จัดการบ้านอย่างไร เมื่อต้องเจอปัญหาฝุ่น PM 2.5

ตอนนี้ชาวกรุงเทพฯคงกำลังหนักใจกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกที นอกจากต้องใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นตอนออกนอกบ้านแล้ว หลายคนอาจสงสัยว่าเราจะจัดการกับภายในบ้านอย่างไรดี

การแก้ปัญหา ฝุ่นPM2.5 ในบ้าน แม้ว่าสภาพอากาศภายในบ้านที่ปิดประตูหน้าต่างมิดชิดตลอดเวลามักมีปริมาณฝุ่นน้อยกว่านอกบ้านก็จริง แต่เราต้องเผชิญกับปัญหาปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงเกินไปแทน

ผู้เขียนเคยทำการทดลองในห้องนอนของคอนโดมิเนียมพักอาศัยขนาด 3 x 3 เมตร จำนวนคนใช้งาน 2 คน เมื่อปิดประตูหน้าต่างและเปิดระบบปรับอากาศแล้วพบว่าหลังจากใช้งานไปเพียง 6 ชั่วโมง ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มจาก 300 PPM พุ่งขึ้นไปเป็นมากกว่า 1,000 PPM และบางครั้งมากถึง 2,000 PPM เลยทีเดียว (PPM = Part Per Million หรือ หนึ่งส่วนในล้านส่วน) ซึ่งตามข้อกำหนดนั้นค่านี้ไม่ควรเกิน 1,000 PPM และถ้าให้ดีควรน้อยกว่า 800 PPM

ฝุ่นPM2.5 ในบ้าน

เนื่องจากบ้านพักอาศัยและห้องพักอาศัยในคอนโดมิเนียมไม่มีระบบเติมอากาศจากภายนอกเหมือนอาคารสาธารณะ แต่มักใช้การรั่วของอากาศตามช่องประตูหน้าต่าง หรือการเปิดประตูหน้าต่างในการใช้งานปกติช่วยนำอากาศใหม่เข้ามาเติมในห้องเพื่อลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก็เป็นจุดที่ฝุ่นอันตรายไหลเข้ามาในบ้านได้ แต่อากาศภายในบ้านนิ่งกว่านอกบ้าน ทำให้ฝุ่นที่หลงเข้ามาตกลงบนพื้นได้เร็ว

แนะนำให้เปิดประตูหน้าต่างบ้างตามความจำเป็น เพื่อให้มีอากาศใหม่เข้ามาเจือจางอากาศภายใน เป็นการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ และควรเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวภายในบ้านด้วยผ้าชุบน้ำให้บ่อยขึ้น เป็นการลดปริมาณฝุ่นที่ตกลงมาไม่ให้ฟุ้งกลับขึ้นไปในอากาศ ล้างทำความสะอาดฟิลเตอร์เครื่องปรับอากาศให้ถี่ขึ้น ถึงแม้ว่าฟิลเตอร์จะเป็นใยพลาสติกที่กรองได้เฉพาะฝุ่นใหญ่ แต่การทำความสะอาดจะช่วยดักจับฝุ่นได้ดีมากขึ้น และเพื่อให้การดักฝุ่นดีขึ้นไปอีกแนะนำให้ซื้อแผ่นกรองอากาศแบบกระดาษติดเสริมเข้าไปในช่องที่ใส่ฟิลเตอร์ จะช่วยดักจับฝุ่นเล็ก ๆ แต่ให้ติดแค่ครึ่งเดียวอย่าติดเต็มพื้นที่ แอร์จะได้ไม่ทำงานหนักมาก ฟิลเตอร์พวกนี้เมื่อสกปรกแล้วต้องทิ้งเท่านั้น นำมาทำความสะอาดแล้วใช้ซ้ำไม่ได้

แผ่นกรองอากาศแบบกระดาษ
แผ่นฟิลเตอร์ของเครื่องปรับอากาศ

สุดท้ายถ้ามีเงินแนะนำให้ซื้อเครื่องกรองอากาศแยกต่างหากที่สามารถกรองฝุ่นระดับ PM 2.5 จะช่วยให้อากาศในบ้านสะอาดมากขึ้นนั่นเอง และอย่าลืมเปลี่ยนแผ่นกรองบ่อยๆด้วยนะครับ

เรื่อง วิญญู วานิชศิริโรจน์

ภาพ วิญญู วานิชศิริโรจน์ คลังภาพบ้านและสวน


วิธีป้องกัน ฝุ่น PM 2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็ก เข้าภายในบ้าน

N95 หน้ากากกันฝุ่นได้ดี กันสารเคมีในงานช่างได้ด้วย

5 วิธี ทำความสะอาดผ้าม่าน ให้ปลอดภัย ไร้ฝุ่น โดยไม่ทำร้ายเนื้อผ้า