายเป็นเรื่องปกติแล้วเหรอ?” ผมเองก็พูดไม่ออกแต่ก็อดปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นการสร้างภาพจำใหม่ ๆ ในด้านลบให้อาคันตุกะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
ดังนั้นหากเราถามใครออกไปว่า เมื่อนึกถึงความเป็นไทย คุณนึกถึงอะไรเป็นสิ่งแรก ? จึงไม่ใช่เรื่องผิดแปลกหากจะมีใครตอบว่า กรุงเทพเมืองหลวงของไทยรถติดสุดๆ ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกถ้าจะมีใครจะตอบว่าความสวยงามของ วัดวาอาราม และ สถาปัตยกรรมโบราณ ต่างๆ หรือ จะเป็นรถแท็กซี่หลากสีพร้อมของประกอบในรถอันเป็นเอกลักษณ์อย่าง การบูร พวงมาลัย หรือ ตุ๊กตาต่างๆ ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวยามราตรีที่เต็มไปด้วยสีสัน นั่นเพราะปัจเจกชนต่างมีมุมมองไม่เสมอเหมือนต่อ ความรู้สึก และมีประสบการณ์ในการพบเจอสิ่งต่าง ๆ ไม่เท่ากัน จึงไม่ใช่เรื่องผิดที่ใครจะตีความ “ความเป็นไทย” ออกมารูปแบบไหนในเชิงความคิด แม้กระทั่งในงานศิลปะเองก็ตาม
ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale 2018) มีศิลปินหลายคน นำเสนอความเป็นไทยจากต่างมุมมองผ่านผลงานศิลปะสุดสร้างสรรค์ ในกลวิธีที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ใช้การตั้งคำถาม หรือ ใช้ความสนุก หรือ ใช้ประวัติศาสตร์เล่าเรื่อง ซึ่ง วันนี้ baanlaesuan.com ขอพาทุกท่านไปดูกันว่าศิลปินเหล่านี้มีความคิด หรือมุมมองต่อความเป็นไทยอย่างไรจากงานศิลปะของพวกเขา
ไทย ไทย ในเชิงสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นอัตลักษณ์
ตู้ไม้สักตามบ้านไทยโบราณหรือบ้านของคนยุคเก่าที่ตกทอดมาสู่รุ่นต่อมาของตระกูล เหล็กที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรม แจกันลายไทยที่มีวางขายตามตลาดหรือมักพบได้ตามวัดเพราะใช้ปักดอกไม้สดเวลาทำบุญ สิ่งเหล่านี้ล้วนเคยผ่านตาเรามาตลอดเวลาจนกลายเป็นความคุ้นชิน เช่นเดียวกับศิลปินไทยชาวอยุธยาที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่ เหิร ต่อลาภ ลาภเจริญสุข เติบโตมากับการเห็นสิ่งของเหล่านี้ในบ้านอาม่า แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้สร้างยานอวกาศจากวัตถุเหล่านี้ขึ้นมาเป็นผลสำเร็จ
ในเทศกาลครั้งนี้ต่อลาภนำผลงานลายเซ็นสร้างชื่อของเขาชิ้นใหม่ ‘Spiritual Spaceship 2018’ ที่ประกอบขึ้นจากวัตถุที่หาได้ทั่วไปในชุมชนอย่าง เช่น ตู้ไม้สักเก่า, แจกัน, เหล็ก, ทองแดง, เสียม, จอเมอร์นิเตอร์ และ หลอดไฟอิเล็คทรอนิกส์ มาประกอบร่างกลายเป็นยานอวกาศลำใหญ่ซึ่งมี ขนาด 485 x 815 x 349 ซม. ต่อลาภหมายมุ่งความสนใจเรื่องการสร้างสรรค์ผลงานที่เกี่ยวข้องและปฏิสัมพันธ์ระหว่างงานศิลปะกับผู้ชมเสมอมา หลายผลงานของเขาจึงสะดุดตาตั้งแต่แรกพบ และสร้างความน่าทึ่งจากวัตถุที่เขาหยิบใช้ได้เสมอเช่นกัน ผลงานของเขาไม่เพียงกระตุ่นต่อมความทรงจำของคนที่ผ่านประสบการณ์คล้ายๆ กันมาก่อนเท่านั้น หากแต่ยังบ่งบอกถึงแนวคิดการส่งต่อสิ่งของที่แม้จะดูเก่า ไทย ไทย ไม่น่าเข้ากับยุค ซึ่งเมื่อนำมาสร้างสรรค์อย่างดีแล้วต่อยอด สร้างประโยชน์ได้อีกมาก
