กฎหมายอาคาร(แบบเข้าใจง่าย) สำหรับคนที่กำลังจะสร้างบ้าน
ใครว่าเรื่อง กฎหมายอาคาร เป็นเรื่องยากเกินเข้าใจ และไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าของบ้านที่ต้องรู้เพราะมีสถาปนิกเป็นผู้ออกแบบบ้านและคำนึงถึงข้อกฎหมายต่างๆ ให้แล้ว ความคิดเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง
หนังสือ สร้างและต่อเติมบ้านอย่างรู้กฎหมาย
เหตุที่บอกว่าการรู้ กฎหมายอาคาร เป็นเรื่องจำเป็นนั้น เมื่อเราได้แบบบ้านจากสถาปนิก ขั้นตอนต่อมาคือการยื่นแบบขออนุญาตก่อสร้างต่อสำนักงานเขต เมื่อผ่านการอนุญาตก่อสร้างจึงเป็นหน้าที่ของผู้รับเหมาสร้างบ้านที่จะต้องก่อสร้างตามแบบที่สถาปนิกออกแบบไว้ ซึ่งขั้นตอนนี้มักจะมีความผิดเพี้ยนจากที่ออกแบบไว้ ทั้งมาจากการพยายามลดต้นทุนก่อสร้างของผู้รับเหมา ร่นระยะเวลาให้เร็วขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ตัวเจ้าของบ้านเองต้องตรวจสอบอย่างใกล้ชิดและควรรู้ข้อกฎหมายก่อสร้างหากมีกรณีที่ผู้รับเหมาสร้างบ้านไม่ตรงแบบที่วางไว้ ซึ่งหากบ้านที่กำลังสร้างอยู่นี้กลายเป็นบ้านที่ผิดกฎหมายอาคาร จะเกิดปัญหายืดยาวตามมาอย่างแน่นอน 10 ข้อกฎหมายเบื้องต้นสำหรับคนที่กำลังจะสร้างบ้านต้องรู้มีอะไรบ้าง ไปดูกัน
•ดาวน์โหลดกฎหมายควบคุมอาคารฉบับเต็มได้ที่นี้
•กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบอาคาร
1 | สร้างบ้านชิดรั้วบ้านได้แต่ผนังบ้านรั้วต้องปิดทึบ
กรณีแรกที่เหมือนจะเป็นปัญหากับเพื่อนบ้านอยู่เสมอคือการที่มีบ้านอีกหลังใดหลังนึงต่อเติมหรือสร้างบ้านจนมาชิดรั้วบ้านเรา ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่จะสร้างบ้านแบบนี้ เจ้าของบ้านต้องได้รับการยินยอมจากเพื่อนบ้านเป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่ผนังบ้านจะต้องไม่มีหน้าต่าง ช่องลม ช่องแสงใดๆ เป็นเด็ดขาด แน่นอนว่ากรณีนี้ย่อมเกิดปัญหาวุ่นวายทีหลังเพราะเป็นธรรมดาว่าเพื่อนบ้านย่อมไม่ปรารถนาเช่นนั้น ซึ่งหากไม่อยากให้เรื่องยืดยาว ให้เว้นระยะห่างตัวบ้านจากรั้วบ้านหรือแนวดิน ไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตรแต่ยังคงต้องเป็นผนังทึบเช่นเดิม และอย่าลืมติดตั้งรางน้ำฝนให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันน้ำไหลลงฝั่งเพื่อนบ้านที่จะเป็นเหตุให้วิวาทกันภายหลังหลังด้วย
2 | ผนังบ้านที่มีประตูหน้าต่างต้องมีระยะห่างจากแนวรั้วอย่างน้อย 2 เมตร
ในกรณีที่ผนังบ้านมีประตูหน้าต่าง ให้รู้ไว้เลยว่าตัวบ้านชั้น 1 และชั้น 2 จะต้องอยู่ห่างจากรั้วอย่างน้อย 2 เมตร หากเป็นบ้าน 3 ชั้น ต้องอยู่ห่างจากรั้วอย่างน้อย 3 เมตร ซึ่งบางครั้งขนาดของที่ดินก็เป็นตัวกำหนดจำนวนชั้นของบ้านด้วยเช่นกัน เพราะหากมีที่ดินขนาดเล็กแต่พอเว้นระยะห่างชั้น 3 จากรั้วบ้านทุกด้านแล้วกลายเป็นว่าเหลือพื้นที่ใช้งานพียงน้อยนิดก็ย่อมไม่คุ้มหากจะสร้างบ้านถึง 3 ชั้นด้วยกัน
3 | จะสร้างบ้านเต็มผืนที่ดินไม่ได้
แม้ว่าจะมีที่ดินเพียงน้อยนิด แต่อยากได้พื้นที่ใช้สอยภายในตัวบ้านมากๆ นั้น สิ่งหนึ่งต้องรู้ไว้เลยคือจะสร้างบ้านจนเต็มที่ดินไม่ได้ ขอบเขตของตัวบ้านต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 70% ของที่ดิน โดยตัวบ้านจะเอียงฝั่งซ้าย ฝั่งขวา หรือด้านหลังก็ได้ ไม่ได้มีข้อบังคับใดๆ ส่วนอีก30%ที่เหลือสามารถจัดสรรเป็นพื้นที่อื่นๆ เช่นจัดสวน ปลูกต้นไม้ หรือทำบ่อปลาคาร์บก็ได้ขึ้นอยู่กับความชอบ
4 | จะสร้างบ้านล้ำเข้าไปในถนนสาธารณะไม่ได้
