บ้านโครงสร้างเหล็กสไตล์โพสต์โมเดิร์น ที่เรียบง่าย แต่มีรูปทรงโดดเด่นเหมือนงานประติมากรรม
บ้านโครงสร้างเหล็กสไตล์โพสต์โมเดิร์น หลังนี้แสดงถึงความเรียบง่ายแต่เคร่งขรึม เป็นการสลับสับเปลี่ยนอารมณ์ของบ้านให้สะดุดตาเมื่อแรกเห็น โครงสร้างเหล็กสื่อสองอารมณ์ที่แตกต่าง เส้นสายสีดำบางเฉียบดูเรียบง่ายตัดกับความมั่นคงแข็งแรงของงานเหล็กสีแดงที่พาดตัวอย่างมีจังหวะ แล้วลดทอนความเคร่งขรึมด้วยลายไม้และแนวรั้วธรรมชาติสีเขียวเข้มซึ่งตัดแต่งกิ่งใบเป็นระเบียบ เป็นการแสดงความสง่างามตามแนวคิดของ คุณกอล์ฟ-พีรพงษ์ ศรนุวัตร เจ้าของบ้าน ซึ่งชื่นชอบแนวคิดในการออกแบบ Less is more ของ Ludwig Mies van der Rohe ซึ่งลดทอนรายละเอียดเพื่อให้เห็นความมั่นคงแบบไม่มีที่สิ้นสุด บ้านโครงสร้างเหล็ก
คุณกอล์ฟยังมีแนวคิดและแรงบันดาลใจในการออกแบบไปในทิศทางเดียวกันว่า “คุณต้องเห็นคุณค่าในของปกติธรรมดา และของปกติธรรมดานั้นก็จะกลายเป็นงานศิลปะ” การตกแต่งภายในบ้านจึงเรียบง่าย สง่างาม ลดทอนรายละเอียด จัดวางเฟอร์นิเจอร์ที่จำเป็นต่อการใช้งาน เมื่อมีน้อยชิ้น เฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นจึงกลายเป็นงานประติมากรรม เติมเต็มความสมบูรณ์แบบด้วยการออกแบบแสงไฟแบบ Non Uniform เล่นเฉดและวอลลุ่มของแสงให้โดดเด่นเฉพาะจุด บ้านในช่วงค่ำจึงสวยและมีเสน่ห์อย่างมาก
คุณกอล์ฟเล่าต่ออีกว่า “ผมชอบงานสไตล์ Post Modern ที่เรียบง่าย แต่มีรูปทรงโดดเด่น ผมเชื่อว่า บ้านหรือสถาปัตยกรรมเป็นเหมือนงานประติมากรรม ผมต้องการบ้านที่มีอารมณ์ของความนิ่ง สง่างาม โปร่ง สบายตา มีงานเหล็ก งานไม้ งานหนัง มีความเป็นผู้ชาย เรียบเท่ ผมให้ความใส่ใจกับโครงสร้างหลักและการออกแบบแสงไฟ เพื่อจัดวางผังของตัวบ้านภายนอกให้ดูเคร่งขรึมและเน้นความเป็นส่วนตัวเมื่อเข้ามาภายใน การออกแบบมีความต่อเนื่องในแนวราบ ชั้นหนึ่งและชั้นสองจัดวางให้เปิดโล่งอย่างจงใจ เพื่อเชื่อมต่อถึงกัน เพราะครอบครัวผมเป็นครอบครัวทำงาน ในแต่ละวันเรามีเวลาพบกันไม่มาก ผมจึงเชื่อมความสัมพันธ์ของครอบครัวด้วยการออกแบบบ้านให้มองเห็นกันในทุกช่วงเวลา”
