เรือนถัดไปเป็น “เรือนไทยมอญ” ที่เสร็จเป็นหลังสุดท้าย คุณโอ๊คได้มาจากอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี โดยตั้งใจทำเป็นหอพระ จุดเด่นของเรือนนี้คือไม้พื้นเป็นไม้มะม่วงป่า ซึ่งมีขนาดแผ่นค่อนข้างใหญ่ ส่วนหลังคาก็ผสมผสานกันระหว่างหลังคาแบบปั้นหยากับหลังคาแบบเรือนไทยภาคกลาง
ใกล้กับเรือนอนุรักษ์โกษาอีกด้านหนึ่งเป็นที่ตั้งของเรือนไทยแฝดจากจังหวัดสุพรรณบุรี ชื่อ “เรือนสิงหฬสาคร” เป็นเรือนไทยไม้สัก ส่วนพื้นเป็นไม้มะค่า สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของผู้คนในอดีต การตกแต่งภายในเป็นไปตามสไตล์และรสนิยมความชอบของคุณโอ๊ค
จากนั้นไปต่อที่ “เรือนสัตยาธิปไตย” เรือนไทยหมู่ภาคกลางสีแดงชาดซึ่งได้มาจากย่านฝั่งธนบุรีที่สืบสายศิลปะมาจากกรุงศรีอยุธยา “โดยส่วนตัวผมชอบเรือนไทยทางฝั่งธนบุรีมาก ส่วนใหญ่เป็นเรือนขุนนางและคหบดี” คุณโอ๊คกล่าวขณะพาชมบรรยากาศภายในเรือน ซึ่งตกแต่งด้วยเครื่องเรือนจากหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งไทย จีน ฝรั่ง และอินเดียผสมผสานกัน ทั้งหมดอยู่ในสมัยวิกตอเรียแทบทั้งสิ้น การจัดวางเครื่องเรือนของเรือนหลังนี้ ยังทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมตะวันตกได้เข้ามามีบทบาทในแผ่นดินสยามในช่วงนั้น
ติดกับเรือนสัตยาธิปไตยคือ “เรือนราชพงศา” เป็นเรือนไม้ที่ได้มาจากชุมชนย่านหลังวัดอนงคาราม ฝั่งธนบุรี ซึ่งอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 4 ภายใต้สถาปัตยกรรมที่ผสมผานทรงปั้นหยา บริเวณด้านหน้าเรือนมีศาลาท่าน้ำที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตในยุคนั้นมากขึ้น