YAKISUGI

YAKISUGI ไม้เผาผิว ความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบของไม้ผิวหน้าไหม้ดำ

YAKISUGI
YAKISUGI

ไม้เผาผิว ความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบของไม้ผิวหน้าไหม้ดำ

อุปสรรคไม่กี่อย่างของการนำไม้มาใช้งานมักหนีไม่พ้นเรื่องของปลวก แมลง การยืดหด ความชื้น และการติดไฟ ในญี่ปุ่นมีวิธีการถนอมเนื้อไม้เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ ด้วยภูมิปัญญาโบราณที่เพิ่งกลับมานิยมอีกครั้งโดยเฉพาะในซีกโลกตะวันตก นั่นคือวิธีการเผาผิวหน้าของไม้ให้ไหม้ดำ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “Yakisugi” หรือ “Shou Sugi Ban”

ด้วยวิธีการที่เหมือนหนามยอกเอาหนามบ่ง โดยใช้เปลวไฟมาเผาผิวรอบนอกของไม้ให้ไหม้เกรียมเพื่อเปลี่ยนสภาพสารเคมีในเนื้อไม้ที่ประกอบด้วยเซลลูโลส (Cellulose) ซึ่งเป็นส่วนที่มีสารอาหารใช้ในการเจริญเติบโตของต้นไม้ มีความอ่อนนุ่มจึงเป็นที่โปรดปรานของแมลง แถมยังติดไฟง่าย เมื่อส่วนนี้ถูกเผาไหม้จนหมดก็จะเหลือแต่ส่วนที่เรียกว่าลิกนิน (Lignin) ซึ่งเป็นองค์ประกอบอินทรีย์ที่ทำหน้าที่เป็นผนังเซลล์ในโครงสร้างของต้นไม้ทำให้ต้นไม้ยืนต้นได้อย่างแข็งแรง เนื่องจากมีความทนทานจึงต้องใช้เวลานานกว่าจะติดไฟ ลิกนินที่ไหม้ดำจึงกลายเป็นฉนวนกันไฟไปโดยปริยายเพราะส่วนที่ติดไฟง่ายถูกเผาไปหมดแล้ว นอกจากนี้ระหว่างที่ใช้เปลวไฟในการเผาไหม้ ความชื้นที่อยู่ในเนื้อไม้ได้ถูกระเหยไปจนหมด ไม้ที่ได้จึงไม่ชื้น ช่วยลดปัญหาการยืดหดตัวของไม้ และป้องกันปลวกและแมลงได้อย่างดี นี่จึงเป็นวิธีการแปรรูปไม้ที่ตอบโจทย์ได้ทั้งการใช้งาน แถมเป็นวิธีแบบธรรมชาติ สามารถช่วยยืดอายุของไม้ได้ยาวนาน 80 – 100 ปีเลยทีเดียว

นอกเหนือจากคุณสมบัติที่น่าทึ่ง สิ่งที่ทำให้ไม้ยาคิสุกิเป็นที่นิยมไปทั่วโลกคือเอกลักษณ์ของพื้นผิวที่เกิดขึ้นหลังผ่านกระบวนการเผาไหม้ ซึ่งแบ่งวิธีการผลิตออกเป็น 2 แบบ คือแบบปล่อยผิวถ่านไว้ดังเดิม และแบบแปรงผิวถ่านออกแล้วทำผิวให้เรียบ

Yakisugi ไม้เผาผิว แบบปล่อยผิวถ่านไว้ดังเดิม
Yakisugi ไม้เผาผิวแบบปล่อยผิวถ่านไว้ดังเดิม
YAKISUGI
Yakisugi ไม้เผาผิวแบบแปรงผิวถ่านออกแล้วทำผิวให้เรียบ