อีกหนึ่งผลงานจากศิลปินต่างชาติในบริบทความเป็นไทย และเป็นหนึ่งในแม่เหล็กของงานครั้งนี้ที่ไม่ควรพลาด Basket Tower งานประติมากรรมจากตระกร้าพลาสติก ความสูงเท่าตึก 5 ชั้น โดย ศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหญ่ชาวเกาหลีใต้ ชเว จอง ฮวา ตะกร้าหลากสีสันที่เราพบเห็นได้บ่อยตามท้องตลาด ชเว ไปเดินเลือกมาเองกับมือ ! ศิลปินผู้มีความสามารถหลากหลาย ทำงานกราฟิกดีไซน์ ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง แฟชั่น และงานออกแบบ ศิลปะของชเวขับเคลื่อนด้วยความสุข และแรงบันดาลใจจากวัตถุในชีวิตประจำวัน โดยฉพาะวัสดุรีไซเคิล ผลงานชิ้นนี้บอกเล่าแนวคิดของเขาได้ดี และเข้ากันดีเหลือเกินกับบริบทความเป็นไทย แบบที่ใครก็ไม่คิดจะนำตะกร้ามาสร้างสรรค์อะไรแบบนี้มาก่อน
ไทย ไทย ใน ประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม
ปานพรรณ ยอดมณี ศิลปินสื่อผสม รุ่นใหม่ไฟแรงที่มีผลงานแสดง และ ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติมาแล้วมากมาย ขณะที่เธอวัยเพียง 29 ปี เธอเป็นศิลปินไทยเพียงไม่กี่คน ที่ได้คว้ารางวัลใหญ่อย่าง “11th Benesse Prize” ซึ่งต้องแข่งขันกับ 63 ศิลปิน จาก 19 ประเทศทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียใต้ ในเทศกาลศิลปะนานาชาติ “Singapore Biennale 2016 ” ซึ่งนอกเหนือจากเงินรางวัลที่ได้ร้บแล้ว เธอยังได้โอกาสเดินทางไปแสดงผลงานที่ Benesse Art Site บนเกาะนาโอะชิมะ ประเทศญี่ปุ่น
สำหรับเทศกาลครั้งนี้ ปานพรรณ ได้เนรมิต เขามอทั้ง 6 ลูก ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ให้เป็นพื้นที่สร้างผลงานจิตรกรรมลอยตัวแนวตั้งสูงเกือบ 2 เมตร ซึ่งจะถูกจัดวางเข้าคู่ กับรูปปั้นฤาษีดัดตนและตุ๊กตาอับเฉาบริเวณเขามอ ในวัดโพธิ์ ผลงานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพ เขียนฝาผนังในวัดแห่งนี้ โดยจะถ่ายทอดภาพการ เดินทางติดต่อค้าขายระหว่างสยามและจีน การเดิน ทางแสวงบุญ ความแตกต่างด้านศรัทธา และชาติพันธุ์ โดย ปานพรรณ ได้ให้สัมภาษณ์กับ baanlaesuan.com ว่า “ผลงานในครั้งนี้ อยากจะให้สื่อถึงความผสมผสานกันของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งการทำงานในครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะเราคิดว่าจะทำให้ยังไงให้ เขามอ คงสภาพเดิมไว้ โดยผลงานเราต้องกลมกลืน กับ พื้นนี้เพื่อสื่อถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่ลงตัว” ซึ่งต้องบอกได้ว่าเธอประสบความสำเร็จกับความคิดดังกล่าวจริงๆ เพราะขณะที่เราลงพื้นที่ไปนั้น พบเจอชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากที่แยกไม่ออกเลยว่าส่วนใดคือส่วนงานศิลปะส่วนใดคือส่วนของเขามอดั่งเดิม เพราะทุกอย่างดูสวยงามและกลมกลืนกันจริงๆ
เฉกเช่นเดียวกับ คมกฤษ เทพเทียน ศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรงที่หลงใหลในเรื่องศาสนาและประวัติศาสตร์ ที่พาผู้ชมย้อนไปสู่การผสมผสานวัฒนธรรมในยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยผลงานประติมากรรมสู่ง 3.2 เมตรในชื่อ Giant Twins หรือ สองเกลอ เป็นรูปตานักรบจีนรวมร่างกับยักษายืนปักหลั่นอยู่ในศาสนาสถาน นอกจากนี้ หวง หย่ง ผิง สุดยอด ปรมาจารย์ ศิลปินหัวก้าวหน้าของจีนผู้ก่อตั้งกลุ่ม “เซียะเหมิน ดาดา” (Xiamen Dada) ยังใช้ประเด็นของชาวจีนที่ผลัดถื่นมาที่ไทยมาสร้างผลงานศิลปะเรื่องมังกรที่มีความยาว 16 เมตร ในเทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ครั้งนี้
