อยากตกแต่งภายในบ้าน จ้างอินทีเรียร์ดีไหม?

นอกเหนือจากรูปลักษณ์ของอาคารภายนอกและการจัดสวน บ้านจะสวยสมบูรณ์แบบได้นั้น การตกแต่งภายในถือเป็นส่วนสำคัญ แน่นอนว่าเจ้าของบ้านหลายๆ คนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถสร้างสรรค์การตกแต่งภายในบ้านให้ออกมาสวยงาม อยู่สบาย และใช้งานได้ครบครัน ทำให้เจ้าของบ้านหลายๆ คนมองหาผู้มารับหน้าที่สร้างสรรค์ให้ทุกอย่างภายในบ้านลงตัว คนคนนั้นก็คือนักออกแบบตกแต่งภายใน  หรือมัณฑนากร

 ใครคือนักออกแบบตกแต่งภายใน

ค่าจ้างตกแต่งภายใน อินทีเรียร์ มัณฑนากร

มัณฑนากร นักออกแบบตกแต่งภายใน อินทีเรียร์ ดีไซเนอร์ ซึ่งหลายคนเรียกติดปากว่า “อินทีเรียร์” คือ ผู้ทำหน้าที่ออกแบบพื้นที่ว่างภายในอาคาร (Space) โดยคัดสรรวัสดุที่เหมาะสม พร้อมออกแบบให้ตอบสนองการใช้งาน (Human Scale) และอยู่ภายใต้บริบทของความสวยงาม (Arts) หน้าที่ของมัณฑนากรแตกต่างจากสถาปนิก ทั้งขอบเขตหน้าที่ที่สถาปนิกคือผู้ออกแบบตัวอาคารโดยรวมทั้งหมด ต้องทำงานร่วมกับวิศวกร ช่างผู้รับเหมา และมัณฑนากร ซึ่งเป็นผู้รับหน้าที่ออกแบบตกแต่งภายใน

ผู้ประกอบอาชีพมัณฑนากรต้องเป็นผู้รู้ในเรื่องของการออกแบบพื้นที่ภายในอาคาร โดยส่วนมากมักจบการศึกษา สาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ แต่ในบางกรณีนักตกแต่งภายในก็ไม่ได้จบการศึกษาทางด้านนี้โดยตรง แต่เป็นผู้รู้ที่มีความสามารถด้านการออกแบบตกแต่งภายใน ก็สามารถประกอบอาชีพนี้ได้เช่นกัน

แต่ในกรณีที่ต้องออกแบบพื้นที่ภายในอาคารสาธารณะ ขนาด 500 ตารางเมตรขึ้นไป ผู้ออกแบบจะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม สาขาสถาปัตยกรรมภายใน และมัณฑนศิลป์ จากสภาสถาปนิก ตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2549) ว่าด้วยการกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

ในขั้นตอนของการทำงานออกแบบ ทั้งสถาปนิกและมัณฑนากรจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้บ้านหนึ่งหลังสวยงามทั้งภายนอกและอยู่สบายในพื้นที่ภายใน แต่ในบางกรณีอย่างบ้านโครงการจัดสรรหรือโครงการคอนโดมิเนียมที่ต้องรอโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จก่อน มัณฑนากรจึงจะเข้าดำเนินการออกแบบตกแต่งได้ในภายหลัง ในระหว่างก่อสร้างมัณฑนากรจะเข้าตรวจสอบความเรียบร้อยและสำรวจส่วนต่างๆ อย่างการวางระบบไฟ ระบบน้ำ เพื่อทำการออกแบบในขั้นตอนแรกให้เกิดความเหมาะสมกับการใช้งานของเจ้าของบ้านและให้ง่ายต่อการตกแต่งภายในให้เกิดความสวยงาม

แบ่งเงินสำหรับตกแต่งภายในเท่าไหร่ดี

ค่าจ้างตกแต่งภายใน อินทีเรียร์ มัณฑนากร

หากจะตกแต่งภายในบ้าน สิ่งที่ต้องรู้ในเบื้องต้นเพื่อบอกกล่าวกับมัณฑนากรคือ ความต้องการของตนเอง อย่างรูปแบบความสวยงามหรือสไตล์บ้านที่ตนชอบ การใช้งานหรือกิจกรรมภายในบ้านที่ตนเองและครอบครัวทำร่วมกันอยู่เสมอ และงบประมาณสำหรับตกแต่งภายใน

