ศิลปะสร้างความสุขได้จริงหรือ ?

ศิลปะสร้างความสุขได้จริงหรือ ?

ศิลปะสร้างความสุขได้จริงหรือ ?
ศิลปะสร้างความสุขได้จริงหรือ ?

“Beyond Bliss หรือ สุขสะพรั่งพลังอารต์” คือแนวคิดหลักในการจัดงานของ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2018 (บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018)ที่กำลังจัดขึ้นทั่วสถานที่สำคัญในกรุงเทพ 20 แห่ง ซึ่งศิลปิน 75 คนจาก 33 ประเทศ ได้ตีความคำว่า “ความสุข”แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ที่แต่ละคนได้พบเจอ

ศิลปินบางคนอาจมองความสุขผ่าน ความสนุก (อย่างเช่นผลงานของ ชเว จอง ฮวา) หรือ บางคนก็มองผ่านความขัดแย้ง ในแง่มุมของความทุกข์ การดิ้นรนเอาชีวิตรอด ความโศกเศร้า และ ปัญหาผู้อพยพ ซึ่งผลงานเหล่านี้ล้วนแล้วแต่นำเสนอประเด็นที่ชวนให้เราทุกคนได้ลองย้อนมองกลับไปหาคำว่าสุข ในมุมที่เราอาจจะไม่เคยได้ค้นพบมาก่อน

ย้อนกลับไปในกิจกรรม BAB Talk ครั้งที่ 16 เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งได้ 5 ศิลปินไทยชื่อดังได้แก่ ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์, สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์, ดุจดาว วัฒนปกรณ์, ต่อลาภ ลาภเจริญสุข และ กวิตา วัฒนะชยังกูร มาร่วมเสวนาในหัวข้อ “ศิลปะสร้างความสุขได้จริงหรือ” ที่ Warehouse 30 เราไปฟังจากเจ้าตัวกันเลยดีกว่าศิลปินแต่ละท่านจะตอบคำถามนี้ว่าอย่างไร

ดุจดาว วัฒนปกรณ์(ภาพบนสุด)

“ศิลปะสร้างได้มากกว่าความสุข อย่างตัวเองที่ตอนเด็กๆเรียนหนังสือไม่เก่ง ทำอะไรก็ไม่เก่งสักอย่าง รู้สึกว่าห้องเรียนมันเป็นสถานที่ที่ผิดที่ผิดทางสำหรับเรามากๆ แต่พอจะกำลังจะได้เต้นในงานเลี้ยงปีใหม่ หรือ ช่วงไหนที่ครูเรียกออกมาเต้นหน้าห้องนั้น รู้สึกดีใจมากๆ และ คิดว่าศิลปะการเต้นมันได้หล่อหลอมให้เป็นตัวเองได้อย่างทุกวันนี้ มันสร้างความรู้สึกสุขใจได้เป็นรูปธรรมอย่างมากๆ”

ศิลปะสร้างความสุขได้จริงหรือ ?

ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์

“ผลงานศิลปะของเรา มันคือหลักฐานของเวลา ซึ่งมันจะบ่งบอกว่า เราได้ใช้เวลาในชีวิตเป็นประโยชน์อย่างไรบ้าง อย่างงานศิลปะเมื่อสร้างเสร็จแล้วมันเป็นวัตถุที่เป็นรูปธรรมออกมาชิ้นหนึ่ง มันสามารถสื่อสารความคิดของเราออกไปได้ แม้ว่าปกติแล้วคนเราจะนิยามคำว่าความสุขแตกต่างกัน แต่ในฐานะศิลปินผมคิดว่า หากเรามีความสุขกับผลงานศิลปะที่เราสร้างแล้ว ผู้ชมก็สามารถรับรู้ถึงความรู้สึกตรงนั้นได้เช่นกัน”

ศิลปะสร้างความสุขได้จริงหรือ ?

สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์

“ด้วยความที่เป็นคนชอบดูงานศิลปะ หากพูดในแง่ผู้ชมงาน เวลาได้เห็นงานที่เราไม่ได้คาดคิดมาก่อน มันทำให้เกิดความรู้สึกเติมเต็มในใจ เพราะมันทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ชิ้นงานศิลปะที่ดีมากๆสามารถพาเราเดินทางไปอีกโลกได้เลย มุมกลับกันในฐานะผู้สร้างงาน เราอยากจะสื่อ ตัวสาร บางอย่างที่ทำให้คนชมแล้วเกิดแรงบันดาลใจ อยากให้งานของเรามันจุดประกายอะไรขึ้นมาบางอย่าง ซึ่งต้องบอกว่าศิลปะนั้นสามารถสร้างความสุขได้จริงๆ ถึงได้ทำมาจนถึงทุกวันนี้”

ศิลปะสร้างความสุขได้จริงหรือ ?