ไทย ไทย ในเชิงสิ่งแวดล้อม
ปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ ศิลปินรุ่นใหม่ที่มีมุมมองต่อสิ่งรอบตัวที่เป็นเอกลักษณ์ และ เชี่ยวชาญการสร้างผลงานออกมาหลายแขนง ทั้งงานประติมากรรม ศิลปะจัดวาง และ ศิลปะการทำสิ่งทอ ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ครั้งนี้ ผลงานของเขาจะเปิดประสบการณ์ให้กับผู้เข้าชมงาน ได้เข้าสู่ 2562++ ห้องแล็ปแห่งอนาคตที่จะจัดแสดง ประติมากรรมรูปสัตว์ต่างๆที่หากินตามริมแม่น้ำ ไม่ว่าจะเป็น ปลา นก และ กุ้ง ซึ่งแต่ละชนิดนั้นมีสภาพทางกายภาพ และ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อมซึ่งได้รับผลจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งอีกศิลปินที่หยิบยกประเด็นสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำของประเทศไทยมานำเสนอคือ ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษ ด้านวิจิตรศิลป์และเป็นหัวหน้าสาขาวิชาจิตรกรรม ที่ UCL Slade School of Fine Art “แอนดรูว์ สตาห์ล” ผลงานประติมากรรม Pyramid Shape Sculpture ที่สูงเกือบ 2 เมตร สร้างชึ้นจากเศษของเล่นและวัตถุที่เก็บได้ จากฝั่งแม่น้ํา และ สาดสีสันซึ่งส่วนใหญใช้สีโทนร้อน เพื่อสะท้อนถึงปัญหาแม่น้ําเน่าเสียในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีผลงานจิตรกรรมที่บอกเล่าเรื่องราวแห่งการเดินทางท่ามกลางวัฒนธรรมต่างชาติต่างภาษา เพื่อ สะท้อนถึงกรุงเทพฯ ในหลายๆ มุมมอง ทั้งในเชิง กายภาพและพลังงานที่หมุนเวียนอยู่ในเมือง โดย ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษท่านนี้ ได้กล่าวถึงผลงานของเขาว่า “การได้ล่องแม่น้ําเจ้าพระยาให้ประสบการณ์ คล้ายๆ กับการย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาที่ชาวยุโรป ค้นพบชาวสยามผู้ใช้ชีวิตอยู่บนผืนน้ําแห่งนี้” ทุกท่านสามารถไปชมผลงานของ ปฏิพัทธิ์ และ ศาสตราจารย์ แอนดรูว์ ได้ที่ อาคาร อีสต์ เอเชียติก
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานจากศิลปินที่เข้าร่วมจัดแสดงในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 เท่านั้น เชิญไปชมงานศิลป์อีกกว่า 200 ชิ้น โดย 75 ศิลปิน จาก 34 ประเทศทั่วโลก บนพื้นที่ 20 แห่งใจกลางกรุงเทพ ได้ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2561 – 3 กุมภาพันธ์ 2562
เรื่อง: ND
จัดเต็ม Checklist! 30 งานศิลป์ห้ามพลาด ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ชอบแนวไหน ไปชมเลย (พร้อมแผนที่)
พบกับเรื่องราวของ อาคาร อีสต์ เอเชียติก หนึ่งในสถานที่จัดแสดงผลงานศิลปะ ใน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
หวง หย่ง ผิง ปรมาจารย์ แห่ง ความขบถ ย้อนแย้ง และ การพลัดถิ่น ใน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x