ศิลปะ และ การตกแต่ง คือเรื่องเดียวกัน – มองผ่านผลงานของศิลปินใน BAB 2018
บางครั้งผนังเปล่าโปร่งหนึ่งผนัง สเปซโล่งกว้างหนึ่งสเปซ เปรียบเสมือนผ้าใบหรือแคนวาสหนึ่งผืน ที่รอให้เราแต่งแต้มเติมสี สร้างผิวสัมผัสแปลกใหม่ลงบนผิวผนัง ขั้นแบ่งพื้นที่ด้วยของหนึ่งชิ้น หรือประดับประดากรอบรูปสวย ๆ ก็ช่วยให้ผนัง หรือสเปซนั้น ๆ ดูน่าสนใจขึ้นได้ในอีกมิติหนึ่ง
หากสมมติว่าประตู, หน้าต่าง, ผ้าม่าน, หลอดไฟ, ตู้เสื้อผ้า หรือสิ่งของใกล้ตัวในบ้านรูปร่างปกติธรรมดา ถูกแทนที่ด้วยงานศิลปะที่มีฟังก์ชันเสมอเหมือนสิ่งเหล่านั้น จะเป็นอย่างไร ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 เราได้เห็นผลงานศิลปะหลายชิ้นที่มีแนวคิดน่าสนใจ ซึ่งสามารถปรับใช้กับการตกแต่งพื้นที่ต่างๆทั้งภายในและภายนอกตัวบ้านได้ เพื่อสร้างสุนทรียใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ที่เราคุ้นตา
หากเราเปลี่ยนงานศิลปะมาแทนที่บางวัสดุทั่วไปสำหรับใช้การตกแต่งภายใน ศิลปะชิ้นนั้นจึงไม่เพียงทำหน้าที่เป็นเครื่องประดับที่ช่วยเสริมความจรรโลงใจให้กับผู้อาศัยหรือพบเห็นเท่านั้น หากแต่ยังทำให้ศิลปะที่มากคุณค่ากลายมาเป็นสิ่งจับต้องได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน และเรื่องราวต่อจากนี้คือมุมมองจาก baanlaesuan.com ที่มองเห็นศิลปะและการตกแต่งเป็นเรื่องเดียวกัน ผ่านผลงานของศิลปินในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่จัดแสดงอยู่ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผลงานศิลปะมีบทสนทนากับ สเปซ ต่างๆอย่างน่าสนใจ
Soaked Dream ภาพถ่ายแห่งความฝันและอนาคตท่ามกลางความมืดมิด | จัดวาง องค์ประกอบ
Soaked Dream ผลงานภาพถ่ายโดย ฟิรอซ มาห์มุด (Firoz Mahmud) ศิลปินชาวบังคลาเทศ เขาถ่ายภาพบุคคลในอิริยาบถต่างๆ ซึ่งกำลังสวมใส่แว่นตาสีเขียวสดใสที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยมีนัยยะซ่อนไว้คือ แว่นตาจากความฝันและอนาคต ฟิรอซประดิษฐ์แว่นตาแห่งความฝันนี้ขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ โดยครอบครัวผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น และชนกลุ่มน้อยที่มองหาแสงสว่างในความมืด คือตัวแทนคำบอกเล่าที่สะท้อนมุมมองในการให้ศิลปะสะท้อนและมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่ง Firoz มุ่งเน้นไปถึงประเด็นเรื่องชนเผ่าโรฮิงญาที่หนีจากพม่าไปยังเขตแดนของบังคลาเทศ
ภาพถ่ายหรืองานศิลปะที่สวยงามและมีความหมายในตัวเองอยู่แล้ว จะสามารถสื่อสารเรื่องราวต่างๆได้มากขึ้น ผา่นการจัดองค์ประกอบในการติดตั้งบนผนังที่เหมาะสมกับพื้นที่ หลักปฏิบัติง่าย ๆ โดยทั่วไปสำหรับการติดรูปบนผนังนั้น ควรให้ความสำคัญกับขนาดของกรอบรูป ระยะห่างในการติดตั้ง ตลอดจนระดับความสูงที่ควรพอดีกับสายตา หรือในระดับราว 1.20 – 1.50 เมตร โดยเว้นระยะแต่ละภาพห่างกันราว 5 – 7.5 เซนติเมตร เป็นอย่างน้อย แต่ก็ไม่ผิดที่ใครจะติดแบบสับหว่าง หรือเหลื่อมกันตามความเหมาะสมกับพื้นที่ที่แตกต่างกัน อีกประการสำคัญที่ควรคำนึงถึง คือ ลักษณะสัดส่วนของภาพ อย่างเช่นผลงานนี้ จะสังเกตุว่าตรงตรงกลาง(ของภาพด้านบน) ฟิรอซ ได้จัดวางภาพแนวตั้ง และ แนวนอน อยู่แถวเดียวกัน เพื่อส่งต่อจังหวะ(Transition) การจัดวางภาพแนวนอน ไปสู่ ภาพแนวตั้งได้อย่างไร้รอยต่อ สามารถดูได้อย่างสบายตา
