บ้านเหล็กและไม้ที่นำรูปแบบของ บ้านไทยที่มีใต้ถุนสูงมาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทโดยรอบหลังนี้ เป็นบ้านพักที่มีการใช้งานค่อนข้างเฉพาะตัว โดยนำองค์ประกอบและความสงบในแบบวัดมาหลอมรวมให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของบ้านได้อย่างน่าสนใจ
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: PO-D Architects
คุณทอม-พหลไชย เปรมใจ สถาปนิกแห่งบริษัทสถาปนิกพอดี จำกัด กล่าวถึงแนวทางการออกแบบ บ้านไทยพื้นถิ่น หลังนี้ที่มีชื่อว่า “บ้านลอยลม” ไว้ว่า “โจทย์ที่ได้มาคือการสร้างบ้านพักผ่อนเพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมในช่วงวันหยุด ตัวบ้านตั้งอยู่ภายในโครงการบ้านไร่ทอสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา การออกแบบจะเน้นการตัดอะไรที่ไม่จำเป็นออก เพราะเจ้าของบ้านอยากให้ได้อารมณ์เหมือนเข้ามาในวัดแล้วเจอศาลา ภายในบ้านจึงมีศาลาพระ พื้นที่เดินจงกรมและนั่งสมาธิ เพื่อรองรับกัลยาณมิตรที่มาร่วมปฏิบัติธรรม” บ้
านไทยพื้นถิ่
นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ต้องคำนึงถึงอีกสองข้อ ข้อแรกเจ้าของบ้านชื่นชอบบ้านไทย แต่ต้องการใช้เหล็กเป็นวัสดุโครงสร้าง เนื่องจากทางบ้านทำธุรกิจเกี่ยวกับเหล็ก อีกข้อคือกฎของหมู่บ้านที่ห้ามไม่ให้ถมที่จนสูง เนื่องจากต้องการคงสภาพพื้นที่ดั้งเดิมเอาไว้ การออกแบบจึงเริ่มต้นจากโครงสร้างเหล็กก่อน โดยดึงเอาลักษณะบ้านไม้แบบไทยๆ เข้ามาผสมผสาน ประกอบด้วยการมีใต้ถุนสูง เสาโชว์แบบลอยตัวที่แยกออกจากโครงสร้าง การจัดวางพื้นที่ใช้งานเป็นส่วนๆ โดยแยกออกจากกัน แล้วเชื่อมต่อด้วยที่ว่าง หลังคาที่คลี่คลายมาจากความเป็นหลังคาจั่ว ซึ่งมีทั้งแยกออกจากกันและเชื่อมเป็นหลังคาผืนใหญ่ เสริมด้วยองค์ประกอบอื่นๆ อาทิ บานเปิด ระแนง ช่องแสง บานเฟี้ยมที่มีกลิ่นอายความเป็นบ้านไทยพื้นถิ่นแต่ได้รับการจัดระเบียบใหม่ให้ดูโมเดิร์นขึ้น
สำหรับการวางแปลน ศาลาพระถือเป็นจุดสำคัญที่เปรียบเสมือนเรือนประธาน สามารถมองเห็นได้จากทุกห้อง แต่มองไม่เห็นจากถนนด้านนอกบ้าน เพื่อคงความเป็นส่วนตัว คุณทอมได้บิดแกนทางเดินเข้าเล็กน้อยเพื่อกำหนดมุมมองที่ต้องการ พร้อมทั้งทำผนังอิฐกั้น โดยเลือกใช้อิฐดินเผาจากลำปางซึ่งมีสีค่อนข้างอ่อน ดูสบายตาเมื่อเทียบกับอิฐจากแหล่งอื่น รายละเอียดของผนังยังประกอบด้วยการเจาะช่องเปิดที่มีรูปทรงที่ได้แรงบันดาลใจจากวัด แต่นำมาวางองค์ประกอบใหม่ในแบบที่ต่างกันทั้งขนาดและการจัดวางจังหวะที่ไม่เป็นระเบียบนัก
เพื่อให้บรรยากาศของบ้านดูไม่เคร่งขรึมจนเกินไป เช่นเดียวกับการสร้างระแนงไม้ในหลายจุดเพื่อให้บ้านดูอบอุ่น อีกทั้งเป็นช่องแสงและช่องลมโปร่งๆ ในจังหวะที่พอเหมาะพอดีด้วย โดยเฉพาะระแนงในส่วนศาลาพระซึ่งต้องแก้ปัญหาเรื่องไม้บิดงอ แม้จะเป็นไม้ที่ผ่านการอบมาอย่างดีและมีความหนาพอสมควร แต่เมื่อติดตั้งในพื้นที่จริงก็ยังมีการโก่งตัวบิดงอ คุณทอมจึงใช้เชือกยึดทุกแผ่นอย่างแน่นหนา แล้วทิ้งไว้สักพักเพื่อให้ไม้ปรับสภาพกับพื้นที่จริง ก่อนที่จะคลายเชือกออก นอกจากนี้พื้นผิวไม้ก็ไม่ได้ทาแล็กเกอร์เคลือบ เพราะต้องการให้สีไม้เป็นธรรมชาติและดูแลรักษาง่าย จึงลงเพียงแค่น้ำยารักษาเนื้อไม้ โดยไม่ต้องคอยกังวลเรื่องการหลุดลอกหรือสีไม้เปลี่ยนไปจากแบบดั้งเดิม
เดิมทีบ้านหลังนี้แทบไม่มีเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเลย เนื่องจากต้องการทำเป็นลานโล่ง แต่เมื่อเจ้าของบ้านเข้ามาใช้งานก็รู้สึกประทับใจบ้านหลังนี้มากจนมาแทบทุกวันหยุด จึงต้องเพิ่มเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเข้ามาในภายหลัง ขณะที่เส้นทางเดินจงกรมจะอยู่บริเวณใต้ถุนบ้านรวมไปถึงด้านข้างบ้านที่กำหนดระยะไว้ที่ 22 ก้าว
ขณะที่เราอยู่ในบ้านหลังนี้ โดยเฉพาะบริเวณห้องนั่งเล่นซึ่งเป็นเสมือนชานร่มมีหลังคา ก็สามารถรับรู้ได้ถึงลมเย็นและอากาศที่ไหลเวียนผ่านรอบตัวได้เป็นอย่างดี นับเป็นความสำเร็จของการวางผัง สร้างหลังคา และทำช่องเปิดขนาดใหญ่ที่ถูกต้องตามภูมิปัญญาการสร้างบ้านแบบไทยพื้นถิ่น ซึ่งสามารถนำวัสดุสมัยใหม่อย่างเหล็กมาผสมผสานได้อย่างลงตัว โดยมีสถาปนิกเป็นผู้รวบรวมองค์ความรู้และควบคุมทุกอย่างให้ตอบโจทย์การใช้งานได้ดีตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย
ออกแบบ: บริษัทสถาปนิกพอดี จำกัด โดยคุณพหลไชย เปรมใจ
เรื่อง : สมัชชา วิราพร
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
l l l l l l l l l