ต่อลาภ ลาภเจริญสุข

“เมื่อใดมี่คนมาชมงานศิลปะของผม แล้วเกิดความคิดเชื่อมต่อไปยังช่วงเวลาแห่งความสุขของเขาได้ ผมจะมีความสุขมากๆ ซึ่งแน่นอนหากมองในการทำงานศิลปะ มันก็มีทั้ง สุข และ ทุกข์ แต่สำหรับผมมันมีความสุขมากกว่า จึงทำให้ทุกๆเช้าเราอยากจะตื่นเช้าขึ้นมาทำงานศิลปะ มันสนุกมากๆ”

ศิลปะสร้างความสุขได้จริงหรือ ?

กวิตา วัฒนะชยังกูร

“ศิลปะนั้นสามารถสร้างความสุขให้กับตัวเอง และ ผู้อื่น โดยสำหรับตัวเองนั้น สิ่งที่ทำให้ แพรว (ชื่อเล่นของ กวิตา) เอง มีความสุขมากที่สุด คือการได้ทำงานร่วมกับคุณแม่ (ผู้ทำหน้าที่ผู้กำกับ และ ช่างภาพ) อีกทั้งงานของเรามันสอนให้รู้จักรับมือการกับความยากลำบากในชีวิต เสมือนการรักษาจิตใจของตนเอง สำหรับการให้ความสุขต่อผู้อื่นนั้น ส่วนตัวรู้สึกว่างานของเรามันเป็นกระบอกเสียงให้กับคนตัวเล็กๆ อย่างเช่น คนใช้แรงงาน ศิลปะของเราทำให้สังคมได้ตระหนักเห็นคุณค่าของพวกเขามากขึ้น ซึ่งการที่เราได้ช่วยเหลือผู้อื่นตรงนี้เอง ที่ทำให้เรามีความสุขเพิ่มมากขึ้น จากการสร้างงานศิลปะ”

จากคำสัมภาษณ์ของศิลปินทั้ง 5 นั้น มีหลายประเด็นสอดคล้องกันกับแนวคิดการสร้างงานศิลปะ ของศิลปินการแสดงสดระดับโลก อย่าง มารีนา อบราโมวิช โดยเฉพาะการคิดถึงประเด็นคำถามนี้ ในมุมที่มากกว่าความสุขของผู้สร้างงาน แต่ยังคำนึง ถึง ผู้ชมและสังคมโลกในภาพรวม ในเสวนาเต็มรูปแบบ ที่ สยามภาวลัย รอยัล แกรนด์เธียเตอร์ สยามพารากอน มารีนาได้นำเสนอแนวคิดการสร้างงานศิลปะไว้อย่างน่าสนใจว่า “ศิลปะควรจะหล่อเลี้ยงและส่งเสริมอารมณ์ด้านบวก เพื่อสนับสนุนให้แต่ละคนเป็นคนที่ดีขึ้น และสุดท้ายแล้วสังคมจะดีขึ้นได้โดยมีผลงานศิลปะเป็นส่วนหนึ่งในนั้น”

ไม่ว่าท่านผู้อ่านแต่ละท่านจะนิยามคำว่า “ความสุข” หรือ คำว่า “ศิลปะ” ไว้อย่างไร

หรือ อาจจะยังสงสัยว่าศิลปะสร้างความสุขได้จริงๆ หรือไม่ ?

ขณะนี้งานศิลปะมากกว่า 200 ชิ้น จาก 75 ศิลปินทั่วโลก ได้มาอยู่กรุงเทพฯ ประเทศไทยแล้ว วิธีที่จะหาคำตอบ ของคำถามดังกล่าวได้ดีที่สุด คือ ก้าวออกมาชมงานศิลปะด้วยตัวท่านเอง

และหากใครยังไม่รู้ว่าจะเริ่มชมงานชิ้นไหน ที่ใดก่อน เริ่มต้นศึกษาจาก 30 งานศิลป์ห้ามพลาด ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ได้เลย

 

เรื่อง และ ภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

 


ภาพเล่าเรื่องใน Bangkok Art Biennale 2018 (Photo Essay)
เรากำลังใช้ชีวิต หรือ กำลังแสดง? งานเสวนาเต็มรูปครั้งแรกในประเทศไทยของ  มารีนา อบราโมวิช
พิเชษฐ กลั่นชื่น ร่างทรง องค์ใหม่ ลงประทับแล้ว ในงาน BAB (Bangkok Art Biennale 2018)

เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x