วิธีคำนวณเงินเบื้องต้นสำหรับตกแต่งภายในนั้น ให้แบ่งเงิน  30% ของราคาบ้าน เพื่อเป็นค่าจัดสรรพื้นที่ภายใน ซึ่งภายในงบ  30% ของราคาบ้าน จะประกอบไปด้วย ค่าออกแบบโดยมัณฑนากร ค่าวัสดุและเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินและลอยตัว ค่าแรงช่าง ทั้งนี้งบตกแต่งภายในจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ตามแต่สะดวก โดยที่เจ้าของบ้านสามารถจัดจ้างเฉพาะมัณฑนากรสำหรับออกแบบ แล้วจัดหาช่างผู้รับเหมาเอง หรือจะมอบหน้าที่ทั้งหมดให้ มัณฑนากรดูแลจนแล้วเสร็จก็ได้ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่มีร่วมกัน

ค่าจ้างอินทีเรียร์ คิดราคาอย่างไร

ค่าจ้างตกแต่งภายใน อินทีเรียร์ มัณฑนากร

มาถึงค่าบริการออกแบบ ซึ่งกำหนดโดยสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย (TIDA) เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ได้กำหนดระดับอัตราค่าบริการวิชาชีพขั้นพื้นฐาน หรือค่าจ้างอินทีเรียร์ ไว้เป็น 3 รูปแบบด้วยกัน คือ การคิดค่าบริการวิชาชีพแบบอัตราร้อยละ (Percentage of Project) การคิดค่าบริการวิชาชีพแบบคำนวณจากเวลาทำงาน (Hourly Rate) และการคิดค่าบริการวิชาชีพแบบเหมารวม (Lump Sum) แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะคิดค่าบริการออกแบบแบบอัตราร้อยละ ตามลักษณะกลุ่มอาคารที่แบ่งเป็น 4 ประเภทด้วยกัน โดยบ้านพักอาศัย ห้องชุดพักอาศัยจัดอยู่ในอาคารประเภทที่ 2 ซึ่งคิดค่าบริการออกแบบดังนี้

งบตกแต่งภายในไม่เกิน 5 ล้าน= ค่าบริการวิชาชีพ 15%

งบตกแต่งภายใน 5-10 ล้าน= ค่าบริการวิชาชีพ 13%

งบตกแต่งภายใน 10-20 ล้าน= ค่าบริการวิชาชีพ 11 %

งบตกแต่งภายใน  20-50 ล้าน= ค่าบริการวิชาชีพ 10 %

งบตกแต่งภายใน 50-100 ล้านบาท = ค่าบริการวิชาชีพ 9 %

งบตกแต่งภายใน 100-200 ล้านบาท = ค่าบริการวิชาชีพ 8 %

งบตกแต่งภายใน 200-500 ล้านบาท = ค่าบริการวิชาชีพ 7 %

งบตกแต่งภายใน 500 ล้านบาทขึ้นไป = ค่าบริการวิชาชีพ 5 %

ควรจ่ายค่าจ้างตอนไหน

ค่าจ้างตกแต่งภายใน อินทีเรียร์ มัณฑนากร

มีน้อยนักที่เจ้าของบ้านจะยอมจ่ายเงินเป็นก้อนใหญ่ครั้งเดียวตั้งแต่ก่อนงานเริ่ม เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็เสี่ยงต่อการ “หนีงาน” เป็นอย่างสูง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการจัดจ้างทั้งสร้างบ้าน ต่อเติมบ้าน หรือตกแต่งบ้านก็ควรมีการแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ โดยมาตรฐานสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ปีพ.ศ.2551 ได้กำหนดการจ่ายค่าออกแบบ ดังนี้

10% : ตกลงว่าจ้างและทำสัญญาจ้าง

30% : เสนองานออกแบบหรือส่งแบบร่างเบื้องต้น ซึ่งเป็นแบบที่เกิดจากการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และสร้างสรรค์ให้เกิดความสวยงามตามแบบที่เจ้าของบ้านชื่นชอบ

20% : ปรับปรุงแบบ หลังจากเสนอแบบครั้งแรก เจ้าของบ้านสามารถออกความคิดเห็นเพิ่มให้อินทีเรียร์ปรับปรุงแบบตามความเหมาะสม คัดเลือกสเป็กวัสดุ เพื่อให้แบบบ้านออกมาดีที่สุด