ข้อนี้เป็นที่แน่นอนอยู่อยู่แล้วว่าตัวบ้านจะล้ำเข้าไปในพื้นที่ถนนสาธารณะไม่ได้ และตัวบ้านต้องมีระยะห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะอย่างน้อย 3 เมตรโดยวัดจากกึ่งกลางถนนสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่า 6 เมตร ซึ่งถนนสาธารณะก็คือถนนที่ให้คนทั่วไปสัญจรโดยจะเก็บเงินหรือไม่เก็บเงินก็ตาม
5 | ที่ดินชิดถนนหักมุมจะต้องปาดแนวรั้วด้านละ 4 เมตร
สำหรับบ้านอยู่ติดมุมถนนที่มีมุมหักถนน 2 ด้านน้อยกว่า 135 องศาและถนนกว้าง 3 เมตรขึ้นไป จะต้องปาดมุมรั้วด้านละ 4 เมตรเพื่อไม่ให้รั้วบ้านหรือกำแพงบดบังทัศนะวิสัยการมองเห็นของผู้ขับขี่รถยนต์ โดยที่ดินส่วนที่ถูกปาดมุมรั้วออกไปนั้นยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของบ้านอยู่เช่นเดิมไม่ใช่ที่ดินสาธารณะ
6 | แต่ละห้องต้องมีหน้าต่างหรือช่องแสง
การกำหนดพื้นที่ใช้งานให้เป็นสัดส่วน ในการสร้างห้องแต่ละห้องภายในบ้านสำหรับทำกิจกรรมต่างๆในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ ห้องครัว ห้องนอน หรือห้องเก็บของ จะต้องมีพื้นที่สำหรับระบายอากาศทั้งประตู หน้าต่าง ช่องแสง ช่องลม รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 10% ของพื้นที่ในห้องนั้นๆ หากจะสร้างห้องทึบไม่มีช่องระบายอากาศเลยหรือน้อยกว่า 10% ของพื้นที่ถือว่าผิดกฎหมายอาคารทันที
7 | ห้องนอนต้องมีพื้นที่ใช้งานไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร
แน่นอนว่าคนเราใช้ชีวิตในห้องนอนแต่ละวันนั้นอย่างน้อยก็เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง จึงเป็นเรื่องจำเป็นมากที่พื้นที่ห้องนอนจะต้องมีขนาดที่กว้างขวางและโปร่งโล่ง เพื่อให้เกิดสภาวอยู่สบาย ตรงนี้ก็มีข้อกฎหมายระบุไว้ว่า ห้องนอนนั้นต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร และมีด้านแคบสุดไม่น้อยกว่า 2.5 เมตร หากพื้นที่ในห้องมีขนาด 3 x 2.5 เมตร หรือด้านที่แคบเพียง 2 เมตรแต่มีความยาว 5 เมตร ซึ่งรวมแล้วมีพื้นที่ 10 ตารางเมตรก็ไม่สามารถจัดสรรเป็นห้องนอนได้เช่นกัน
8 | เพดานห้องน้ำต้องสูงกว่า 2 เมตร
ประเด็นนี้เกี่ยวเนื่องกับห้องน้ำใต้บันไดที่มักนิยมสร้างเพื่อเป็นห้องน้ำรวมสำหรับแขก แต่รู้หรือไม่ การสร้างห้องน้ำใต้บันไดนั้นต้องพิจารณาถึงระดับความสูงของเพดานห้องด้วย ซึ่งหากพื้นที่ตรงนั้นมีเพดานด้านที่สูงน้อยที่สุดไม่ถึง 2 เมตรก็ไม่สามารถทำเป็นห้องน้ำเพื่อใช้งานได้
9 | บันไดของบ้านต้องกว้างมากกว่า 80 เซนติเมตร
อีกหนึ่งจุดสำคัญในบ้านคือบันได เพราะเป็นจุดเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย การสร้างบ้านจึงมีข้อกฎหมายบังคับไว้อย่างชัดเจนว่า บันไดในบ้านจะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร และในแต่ละช่วงต้องมีความสูงไม่เกิน 3 เมตร หากมากกว่านี้จะต้องมีชานพักบันได ซึ่งชานพักบันไดต้องมีระยะห่างแนวดิ่งหรือความสูงจากบันไดอีกชั้นไม่น้อยกว่า 1.9 เมตร ซึ่งชานพักบันไดก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ช่วยลดระดับความรุนแรงในการเกิดอุบัติเหตุได้
10 | ติดเหล็กดัด ต้องมีช่องเปิดด้วย
ในกรณีที่บ้านติดเหล็กดัด ตั้งแต่ชั้น 2 ขึ้นไป จะต้องเว้นช่องว่างไม่น้อยกว่า 60 x 80 เซนติเมตร เพื่อเป็นการเปิดทางเข้าออกในกรณีที่ต้องกู้ภัยอันเนื่องจากอัคคีภัย ซึ่งการติดเหล็กดัดเป็นอีกหนึ่งสิ่งกีดขวางที่ก่อให้เกิดอุปสรรค์ในการทำงาน และในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเหล็กดัดเท่านั้นจะยังรวมถึงลูกกรงหรือสิ่งอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกันด้วย
จะรีโนเวตทั้งที ต้องดัดแปลงให้ถูกกฎหมาย จะได้สบายกาย สบายใจ!