ปี 2018 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น เป็นปีทีเราได้เห็นการนำเสนอผลงานศิลปะในสไตล์ใหม่ๆ ของ ติ้ว วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินมือรางวัลชาวราชบุรี อาทิ ผลงานประติมากรรมเรซิ่นไฟเบอร์ ช้างแอฟริกันแม่ลูก ซึ่งสามารถสื่อสารประเด็นของการฆ่าช้างเอางาได้อย่างทรงพลัง(จัดขึ้นเมื่อปลายปี 2018 ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) และ ล่าสุดกับ “Lastburi: ราชบุรี เลือนลาง กระจ่างชัด ” นิทรรศการผลงานภาพถ่ายเต็มรูปแบบครั้งแรก ณ พื้นที่แสดงงาน โรงโอ่ง เถ้าฮงไถ่ ที่ วศินบุรี ได้ลั่นชัตเตอร์สร้างผลงานภาพถ่ายร่วมสมัยที่บอกเล่าเรื่องราวของจังหวัดบ้านเกิดของเขาได้อย่างมีชั้นเชิง
baanlaesuan.com ได้รับเกียรติจาก วศินบุรี พาชมนิทรรศการในครั้งนี้ แบบ Exclusive ซึ่งเราไม่พลาดที่จะเก็บเรื่องราว และ บรรยากาศจของนิทรรศการนี้มาฝากกัน
คำว่า “บุรี” หรือ “เมืองนั้น” เมื่อนำต่อท้ายคำว่า Last (สุดท้าย) หากแปลตรงตัวคงจะหมายถึง เมืองสุดท้าย แต่ วศินบุรี ตั้งชื่อนิทรรศการนี้ไว้เป็นคำถาม ซึ่งเกิดจากการสังเกตุสังคมท้องถิ่นของเขาที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา บางสิ่งก็ยังคงอยู่ แต่บางสิ่งก็ค่อยๆเลือนหายไป โดยนิทรรศการนี้จะพาผู้ชมเดินทางผ่านภาพถ่ายไปสัมผัสกับ อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต ของเมืองโอ่งที่อยู่ห่างจากกรุงเทพไปเพียงราวๆ 100 กิโลเมตร โดยแบ่งพื้นที่แสดงผลงานออกเป็นสามส่วน โดยใช้เทคนิคการถ่ายภาพที่แตกต่างกัน
ส่วนที่ 1 #ราชบุรีสวยมาก
ภาพในชุดนี้เป็น ตั้งชื่อตาม #Hashtag ที่ วศินบุรี ชอบใช้เวลาโพสต์รูปที่ถ่ายในจังหวัดราชบุรี ลงสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งผลงานในส่วนนี้เราจะได้เห็นการภาพถ่ายประเภท Landscape ที่สวยงามของสถานที่สำคัญในจังหวัดราชบุรี อย่างเช่น อุทยานหินเขางู เขาประทับช้าง หรือ เหมืองหิน ณ เขาสามง่าม โดยในแต่ละภาพนั้นจะมี “ไอ้จุด” ประติมากรรมรูปสุนัขโครงสร้างลายจุดขนาดใหญ่อยู่คู่ทุกภาพ ราวกับว่า เจ้าหมาน้อยชื่อดังเมืองโอ่งกำลังพาผู้ชมงานไปยังสถานที่สวยงามซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดราชบุรี
“ส่วนตัวผมแล้ว ผมชื่นชอบอุทยานหินเขางูเป็นอย่างมาก เพราะในอดีตสถานที่นี้เป็นพื้นที่ระเบิดหิน ซึ่งต่อมามีการพบศิลปะสมัยทราวดี จึงทำให้การระเบิดหินต้องหยุดไปในบริเวณนั้น เรื่องนี้สำหรับผมแล้ว มันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อว่า ศิลปะ นั้นมีพลังในการหยุดยั้งบางสิ่งบางอย่างได้ มันทำให้เกิดการอนุรักษ์ การรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์เอาไว้อย่างน่าสนใจ” วศินบุรีกล่าว