30% : ส่งมอบแบบที่สมบูรณ์ หลังจากปรับปรุงแบบเป็นที่เรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปคือส่งมอบแบบเพื่อมอบให้ช่างผู้รับเหมาดำเนินการสร้างจริง ส่วนนี้หากเจ้าของบ้านจัดหาผู้รับเหมาเองจะเป็นอันสิ้นสุดหน้าที่ของผู้ออกแบบ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะให้อินทีเรียร์ดูแลความเรียบร้อยในขั้นตอนคุมงานก่อสร้างจนบ้านเสร็จสมบูรณ์พร้อมเข้าอยู่ (ขึ้นอยู่กับเจ้าของบ้านกับผู้ออกแบบจะตกลงกัน)

10% : เริ่มงานก่อสร้างจนแล้วเสร็จ เมื่อช่างผู้รับเหมาดำเนินการตกแต่งภายในบ้านตามแบบที่ออกแบบไว้ อินทีเรียร์จะยังคงดูแลความคืบหน้า ความเรียบร้อยในขั้นตอนก่อสร้างตกแต่งภายในให้เป็นไปตามแบบบ้านที่วางไว้

ไว้ใจแค่ไหนก็ต้องทำสัญญาจ้าง

ค่าจ้างตกแต่งภายใน อินทีเรียร์ มัณฑนากร

ความรอบคอบเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าอินทีเรียร์ที่เลือกให้มารับหน้าที่ตกแต่งบ้านแสนรักของเรานั้นจะเป็นคนรู้จัก เพื่อนแนะนำ หรือไว้ใจมากแค่ไหน ก็ควรทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรให้แน่ชัด เพื่อความสบายใจกันทั้งสองฝ่าย โดยในสัญญาต้องระบุ ชื่อที่อยู่ผู้ว่าจ้าง ชื่อที่อยู่ผู้รับจ้าง งบประมาณ การแบ่งจ่ายค่าจ้าง และขอบเขตหน้าที่ของอินทีเรียร์ให้แน่ชัด

ซินแสและแม่เจ้าของบ้านควรมาตอนไหน!

ค่าจ้างตกแต่งภายใน อินทีเรียร์ มัณฑนากร

ซินแส จะเรียกว่าเป็นคู่ปรับตลอดกาลก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะเรื่องของฮวงจุ้ยนั้นก็มีส่วนประกอบของวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้จริง และส่งผลต่อผู้อยู่อาศัยในบ้านโดยตรง แต่ปัญหามักจะตามมาหลังจากที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย แล้วต้องมีการปรับแก้ ทุบรื้อ สร้างเพิ่ม (เพื่อความเป็นสิริมงคล) เหล่านี้จึงเป็นเรื่องปวดหัวของอินทีเรียร์จำนวนไม่น้อยทีเดียว

ในกรณีที่ “ซินแสและฮวงจุ้ย” เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ เจ้าของบ้านควรบอกกล่าวกับอินทีเรียร์ตั้งแต่ขั้นตอนส่งแบบร่างหรือออกแบบครั้งแรก เพื่อให้ทั้งสองได้ทำงานร่วมกันและแก้ไขในบางจุดทันท่วงที เพราะหากเลยเถิดถึงขั้นก่อสร้างแล้ว การทุบรื้อจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มและสร้างความล่าช้าในการส่งมอบงานอีกด้วย

ส่วน “แม่เจ้าของบ้าน” (ที่มักเป็นผู้พาซินแสเข้าบ้าน) คงหนีไม่พ้นเรื่องเฟอร์นิเจอร์เก่าไม่อยากทิ้ง แต่ความสวยงามหรือการแมตช์กับงานดีไซน์ภายในบ้านไปคนละทิศละทาง สำหรับนักออกแบบแล้วคงเป็นเรื่อง “สุดเซ็ง” ที่ทำให้รู้สึกอยากสร้างห้องเก็บซ่อนเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้น (บางทีเจ้าของบ้านก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน) เรื่องนี้ควรหาทางออกร่วมกันทั้งสามฝ่าย เพราะถึงอย่างไรเฟอร์นิเจอร์บางชิ้นก็มีคุณค่าทางใจเช่นกัน


จะสร้างบ้านต้องใช้เงินเท่าไหร่?

ข้อควรคิดวิธีเลือกผู้รับเหมา ไม่ให้โดนหลอก

รวมรายชื่อ สถาปนิก นักออกแบบ นักจัดสวน