ระยะทางเกือบสองร้อยกิโลเมตรจากกรุงเทพฯมุ่งหน้าสู่อำเภอปากช่อง ขับรถไปตามถนนธนะรัชต์ ก่อนถึงเขาใหญ่ ก็จะพบ วิลล่า มูเซ่ แหล่งเรียนรู้บ้านไทยในอดีต รวมถึงเครื่องเรือนและข้าวของเครื่องใช้
ทั้งจากในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านที่ผ่านการใช้งานจริงจากเจ้านายในสมัยก่อน โดยนำเอาบ้านไทยสมัยรัชกาลที่ 4-6 มาปรับปรุงให้สวยงาม แล้วจัดวางเครื่องเรือนใหม่ตามสไตล์และรสนิยมของ คุณโอ๊ค – อรรถดา คอมันตร์ ผู้เป็นเจ้าของ ใครที่ชื่นชอบการตกแต่งบ้านในยุคสมัยโคโลเนียล ผมว่าที่นี่เป็นสถานที่ที่น่ามาเยือนเป็นอย่างยิ่งครับ วิลล่า มูเซ่
จุดเริ่มต้นของวิลล่า มูเซ่
คุณโอ๊คเริ่มต้นเล่าที่มาของการสร้างแหล่งเรียนรู้แห่งนี้ว่า “ผมชอบสะสมของเก่าของโบราณมาตั้งแต่เด็ก เช่น แสตมป์ โตมาหน่อยก็เริ่มสะสมรถยนต์ แต่ที่ชอบจริงๆมี 3 อย่าง คือภาพถ่าย อาวุธ และเฟอร์นิเจอร์ นอกจากนี้ผมยังชอบไม้ของเรือนไทย เลือกเก็บฝากับพื้นเรือนเป็นหลัก มีเยอะมาก เก็บมายี่สิบกว่าปีแล้ว ก็ยังไม่มีความคิดจะสร้างเรือนไทย ข้าวของทั้งหมดเก็บไว้ที่โกดังย่านพุทธมณฑลสาย 4 กระทั่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 จะว่าไปวิกฤติครั้งนั้นทำให้มีโอกาสสร้างที่นี่ เพราะต้องเคลื่อนย้ายของออกจากโกดัง คือเหมือนเราโดนบังคับทางอ้อม มีของสะสมบางส่วนที่เสียหาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของจากโซนยุโรป เฟอร์นิเจอร์ไม้ยุโรปเป็นไม้มะฮอกกานี ไม้โอ๊ก ไม้วอลนัท ซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อนที่อมน้ำ ซ่อมไม่ได้ ต้องทิ้งอย่างเดียว รู้สึกเสียดายของที่มีอายุเป็นร้อยๆปีต้องมาเสียหายในยุคนี้ ผมเลยตัดสินใจลงมือสร้างเรือนไทยที่ได้มาจากแถววัดอนงค์ย่านฝั่งธนบุรีเป็นหลังแรก ของที่ใช้ตกแต่งบ้านส่วนใหญ่เป็นของที่ผมสะสมไว้นานมาก โดยเฉพาะในยุคสมัยรัชกาลที่ 4-6 ซึ่งผมว่าดูมีเสน่ห์มาก”
จุดเด่นของวิลล่า มูเซ่
“ผมคิดว่า วิลล่า มูเซ่ มีความเป็นตัวเองค่อนข้างสูง เพราะมีการกำหนดยุคสมัยและรูปแบบเข้าไปในการตกแต่งแล้ว อยากให้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมมีความรู้สึกว่าถ้าอยากจะเห็นบ้านอายุเป็นร้อยๆปีต้องมาดูที่นี่ เรามีเฟอร์นิเจอร์เก่า ของตกแต่งบ้านเก่าที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด ที่สำคัญคุณถ่ายรูปได้ เราไม่หวงห้าม ถ้าเป็นที่อื่นอาจถ่ายรูปไม่ได้ ห้ามใช้แฟลช และเป็นสถานที่ที่สามารถจัดกิจกรรมได้ครับ”
หลังพูดคุยกับคุณโอ๊คไปพอสมควร เขาก็อาสาพาไปชมเรือนแต่ละหลังที่ผ่านการบูรณะและตกแต่งให้มีบรรยากาศเหมือนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เริ่มต้นที่อาคารสำหรับจัดนิทรรศการ “เรือนอนุรักษ์โกษา” ซึ่งตั้งตามชื่อบรรพบุรุษคือ พระยาอนุรักษ์โกษา (ประเวศ อมาตยกุล) เป็นเรือนสไตล์ชิโน-โปรตุกีส
ที่สร้างใหม่ ส่วนประตูและหน้าต่างอายุเกินร้อยปีนำเข้าจากประเทศพม่าและอินเดีย ตอนนี้ภายในอาคารจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายประวัติศาสตร์ของ โรเบิร์ต เลนซ์ และยังเป็นที่นั่งจิบน้ำชายามบ่ายของผู้เข้าชม ของสะสมที่โดดเด่นที่สุดในเรือนหลังนี้คือ “คอลเล็กชั่นธง” มีทั้งธงที่ขึ้นเสาเป็นครั้งแรกในประเทศสยาม ธงช้างสมัยรัชกาลที่ 4 ธงสองสีที่ใช้แค่ปีเดียวในสมัยรัชกาลที่ 6 ก่อนจะเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วเปลี่ยนเป็นธงไตรรงค์สามสีเพื่อให้เหมือนอารยประเทศ