ส่วนที่ 2 ราชบุรีเลือนหาย
ในส่วนที่สองของนิทรรศการนี้ วศินบุรี ตั้งคำถามถึงอัตลักษณ์และคำขวัญประจำจังหวัดราชบุรี ย้อนกลับไปในปี 2530 นโยบายของรัฐบาลไทยสมัยนั้นได้กำหนดระเบียบวาระแห่งชาติเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายใต้ชื่อปี “ท่องเที่ยวไทย” โดยมีคำสั่งให้แต่ละจังหวัดคิดค้นคำขวัญที่แสดงถึงอัตลักษณ์และความภาคภูมิใจของจังหวัดนั้นๆ ซึ่งคำขวัญจากนโยบายดังกล่าวก็ยังใช้สือต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยภาพถ่ายส่วนใหญ่ในส่วนนี้เป็นภาพแนวบุคคล (Portrait) โดยบางภาพจะผสมความเป็น Street เข้าไปบ้าง เพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสถานที่ต่างๆกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน
“ที่ตั้งชื่อส่วนนิทรรศการนี้ว่า ราชบุรีเลือนหาย เพราะส่วนตัวสงสัยว่า หากวันหนึ่งสิ่งที่อยู่ในคำขวัญมันค่อยๆเลือนหายไป อย่างทุกวันนี้เรายังคงมี ”ย่านยี่สกปลาดี”อยู่หรือเปล่า? มันพอจะเป็นไปได้ไหม ถ้าพวกเราจะช่วยสร้างอะไรใหม่ๆขึ้นมา อย่างเช่นท่อนที่ว่า เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ เราพอจะเพิ่ม ศิลปะร่วมสมัย เข้าไปด้วยได้ไหม เพราะถ้าเรายึดติดกับบางอย่างที่เรามี หรือ เคยมี หากอนาคตเราไม่เหลืออะไรเลย เราจะอยู่กับแค่ความภูมิใจของคำขวัญในอดีตเท่านั้น หรือ เราควรจะช่วยกันสร้างสิ่งใหม่ๆขึ้นมาเพื่อให้เป็นประวัติศาสตร์ของชุมชน” วศินบุรี อธิบาย
โดยผลงานที่สะท้อนแนวคิดดังกล่าวมากที่สุด คือภาพ การปักธง ที่ วศินบุรีได้ทำล้อเลียนจากภาพภาพแห่งประวัติศาสตร์ การปักธงที่อิโวะจิมะ (Raising the Flag on Iwo Jima) ของ โจ โรเซนธัล (Joe Rosenthal) ที่ได้ถ่ายภาพเพื่อสื่อถึงชัยชนะของกองทัพของสหรัฐใน ยุทธการยึดพื้นที่ ที่อิโวะจิมะ (19 กุมภาพันธ์ – 26 มีนาคม ค.ศ. 1945) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ทว่าภาพนี้ไม่ไดถ่ายจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นหลังจากการได้รับชัยชนะทันที เนื่องจาก ภาพถ่าย ณ เหตุการณ์จริง ธงที่ถูกปักมีขนาดเล็กเกินไป จึงมีคำสั่งให้นำธงผืนใหม่ไปเปลี่ยนจึงเป็นที่มาของการถ่ายภาพนี้ เฉกเช่นเดียวกันกลับ ภาพ “การปักธง” ที่ราชบุรี ป้ายถนนเก่าในอดีตถูกนำมาใช้ในการถ่ายภาพ (ป้ายชื่อถนนยังออกให้เป็นรูปทรงปลายี่สก ซึ่งสะท้อนถึงความภูมิใจในของดีของจังหวัด) โดยใช้องค์ประกอบภาพที่คล้ายกับการปักธงที่อิโวะจิมะ เพื่อตั้งคำถามว่า “เรากำลังเสพย์ความเป็นจริงเพียงบางส่วนอยู่หรือเปล่า สิ่งเหล่านี้คือแค่ประวัติศาสตร์ที่ถูกเลือกให้จำใช่หรือไม่?”