ใครอยากชมผลงานนี้ ชมได้ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 8 จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2561 ถึง 3 กุมภาพันธ์ 2562
อุโมงค์แห่งศิลป์ | ประติมากรรมที่เป็นทางผ่านและการย้อนวัย ในสวนหน้าบ้าน
ผลงานชิ้นนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีเจ้าตัวเล็กเป็นสมาชิกในครอบครัว หรืออยากย้อนวัยกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งมาก ๆ Shelter from the Stars 2018 ผลงานประติมากรรมจัดวางลักษณะคล้ายอุโมงค์ขนาดย่อม กว้าง 5 เมตร โดย Marc Schmitz (มาร์ก ชมิทซ์) ศิลปินและภัณฑารักษ์ชาวเยอรมันผู้นี้ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอู่หน้าหอศิลปกรุงเทพฯ เพื่อสื่อสารถึงเรื่องพื้นที่ว่างเปล่าซึ่งสามารถมอบประสบการณ์ที่ไม่อาจหาได้สำหรับการใช้ชีวิตในเมือง Shelter from the Stars 2018 จึงเป็นเสมือนเป็นกําบังช่วยให้หลุดพ้นจากความเสื่อมโทรม ความวุ่นวาย และจิตใจอันหม่นหมองนั่นเอง
ทว่าหากเปลี่ยนจากที่ตั้งย่านใจกลางเมืองแบบนี้ไปอยู่ในสวนหย่อมในบ้าน การเลือกพื้นที่สำหรับจัดวางที่จะช่วยเพิ่มสุนทรียภาพให้กับผลงานนี้ สามารถนำไปจัดวางไว้ริมบ่อน้ำเล็ก ๆ หรือ น้ำพุน้ำล้น (ในกรณีมีเด็กเล็กต้องระวังเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ) หรือจัดวางใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ก็สามารถสร้างบรรยากาศให้สวนหรือมุมพักผ่อนส่วนตัวดูมีความพิเศษมากขึ้น
ใครอยากชมผลงานนี้ ชมได้ที่ลานด้านหน้า หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2561 ถึง 3 กุมภาพันธ์ 2562
สัจจะ…ชีวิต | ขั้นแบ่ง ขอบเขต
การจะเพิ่มความสวยงามให้พื้นที่ขนาดไม่เล็ก ไม่ใหญ่จนเกินไป เช่น ส่วนเชื่อมระหว่างพื้นที่ห้องนั่งเล่นกับส่วนรับประทานอาหาร หรือมุมอ่านหนังสือกับโต๊ะทำงาน เพื่อสร้างจุดเด่นและแยกขอบเขตพื้นที่ให้กระจ่างชัด ผลงาน “สัจจะ…ชีวิต” พ.ศ. 2560 สื่อผสมจากการถักทอวัสดุธรรมชาติ ขนาด 300 x 200 ซม. โดย อริชมา ผกาเพชร์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มศิลปินหญิงมุสลิม (มุสลิมะห์) จากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นหนึ่งในงานศิลปะที่สามารถใช้เป็นฉากกั้นสายตา หรือทำหน้าที่แบ่งขอบเขตกึ่งไม่เป็นทางการได้อย่างแนบเนียน โดยไม่ทำให้สเปซตรงนั้นดูปิดทึบจนเกินไป ที่สำคัญการแขวนประดับชั่วคราว โดยไม่ต้องทำโครงสร้างถาวรขึ้นมายังช่วยลดขั้นตอนยุ่งยากของการก่อผนัง ช่วยประหยัดเวลา เคลื่อนย้ายติดตั้งได้ง่าย อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมิติให้สเปซมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน
สำหรับศิลปินกลุ่มมุสลิมะห์ (Muslimah) เกิดจากการรวมตัวกันของ คีต์ตา อิสรั่น จากนราธิวาส, นูรียา วาจิ จากอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี, กูซอฟียะห์ นิบือซา จากอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี และ อริชมา ผกาเพชร์ จากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา งานศิลปะของพวกเธอถ่ายทอดเรื่องราวจากวิถีความเป็นอยู่ ความรู้สึกจากเบื้องลึก และความสูญเสียที่เปรียบได้กับกระจกที่สะท้อนความหวังภายในจิตใจในการดำเนินชีวิตอย่างสงบและสันติสุขในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ใครอยากชมผลงาน “สัจจะ…ชีวิต” พ.ศ. 2560 โดย อริชมา ผกาเพชร์ ชิ้นนี้ ชมได้ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 7 จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2561 ถึง 3 กุมภาพันธ์ 2562
