บ้านอิฐชั้นเดียว ที่มีช่องลมหมุนเวียนช่วยประหยัดพลังงาน
บ้านอิฐชั้นเดียว ออกแบบให้มีโครงสร้างรับกับเส้นสายของภูเขา และเปิดพื้นที่ภายในให้โปร่ง พร้อมช่องลมหมุนเวียนให้บ้านอยู่สบายโดยไม่ต้องเปิดแอร์นอิฐแดง
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Anghin Architecture
ถ้าเบื้องหน้าคือผืนเขาที่เขียวครึ้มไปด้วยต้นไม้พร้อมมีแนวแม่น้ำไหลผ่านกั้นกลางไว้ก็คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการมีบ้านสักหลังในขนาดกะทัดรัดไว้พักพิงและผ่อนคลายอย่างสงบสุข เพื่อซึมซับเอาความงามของธรรมชาติรอบตัวนี้มาเปลี่ยนให้กลายเป็นพลังชีวิตที่สดชื่นในทุกๆ วัน บ้านอิฐชั้นเดียว
เจ้าของบ้านหลังนี้เองก็คงรู้สึกไม่ต่างกันเมื่อตัดสินใจสร้างบ้านพักผ่อนขึ้นบนที่ดินผืนนี้ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ในจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีผืนป่าอันร่มรื่นของอุทยานแห่งชาติเอราวัณตั้งอยู่เบื้องหน้า เพื่อใช้เป็นที่เติมพลังชีวิตหลังเหนื่อยล้าจากการทำงานในเมืองมาตลอดสัปดาห์
“ปกติทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็เจอกับมลภาวะและเสียงดังที่รบกวนมามากแล้ว เวลามาพักผ่อนที่บ้านหลังนี้เลยอยากอยู่เงียบๆ กับแสงและลมธรรมชาติ ซึ่งทุกครั้งที่มาเราก็รู้สึกและสัมผัสได้ถึงธรรมชาติอย่างเต็มที่จริงๆ” เธอจึงขอให้ คุณเฟี้ยต – เอกสิทธิ์ แจ้งอ่างหิน สถาปนิกแห่ง Anghin Architecture ช่วยออกแบบบ้านชั้นเดียวที่เน้นการประหยัดพลังงานและอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติให้มากที่สุด
คุณเฟี้ยตเล่าถึงความคิดแรกเมื่อมาเห็นที่ดินบริเวณนี้ว่า “ด้วยวิวของภูเขาและแม่น้ำที่สวยมาก ทำให้เลือกสร้างบ้านที่เปิดมุมมองออกทางวิวนี้ แม้ว่าจะเป็นทิศตะวันตกซึ่งต้องปะทะกับแดดแน่ๆ แต่เส้นขอบของภูเขาเบื้องหน้าก็ดูน่าสนใจเกินกว่าจะเมินหน้าหนี ผมเลยนำเส้นโครงของภูเขามาออกแบบเป็นเส้นโครงสร้างของตัวบ้านให้รับกัน โดยทำเป็นบ้านชั้นเดียวที่ไม่สูงมาก เพื่อไม่ให้ตัวบ้านบังวิวภูเขาด้วย และพยายามเปิดพื้นที่ภายในให้โปร่งและมองผ่านไปสู่ธรรมชาติได้ง่าย ที่สำคัญคือแก้ปัญหาเรื่องแดดโดยใช้หลักการระบายอากาศตามธรรมชาติมาใช้เป็นแนวทางการออกแบบบ้าน”
ต้องเรียกว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากเพราะสภาพอากาศในฤดูร้อนของจังหวัดกาญจนบุรีนั้นค่อนข้างสูง สถาปนิกจึงออกแบบวางผังบ้านให้เป็นแนวยาวขนานไปกับแนวของแม่น้ำและภูเขา เพื่อให้ทุกห้องมีมุมมองที่เปิดออกสู่ธรรมชาติได้เท่าๆ กัน ทั้งยังใช้วิธีการแบ่งตัวบ้านออกเป็นเหมือนกล่องเล็กๆ ที่เชื่อมต่อกันด้วยสเปซทางเดินตรงกลาง แล้วจัดสรรฟังก์ชันให้แต่ละกล่องเป็นส่วนของห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องนอนหลัก และห้องนอนแขกที่เรียงกันไปบนพื้นที่ใช้สอยรวม 300 ตารางเมตร
ตัวบ้านแต่ละส่วนยังคั่นแยกไว้ด้วยสเปซว่างๆ ให้ลมธรรมชาติพัดผ่านตัวบ้านได้รอบทิศทางช่วยระบายลมร้อนและเป็นช่องทางหมุนเวียนให้ลมเย็นๆ ทั้งเกิดเป็นเงาอาคารพาดทับพื้นที่พักผ่อนส่วนอื่นๆ ไปในตัว ขณะเดียวกันตัวผนังของอาคารเองก็ยังใช้ผนังอิฐบล็อกสองชั้นที่เว้นช่องอากาศไว้ตรงกลาง (Air Gap) แล้วปิดผิวด้วยกระเบื้องดินเผาเทอร์ราคอตตา ซึ่งเป็นวัสดุท้องถิ่นและเป็นฉนวนที่ดีช่วยป้องกันความร้อนและรักษาความเย็นสบายภายในให้คงที่
“พอเราจัดการบล็อกความร้อนอย่างจริงจังแล้วก็เลยไม่กลัวแดด และไม่ตกแต่งอะไรข้างนอกเยอะ ผมอยากให้ทุกอย่างเปิดโล่งออกไปหาวิวได้ไม่ว่าจะอยู่ห้องไหนในบ้าน ส่วนเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวภายในเป็นของสะสมที่เจ้าของซื้อมาไว้อยู่แล้ว ทั้งจากบ้านในกรุงเทพฯและเพิ่มเติมเข้ามาตามการใช้งาน อย่างโซฟาตัวใหญ่ๆ ไว้นั่งสบาย เพราะเน้นที่ความสบายเป็นหลักครับ ส่วนสไตล์ก็ผสมผสานตามชอบในขนาดที่ไม่สูงจนบังวิวหรือบังลม”
นอกจากมุมพักผ่อนสบายๆ ภายในบ้านแล้ว ยังมีสระว่ายน้ำรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่วางขนานไปกับตัวบ้านใกล้กับแนวของแม่น้ำตามธรรมชาติ เป็นพื้นที่ที่ช่วยคลายวันร้อนๆ ให้สดชื่นขึ้นได้ โดยเฉพาะยามบ่ายที่น้ำในสระกำลังอุ่นดี เราจึงเห็นเจ้าของบ้านออกมานั่งจิบเครื่องดื่มเย็นๆ ที่เก้าอี้ริมสระก่อนที่จะลงไปว่ายน้ำออกกำลังกายและดื่มด่ำกับธรรมชาติที่อยู่รอบตัวอย่างมีความสุข
DESIGNER DIRECTORY : สถาปนิก : คุณเอกสิทธิ์ แจ้งอ่างหิน
บ้านอิฐชั้นเดียว
เรื่อง :ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ :ศุภกร ศรีสกุล