หลังจากที่สร้างความฮือฮาไปเมื่อปีที่แล้ว นิทรรศการ “SPECTROSYNTHESIS – Asian LGBTQ Issues and Art Now” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิซันไพรด์ ซึ่งการนำเสนอเนื้อหาสะท้อนมุมมองประเด็นเกี่ยวกับ LGBTQ (เกย์ เลสเบี้ยนไบเซคช่วล ทรานส์เซ็คช่วล และเควียร์)
ที่ได้จัดแสดงขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย (Museum of Contemporary Art) กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ปีนี้เตรียมพบกับภาคต่อ หรือ ภาคสอง ของนิทรรศการนี้ใช้ชื่อ สนทนาสัปตสนธิ SPECTROSYNTHESIS II – Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia ซึ่งจะขึ้นระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 – 1 มีนาคม 2563 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7 และชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเพมหานคร
(ภาพบนสุด ผลงานของ Sunil Gupta – India, The New Pre-Raphaelites #5 (working title)| Collection of the SUNPRIDE Collection Image Courtesy of artist and Sunpride Foundation)
โดยงานนี้ได้ร่วมศิลปินชื่อดังมากมายจากทั่วเอเชียกว่า 50 ท่าน เพื่อมาร่วมสื่อ ความหลากหลายทางเพศและมุมมองเกี่ยวกับชีวิตของผู้คนในสังคม LGBTQ อาทิ ศิลปินงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 อย่าง จักกาย ศิริบุตร และ ศรชัย พงษ์ษา รวมถึง เจ้าพ่อภาพถ่ายร่วมสมัยผู้ล่วงไปแล้วอย่าง เรน แฮง (Ren Hang) ซึ่งงานนี้ได้คนอาร์ตรุ่นเก๋าอย่าง คุณฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที อดีตผู้อำนวยการหอศิลป พีระศรี ระหว่างปี 2519-2531 และ กรรมการผู้ก่อตั้ง และกรรมการบริหาร วงศ์ดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ มาเป็นหัวหน้าทีมภัณฑารักษ์ มาจัดงานร่วมกับ มูลนิธิซันไพรด์
ในวันแถลงข่าวนิทรรศการเมื่อวัน 9 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ทางผู้จัดงาน และ ตัวแทนศิลปินได้มาร่วมพูดคุยกันเกี่ยวกับประเด็นงานศิลปะ กับ LGBTQ ซึ่งบรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง วันนี้ baanlaesuan.com เก็บมาฝากกัน
แพทริค ซัน ,ผู้ก่อตั้งมูลนิธิซันไพรด์ และ นักสะสมงานศิลปะ “มูลนิธิซันไพรด์ มุ่งมั่นดำเนินการสนับสนุน และส่งเสริมเรื่องราวของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ที่อุดมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และยังผลักดันและสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่ ในการสร้างสรรค์ทัศนะเชิงบวกต่อประสบการณ์ชีวิตของกลุ่ม LGBTQ ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการและอนุรักษ์ศิลปะสู่สังคมในวงกว้าง ครั้งนี้เรายินดีที่ได้ร่วมงานกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดงานนิทรรศการ SPECTROSYNTHESIS II – Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia ขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมืองซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นมิตรกับสมาชิกลุ่ม LGBTQ อย่างยิ่ง โดยคณะรัฐมนตรีของประเทศไทยได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีต่อการให้สิทธิสมรสที่เท่าเทียมกันในอนาคต”…
ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที, หัวหน้าทีมภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ สนทนาสัปตสนธิ “ครั้งนี้ศิลปินจากประเทศไทยและจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาร่วมงานกันนำเสนอบทสนทนาประเด็นแห่งความหลากหลายทางเพศ ด้วยผลงานที่มีที่มาแตกต่างกันไป ตั้งแต่งานที่สะท้อนประสบการณ์และมุมมองส่วนตัวของศิลปิน จนถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและความแตกต่างหลากหลาย หรือท้าทายความเป็นตัวของตัวเอง”…
สุดาภรณ์ เตจา , ศิลปิน “คำว่า LGBTQ หมายถึง Love Gets Better with Time Quietly เราทำงานด้วยแรงบันดาลใจจาก ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตฉบับใหม่ ผลงานจะเป็นการแสดงออกถึงทัศนะของเราต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยความหวังที่ให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม”…
Dinh Q. Lê, ศิลปิน “มองย้อนกลับไปในช่วงหลังสงครามเวียดนาม คนรุ่นก่อนมีทัศนคติต่อต้านเกย์อย่างชัดเจน แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว ผมยินดีที่ได้มีส่วนร่วมแสดงออกผ่านผลงานในครั้งนี้ ในช่วงที่สถานะความแตกต่างได้รับความเข้าใจจากสังคมนอกกลุ่ม LGBTQ ผมคิดว่าทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ผ่านการเรียนรู้และการแบ่งปันความเข้าใจซึ่งกันและกันในสังคมโดยรวม”…
อริญชย์ รุ่งแจ้ง, ศิลปิน “จากประสบการณ์ส่วนตัว ความแตกต่างของเราเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีใครในครอบครัวยกขึ้นมาเป็นประเด็น เราจึงสร้างผลงานศิลปะปลดปล่อยความรู้สึกออกมา ผลงานนี้จะเน้นสื่อถึงความสัมพันธ์ของผู้คน ซึ่งอาจจะโยงได้ถึงสมาชิกในกลุ่ม LGBTQ”…
ไมเคิล เชาวนาศัย, ศิลปิน “ผมทำงานเพื่อสื่อสารความเป็นตัวเอง การสื่อสารนี้อาจจะทำให้หลายคนไม่เข้าใจเพราะผมไม่ได้คิดงานจากในกล่อง ผมชอบที่จะก้าวข้ามไปมาระหว่างเส้นมากกว่า เพื่อให้ได้มุมมองจากรอบด้าน”…
นับว่าเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากในช่วงปลายนี้ นิทรรศการ “สนทนาสัปตสนธิ” จะจัดการแสดงขึ้นตั้งแต่ 23 พฤศจิกายน 2562 – 1 มีนาคม 2563 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7 และชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเพมหานคร นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม ประกอบนิทรรศการ อาทิเช่น โปรแกรมภาพยนตร์และศิลปะการแสดงสด เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ศิลปินหลายสาขาได้มีส่วนร่วมแสดงงานและสร้างการขยายเวทีการนำเสนอเนื้อหาให้แก่ผู้ชมในวงกว้างและถึงสังคมโดยรวม
เรื่อง สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์
ขอบคุณภาพจาก หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเพมหานคร
ช้างตาย 2 หมื่นตัว ใบบัวปิดไม่มิด กับ ติ้ว วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
เปลี่ยน เครื่องปั้นดินเผา ธรรมดาให้มีค่ามากกว่าเดิม
เบื้องหลังผลงาน Bangkok Art Biennale 2018 ภาพแห่งประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของวงการศิลป์
เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x