บรรจุภัณฑ์เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ขนม รวมไปถึงสิ่งของต่าง ๆ ปัจจุบันปัญหาขยะพลาสติกได้เพิ่มมากขึ้นส่วนหนึ่งก็มาจากบรรจุภัณฑ์แบบต่าง ๆ นี่แหละค่ะ จึงทำให้คนส่วนใหญ่เริ่มหันกลับมาสนใจการใช้บรรจุภัณฑ์ทางเลือกและบรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติกันมากขึ้น วิธีพับกระทงใบตอง
เมื่อพูดถึงบรรจุภัณฑ์ทางเลือก หรือวัสดุจากธรรมชาติที่สามารถทำเป็นภาชนะใส่อาหารได้ ชื่อของใบตองก็ถูกนึกถึงขึ้นมาเป็นลำดับแรก ๆ เพราะด้วยคุณสมบัติของใบตองที่ครอบคลุมทั้งการห่อหุ้มอาหาร การพับเป็นภาชนะได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นของคาว ของหวาน กระทง ใบตอง ก็เอาอยู่ วันนี้ my home มี วิธีพับกระทงใบตอง สำหรับการใส่อาหาร 4 แบบ ที่รับรองเลยว่าทำตามกันได้ง่าย ๆ จะนำไปใส่ขนมหรืออาหารก็น่ารักไม่เบาเลยค่ะ
มาทำความรู้จักกับใบตองกัน
ใบตองหรือใบของต้นกล้วยที่นิยมนำมาห่อขนมมีทั้งใบจากกล้วยตานีและใบจากต้นกล้วยน้ำว้า ซึ่งใบตองทั้งสองชนิดนี้มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนเลยค่ะ รวมถึงสีและขนาดของใบด้วย หากเราเลือกใช้ใบตองให้ถูกประเภท ผลงานของเราก็จะออกมาสมบูรณ์ค่ะ
- ใบตองกล้วยตานี – เป็นใบตองที่โดดเด่นในเรื่องความเหนียวนุ่ม ไม่เปราะหรือแตกง่าย มีสีเขียวเข้มชัดเจน หน้าใบกว้างจึงทำให้สามารถนำมาใช้งานได้อย่างดีเยี่ยม เหมาะแก่การนำใบตองตานีมานำเป็นงานประดิษฐ์ที่ต้องการความแข็งแรงคงทนสูง ผิวของใบตองตานีมีความแวววาวสวยงาม ถ้าถามว่าใบตองตานีสามารถนำมาห่ออาหารได้หรือไม่ คำตอบคือได้ค่ะ แต่อาหารที่ถูกห่อด้วยใบตองตานีนั้นรสชาติจะเพี้ยนไปเล็กน้อย
- ใบตองกล้วยน้ำว้า – ด้วยความกว้างของหน้าใบของใบตองชนิดนี้ เรียกได้ว่าแพ้ใบตองตานีอยู่มาก ค่อยข้างเปราะและแตกง่าย สีของใบตองตานีเป็นสีเขียวอ่อน เหมาะแก่การนำมาห่ออาหาร ทำเป็นภาชนะสำหรับของความและหวาน ผิวของใบตองกล้วยน้ำว้ามีความด้านกว่า ใบตองกล้วยตานี
แบบที่ 1 กระทงหนึ่งกลัด
กระทงแบบหนึ่งกลัดเป็นกระทงแบบแรกที่ทำง่าย ใช้เพียงแค่การกลัดไม้กลัดแค่หนึ่งครั้งก็สามารถทำให้ใบตองกลม ๆ กลายร่างเป็นกระทง เป็นภาชนะใส่อาหารและขนมได้แล้วค่ะ สมัยก่อนใช้การทำกระทงแบบหนึ่งกลัดแบบนี้สำหรับการใส่ขนมตะโก้ แต่ปัจจุบันไม่นิยมใช้กันแล้ว หันมาใช้กระทงใบเตยที่ให้ความหอมอ่อน ๆ กับขนม หรือใช้กระทงในแบบอื่น ๆ แทน
วิธีทำกระทงแบบหนึ่งกลัด
1. ตัดใบตองเป็นรูปวงกลมกำหนดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15 เซ็นติเมตร จากนั้นหันด้านนวลเข้าหากันโดยวางเส้นใบให้ขัดกัน การวางเส้นใบขัดกันนั้นจะช่วยทำให้กระทงของเราแข็งแรงขึ้นได้ด้วยค่ะ
2. จับจีบใบตองให้ซ้อนกัน 1 มุม จากนั้นนำไม้กลัดมากลัดเพื่อยึดไว้
3. ดันปลายกระทงลงให้รอบวงแล้วพลิกด้านกลับมา เท่านั้นนี้เราก็ได้กระทงหนึ่งกลัดไว้สำหรับใส่ของที่ไม่มีน้ำ ขนมจำพวกขนมครก สมัยก่อนใช้ใส่ขนมตะโก้ แต่ปัจจุบันไม่นิยมใช้กันแล้วค่ะ เปลี่ยนเป็นการใช้กระทงใบเตย และกระทงแบบอื่น ๆ แทน
แบบที่ 2 กระทงสองกลัด
กระทงแบบสองกลัด เป็นภาชนะจากวัสดุธรรมชาติที่เหมาะกับการใส่อาหารจำพวกอาหารประเภทน้ำ แต่ถ้าหากนำกระทงแบบสองกลัดไปนึ่งรูปทรงของกระทงอาจจะมีการเบี้ยวบูดไปบ้าง แต่รับรองเลยว่าจะไม่มีน้ำไหลซึมออกมาอย่างแน่นอนค่ะ เพราะพื้นของกระทงแบบนี้มีฐานที่กว้างเวลานำไปปิ้งหรือนิ่งจึงทำให้มีความแข็งแรงมั่นคงกว่ากระทงแบบอื่น ๆ
วิธีทำกระทงแบบสองกลัด
1. ตัดใบตองเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีขนาดประมาณ 13 x 16 เซ็นติเมตร จำนวน 2 ชิ้น หันนวลตองเข้าหากัน
2. จับจีบบริเวณกึ่งกลางของใบตองแล้วใช้ไม้กลัดยึดให้จีบของเราทำมุมตั้งฉาก ทำแบบนี้ทั้งสองฝั่ง เท่านี้ใบตองของเราก็จะกลายเป็นกระทงสองกลัดที่มีขอบตั้งขึ้นตามความลึกของจีบที่เรากลัด ในสมัยโบราณใช้สำหรับใส่ปูนแห้ง (ปูนที่ใช้สำหรับกินหมาก) สามารถใส่ของที่มีน้ำได้ ใส่ขนมถ้วยตะไล ขนมถ้วยหน้ากะทิ