ถัดจากภาพ การปักธง เราได้พบกับ ชุดผลงานภาพบุคคลที่จัดแสดงด้วยกล่องไฟ ซึ่งมีสวิชให้ผู้ชมสามารถเลือกเปิดปิดไฟแต่ละรูปเองได้ โดยศิลปินชาวราชบุรีท่านนี้ อธิบายว่า การเปิดปิดไฟเปรียบเสมือนว่า สิ่งใดในชุมชนจะเลือนหายไป หรือ คงอยู่ต่อไปในสังคมก็ขึ้นอยู่กับคนในสังคมนั้นๆเป็นผู้กำหนดเอง
ส่วนที่ 3 ราดบุรี
ผลงานชุดภาพถ่าย ‘mud’ (หรือ สาดโคลน) ที่ เขาได้ทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งเป็นการถ่ายภาพโดย ใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูง เพื่อให้สามารถเก็บภาพ ในจังหวะที่น้ำโคลนกระทบกับตัวแบบได้อย่างสวยงาม โดยโคลนที่ถูกสาดเข้ามานั้นเปรียบเสมือนชีวิตของคนแต่ละคนจะพบกับเหตุการณ์ต่างๆที่เข้ามาในชีวิตโดยที่เราไม่ทราบล่วงหน้า ผลงานชุดนี้เป็นเหมือนเครื่องเตือนใจว่า เรามีสติพร้อมที่จะรับมือกับสิ่งต่างๆที่จะเข้ามาในชีวิตได้ดีแค่ไหน
“สำหรับนิทรรศการในครั้งนี้ ผมนำชุดภาพถ่ายนี้มาไว้ในส่วนสุดท้ายเพื่อสื่อถึงชุมชนในภาพรวม เพราะแน่นอนว่าในแต่สังคม บางสิ่งอาจจะเลือนลางหายไป บางสิ่งก็อาจจะกระจ่างชัดขึ้นมาตามกาลเวลา เราทุกคนในสังคมควรร่วมมือกันเพื่อรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเข้ามา ประหนึ่งโคลนที่ถูดสาดเข้ามา เพื่อให้เรา และ บ้านเรา จะได้มีความทรงจำ ที่สวยงามและสมบูรณ์ที่สุดตลอดไป” วศินบุรีอธิบายพร้อมกับชี้ไปที่รูปทรงต่างๆของโคลนที่กระทบกับตัวแบบ
คุณ ลิ้ม สมชัย ส่งวัฒนา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ FLYNOW และ ช่างชุย ผู้ที่ได้เคยร่วมงานกับ ติ้ว ได้เป็นแขกมาร่วชมผลงานในนิทรรศการนี้เช่นกัน โดยเขาได้กล่าวถึงศิลปินหัวใจรักบ้านเกิดชาวราชบุรีผู้นี้ว่า
“ในตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีนี้ ผมได้ร่วมงานกับ ติ้วมาตลอด เขาเป็นศิลปินที่ทำงานอย่างมีวินัยมาก มีอุดมการณ์ชัดเจน ผมคิดว่า นิทรรศการนี้ นอกจากมันจะเป็นบันทึกการเดินทางของตัว ติ้ว เองแล้วมันยังเป็นบันทึกหน้าหนึ่งของจังหวัดราชบุรีด้วย จิตสำนึกในการทำงานเพื่อสะท้อนคุณค่าความงามของบ้านเกิดนี้มันเป็นเรื่องสวยงามมาก ผมว่าทุกคนควรจะศึกษาไว้เป็นแบบอย่าง”
หลังจากที่ วศินบุรี ได้พา baanlaesuan.com พาชมนิทรรศการ Lastburi: ราชบุรี เลือนลาง กระจ่างชัด ยังได้พูดคุยกับเราในหลายประเด็นทั้งแนวคิดเรื่องการถ่ายภาพ โดยจะเหมือน หรือ ต่างกับการทำงานเซรามิกซึ่งสร้างชื่อเสียงให้เขาอย่างไร ? รวมถึง เบื้องหลังและก้าวต่อไปของการทำงานพัฒนาศิลปะร่วมกับชุมชน ปั้นเมืองโอ่งให้กลายเป็นเมืองแห่งศิลปะร่วมสมัย ติดตามได้ในตอนต่อไปครับ
สำหรับใครที่สนใจอยากจะไปสัมผัสความงามของ นิทรรศการ Lastburi: ราชบุรี เลือนลาง กระจ่างชัด สามารถเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่วันนี้ – 17 มีนาคม 2562 ณ พื้นที่แสดงงาน โรงงานเถ้าฮงไถ่ จังหวัด ราชบุรี ตั้งแต่ 8.00-17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อโทร. 032-337-574
เรื่อง สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์
ภาพ อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
ช้างตาย 2 หมื่นตัว ใบบัวปิดไม่มิด กับ ติ้ว วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
เปลี่ยน เครื่องปั้นดินเผา ธรรมดาให้มีค่ามากกว่าเดิม
เบื้องหลังผลงาน Bangkok Art Biennale 2018 ภาพแห่งประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของวงการศิลป์
เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x