จุดตรวจ | ก้าวผ่าน เข้าออก
เราคุ้นชินกับประตูในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งประตูบานเลื่อน, ประตูบานพับ, ประตูบานเฟี้ยม, ประตูบานม้วน, ประตูบานหมุน และประตูเหล็กยืด ที่ทุกบ้าน ทุกห้อง ล้วนแล้วแต่จำเป็นต้องมีประตูอย่างน้อย ๆ 1 บาน เพื่อเป็นทางผ่านเข้าออก ทว่าประตูของ เง เลย์ ศิลปินชาวเมียนมาร์ พิเศษไปกว่านั้น
เง เลย์ ยกประเด็นเรื่องผู้หญิงที่มักถูกสังคมมองว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ รวมถึงประเด็นเรื่องสิทธิความเสมอภาคของเพศหญิงที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม มานำเสนอผ่านผลงาน “The Check Point” หรือ จุดตรวจ ที่เธอทำงานร่วมกับช่างเย็บหลายคน โดยนำ Longyi(s) ผ้าที่ทั้ง 8 ชาติพันธุ์ในเมียนมาร์นิยมนํามาเย็บเป็นกระโปรง มาตัดเย็บเป็นรูปทรงคล้ายช่องคลอด เพื่อสื่อสารว่าไม่ว่าใครก็ล้วนแล้วแต่เกิดผ่านช่องคลอดมารดาทั้งสิ้น
“ฉันสร้างงานชิ้นนี้ด้วยความรู้สึกทั้งพอใจและไม่พอใจ ภูมิใจและเศร้าใจที่เป็นผู้หญิงในเวลาเดียวกัน ฉันต้องการให้ผู้ชมเดินผ่านประตูนี้และสัมผัสว่านี่ไม่ใช่สิ่งสกปรก หรือทำให้สถานะของคุณตกต่ำ แต่คือคุณค่าที่เกิดมาพร้อมกัน ความเป็นแม่ ธรรมชาติ และผืนแผ่นดิน” เง เลย์ อธิบายแนวคิดของเธอไว้อย่างตรงไปตรงมา
ประตูบานแรกของชีวิตสำหรับทุกคนโดย เง เลย์ อาจมีฟังก์ชันที่ไม่ตอบโจทย์นัก หากต้องนำไปใช้เป็นประตูขั้นแบ่งพื้นที่ระหว่างภายนอกและภายใน แต่อย่างน้อย ๆ นอกจากนัยยะที่สอดแทรกมาให้เราฉุกคิดตาม ช่องประตูที่เป็นทางผ่านข้ามขอบเขตในแต่ละพื้นที่ลักษณะนี้นับว่าเป็นประตูที่ฉีกไปจากกรอบเดิม ๆ อย่างแท้จริง
ใครอยากชมผลงานนี้ ชมได้ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 7 จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2561 ถึง 3 กุมภาพันธ์ 2562
ไร้แสง แต่ช่วยนำสายตา | แทนความสว่าง ด้วยความสร้างสรรค์อย่าง “Century Buds”
“Century Buds” อีกผลงานของ Marc Schmitz (ผู้สร้างผลงาน Shelter from the Stars 2018 ด้านบน) ซึ่งมีลักษณะเหมือนก้านสําลีทําความสะอาดขนาดใหญ่เหนือจริง ขนาดของมันราวกับเป็นสิ่งแปลกปลอมจากนอกโลกที่มีไว้เพื่อสิ่งมีชีวิตนอกโลก หรืออย่างน้อยก็สําหรับช้างบนดาวเคราะห์ดวงนี้ที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่
วัตถุที่มาร์ก ชมิทซ์ เลือกนำมาจัดแสดงเป็นทองแดงล้วน และเหล็กชุบโครเมี่ยมขัดมัน โดยมีสักหลาดเป็นปุ่มนิ่ม ๆ บริเวณปลายทั้งสองด้าน มาร์กพยายามสื่อถึงมุมมองในการที่วัตถุขนาดยักษ์นี้ลอยอยู่ท่ามกลางผู้ชม ก็เหมือนเป็นการจําลองการทําความสะอาดจิตใจ เมื่อเราเห็นผลงานชุดนี้ เราจินตนาการไปถึงโคมไฟสุดเท่ หรือ แชนเดอเลียร์แสนหรู เป็นของตกแต่งที่ช่วยนำสายตาได้ดีชนิดหนึ่งเมื่อถูกจัดวางตำแหน่งที่เหมาะสม เช่น บริเวณโถงอาคารสูงโปร่งแบบ Double Volume หรือในช่วงเวลากลางคืนที่เราเปิดการใช้งานให้แสงที่สว่างไสวปรากฏให้เกิดบรรยากาศที่อบอุ่นและช่วยเพิ่มโอกาสการมองเห็น “Century Buds” ก็อาจจะเป็นเหมือนดาวเคราะห์ที่ไร้แสงสว่างในตัวเอง แต่โดดเด่นด้วยความสร้างสรรค์ที่เข้ามาแทนค่าความสว่างได้อย่างไร้รอยต่อ
ใครอยากชมผลงานนี้ ชมได้ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 8 จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2561 ถึง 3 กุมภาพันธ์ 2562
เรื่อง / ภาพ : ND24