พรรณไม้หลายชนิด โดยเฉพาะไม้ต้นขนาดใหญ่ที่ปลูกทั่วไปตามสวนสาธารณะ หรือริมถนนในเมืองไทย เมื่อออกดอกพร้อมกันสะพรั่งกลายเป็นภาพที่สวยงามจับตา หลายชนิดมีลักษณะคล้ายกันมากจนบางครั้งทำให้สับสน อย่าง ตะแบก เสลา อินทนิล ไม่แน่ใจว่าต้นที่เห็นและต้องการซื้อกลับไปปลูกที่บ้านบ้าง ใช่ชนิดเดียวกันหรือไม่
ต้นที่มีดอกเป็นช่อสีชมพูอมม่วง อย่าง ตะแบก เสลา อินทนิล ซึ่งต่างก็เป็นสมาชิกในวงศ์ Lythraceae เราจึงมักเข้าใจผิดและเรียกชื่อสลับกันอยู่บ่อยครั้ง บ้านและสวน จึงนำลักษณะที่เหมือนและแตกต่างของพันธุ์ไม้เหล่านี้มาเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนกันมากขึ้น
เสลา หรืออินทรชิต ตะแบกขน
เสลาใบใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lagerstroemia loudonii Teijsm. & Binn.
ลักษณะ : เป็นไม้ต้นผลัดใบ สูง 10 – 20 เมตร เปลือกลำต้นสีเทาเข้มเกือบดำ ผิวขรุขระ มีรอยแตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว ปลายกิ่งย้อยลู่ลงต่ำ
ใบ : ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 6 – 10 เซนติเมตร ยาว 16 – 24 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลมเป็นติ่ง โคนใบมน แผ่นใบค่อนข้างหนา มีขนนุ่มทั้งสองด้าน
ดอก : ออกเป็นช่อแยกแขนงตามกิ่งดูเป็นกลุ่มก้อน ตามง่ามใบและปลายกิ่ง เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 3 – 4 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 5 – 8 กลีบ กลีบดอก 6 กลีบ ทรงกลม โคนคอดเป็นก้านสั้น ๆ มีหลายสี เช่น สีม่วง ม่วงอมแดง ขาว หรืออาจมีทั้งสีขาวและม่วง กลีบดอกบาง ยับย่น ขอบกลีบย้วย ออกดอกเดือนธันวาคม – มีนาคม
ผล : ผลรูปกลมรี ยาว 1.5 – 2 เซนติเมตร เปลือกแข็ง เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำและแตกออกเป็น 5 – 6 พู เมล็ดจำนวนมาก สีน้ำตาลเข้ม มีปีก
การปลูก : ชอบแดดเต็มวัน ทนแล้ง นิยมปลูกในสวนริมถนนและทางเดิน
ตะแบก
ตะแบก
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lagerstroemia floribunda Jack var.floribunda
ลักษณะ : เป็นไม้ต้นผลัดใบสูง 15-20 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นมัน สีเทามีรอยเป็นวงสีขาวรอบต้นคล้ายเปลือกต้นฝรั่ง
ใบ : เดี่ยวเรียงสลับ รูปใบหอก กว้าง 5 – 8 เซนติเมตร ยาว 12 – 20 เซนติเมตร ปลายใบมน มีติ่งแหลมเล็ก โคนใบสอบ ใบอ่อนสีแดงและมีขนปกคลุม ใบแก่เกลี้ยง
ดอก : ดอกออกเป็นช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่งโค้งชูเหนือเรือนยอด แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 – 2.5 เซนติเมตร กลีบดอก 6 กลีบ กลีบบางย่น บานวันแรกสีม่วงอมชมพู ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีขาว ออกดอกเดือนกรกฎาคม – กันยายน
การปลูก : ชอบแดดเต็มวัน ทนแล้ง โตช้า นิยมปลูกริมถนนทางเดิน และริมบ่อน้ำ
อินทนิลน้ำ
อินทนิล หรืออินทนิลน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lagerstroemia speciosa(L.) Pers.
ลักษณะ : เป็นไม้ต้นผลัดใบ สูง 10 – 25 เมตร เปลือกลำต้นสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน ผิวค่อนข้างเรียบ อาจตกสะเก็ดเป็นแผ่นบาง ๆ บ้างเล็กน้อย
ใบ : ปลายใบแหลแผ่นใบค่อนข้างหนาเป็นมันทั้งสองด้านไม่มีขน
ดอก : ดอกออกเป็นช่อตั้งที่ปลายกิ่ง ดอกสีม่วงสด ม่วงอมชมพูหรือชมพู และสีจะซีดจางลง เมื่อดอกโรย ออกดอกเดือนมีนาคม-มิถุนายน
การปลูก : ชอบแดดเต็มวัน ทนแล้ง นิยมปลูกริมถนนทางเดินและริมบ่อน้ำ
วิธีการแยกต้นไม้สามชนิดให้ออก
ลำต้น
“เสลาเปลือกแตก ตะแบกเปลือกหลุด อินทนิลเปลือกเรียบ”
เสลา : เปลือกต้นสีเทาเข้มเกือบดำ ผิวขรุขระ มีรอยแตกเป็นทางยาว
ตะแบก : เปลือกต้นเรียบเป็นมันสีเทา มีรอยหลุดเป็นวงสีขาวรอบต้น
อินทนิล : เปลือกลำต้นสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน ค่อนข้างเรียบ อาจจะตกสะเก็ดเป็นแผ่นบางๆ บ้างเล็กน้อย
ใบ
เสลา : ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลมเป็นติ่ง โคนใบมน แผ่นใบค่อนข้างหนา มีขนนุ่ม กิ่งย้อยลู่ลงสู่พื้น
ตะแบก : ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปใบหอก ปลายใบมน มีติ่งแหลมเล็ก มีขนปกคลุม ใบแก่เกลี้ยง
อินทนิล : ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันหรือออกเยื้องกันเล็กน้อย ลักษณะของใบเป็นรูปทรงขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ส่วนปลายใบเรียวและเป็นติ่งแหลม เกลี้ยงและไม่มีขน
เรื่อง : อังกาบดอย
ภาพ : คลังภาพสำนักพิมพ์บ้านและสวน