สำหรับแบบที่ปล่อยผิวถ่านไว้เหมือนเดิมนั้นมักนิยมใช้กับงานภายนอก เนื่องจากพื้นผิวยังคงเป็นฝุ่นผง แม้จะใช้น้ำมันทาให้คงสภาพไว้ได้ แต่หากใช้มือลูบผงถ่านก็ยังสามารถติดมือกลับมาได้บางส่วน

ในขณะที่การแปรงผิวถ่านออกแล้วทำผิวให้เรียบเนียนกลับเป็นที่นิยมมากกว่า เนื่องจากวิธีนี้จะสามารถแสดงเสน่ห์ของผิวไม้ผสมกับสีที่เกิดจากการลุกไหม้ตามระยะเวลาที่แตกต่างกันได้อย่างดี การใช้แปรงช่วยปัดฝุ่นถ่านสีดำออกไปตามร่องลึกของไม้ตามน้ำหนักมือ ยังเป็นตัวช่วยกำหนดความอ่อน-เข้มของสีสันบนผิวไม้ เมื่อนำมาเคลือบผิวด้วยน้ำมันธรรมชาติซึ่งเป็นวิธีการดั้งเดิม หรือสารเคลือบผิวชนิดต่าง ๆ ก็จะยิ่งช่วยให้ลวดลายปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น เหมาะนำไปใช้ตกแต่งได้ทั้งภายในและภายนอก

บริษัท สถาปนิก ไอดิน
สำนักงานใหม่ของบริษัท สถาปนิก ไอดิน ตั้งอยู่ในซอยอินทามระ 26/1 ตัวสถาปัตยกรรมสีดำผุดขึ้นกลางวงล้อมของอาคารพาณิชย์รอบทิศ มีสีเขียวของต้นไม้ที่ปลูกเป็นแนวรั้วเบรกความขรึมของผิวอาคารสีดำจากไม้ยาคิสุกิ (Yakisugi) ให้จางลง จนดูถ่อมตนต่อบริบทที่มีความขัดแย้งของอาคารหลากหลายรูปแบบ
YAKISUGI
ร้าน WAGYUISM บนถนนอารีย์สัมพันธ์ซอย 5 ใช้ไม้ยาคิสึกิแบบปัดผิวถ่านออก แล้วเคลือบด้วยน้ํามัน มาออกแบบเป็นฟาซาดโดยเติมลูกเล่น การวางแพตเทิร์นให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกันไปตามองศา การมองเห็นจากถนนแต่ละด้าน (ออกแบบ : ACA)

เทคนิคนี้มีหลายคนนิยม DIY เองไม่น้อย แต่ก็ไม่ใช่วิธีที่จะสามารถทำได้ทันที ต้องใช้ความชำนาญและต้องรู้จักงานไม้พอสมควร ปัจจุบันมีโรงงานที่ผลิตไม้ยาคิสุกิเป็นระบบอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ที่สำคัญคือไม่ใช่ไม้ทุกชนิดจะสามารถนำมาใช้กับกระบวนการนี้ได้ เพราะวิธีการดั้งเดิมมักนิยมใช้เฉพาะไม้สน (Cypress) เท่านั้น

อีกทั้งเมื่อผ่านกาลเวลาไปนาน ๆ ไม้ย่อมเกิดการเปลี่ยนสภาพ ดังนั้นจึงต้องอาศัยการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ แม้แต่ความดำที่แทรกในเนื้อไม้ก็ย่อมซีดจางตามเวลา หากแต่ความไม่จีรังซึ่งแฝงอยู่ในความขรุขระของผิวไม้หลังปะทุเป็นถ่านนี่เองที่ช่วยสะท้อนความ “ไม่สมบูรณ์แบบ” ซึ่งเป็นหนึ่งในคติความงามของญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี


เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: นันทิยา , อนุพงษ์ , สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

MODERNISM CAFE
MODERNISM สถาปัตยกรรมกลิ่นกาแฟ คาเฟ่สุดเท่บนถนนสุทธิสารวินิจฉัย โดยสถาปนิกไอดิน