เจ้าของบ้านยังให้ความสำคัญกับห้องรับประทานอาหาร โดยจัดวางในโถงส่วนกลางของบ้าน แทนห้องรับแขกหรือห้องนั่งเล่นที่คุ้นเคยกัน “ชีวิตประจำวันของคนในครอบครัวจะพบหน้าพูดคุยกันมากที่สุดก็ตอนรับประทานอาหาร จึงออกแบบโซนแพนทรี่และโต๊ะรับประทานอาหารไว้เป็นห้องแรก เมื่อเปิดประตูเข้ามาในบ้าน เราต้อนรับแขกและเพื่อนๆ ตรงนี้ เวลาผมทำงานที่บ้าน ประกอบโมเดลผลงาน ผมก็จะนั่งทำงานที่โต๊ะนี้ เป็นมุมที่มองเห็นธรรมชาติ เช่นเดียวกับห้องอื่นๆ เพราะผมเน้นความเปิดโล่งและจัดแสงให้เกิดมิติ สร้างอารมณ์ ความน่าสนใจในแต่ละมุม ช่วงกลางคืนจึงสวยมาก”
การเรียงตัวของผนังกระจกใสแบบบานหมุนช่วยเชื่อมต่อพื้นที่ภายในและภายนอกได้เป็นอย่างดี ทั้งยังนำธรรมชาติเข้ามาในตัวบ้าน สามารถมองเห็นสระว่ายน้ำ สนามหญ้าที่เนียนเรียบ ต้นไม้ในจำนวนพอดี สร้างความสดชื่น เติมความสงบนิ่ง ช่วยลดความตึงเครียดจากการทำงาน การจัดวางตัวบ้านรวมถึงสระว่ายน้ำยังคำนึงถึงเรื่องของแสงแดดและทิศทางลม เพื่อให้ลมพัดผ่านหมุนเวียน ภายในบ้านจึงค่อนข้างเย็นสบาย การใช้ผนัง Double Skin Facade ทางทิศตะวันตกยังช่วยลดความร้อนในช่วงบ่าย ทั้งเพิ่มความน่าสนใจให้ตัวอาคารอีกด้วย
มุมที่สะดุดตาอีกมุมในบ้านซึ่งบอกเล่าเรื่องราวน่าประทับใจที่สุดคือ มุมแห่งความภาคภูมิใจของคุณพ่อวิจิตร ศรนุวัตร “คุณพ่อเคยทำงานที่ ททบ. 5 ส่วนงานสำนักพระราชวัง ได้ตามเสด็จในหลวง รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์อยู่บ่อยครั้ง คุณพ่อได้ถวายงานใกล้ชิดโดยถ่ายทั้งวิดีโอและภาพนิ่ง ที่คุ้นตามากที่สุดคือ ภาพที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงขับรถลุยลงไปในน้ำ ซึ่งคุณพ่อผมเป็นคนถ่าย ท่านมีความภาคภูมิใจมากที่ได้ถวายงาน ผมจึงจัดมุมนี้เพื่อเก็บความทรงจำของคุณพ่อและคุณแม่สมัยที่ทำงานเป็นช่างตัดเสื้อ ส่วนของตกแต่งในบ้านอื่นๆ บ้านผมมักค่อยๆ ซื้อเก็บ เพื่อให้แต่ละชิ้นมีเรื่องราวและที่มา บ้านจึงเหมือนยังแต่งไม่เสร็จ เพราะผมจะเติมข้าวของอยู่ตลอด”
จากห้องนั่งเล่นที่เขยิบตัวเข้าไปอยู่ในสุดติดกับสวน สู่บริเวณชั้น 2 ซึ่งเป็นห้องพักส่วนตัวของคุณกอล์ฟ ห้องนี้มีสีหม่นและเคร่งขรึมกว่าห้องอื่น เรียกว่าตกแต่งตามความชอบอย่างเต็มที่
“ตั้งแต่เด็กผมจำได้ คุณแม่บอกว่าชอบห้องที่เปิดออกไปแล้วมีระเบียง มองเห็นสนามหญ้าสีเขียว ผมก็ทำห้องให้ท่านตามนั้น ส่วนห้องผมมีความนิวยอร์กนิดๆ เพราะเรียนจบมาจากที่นั่น ชอบการใช้ชีวิตสไตล์นั้นเป็นพิเศษ สร้างเป็นถ้ำส่วนตัวไว้ ก็จะมืดๆดำๆหน่อย เพราะผมนอนหลับยาก พอทำห้องเป็นแบบนี้ เข้ามาแป๊บเดียวก็จะง่วงเลย ผมเป็น Perfectionist จริงจังกับการทำงาน การใช้ชีวิต แต่ก็ชอบปลีกวิเวก อยู่คนเดียวในที่สาธารณะแล้วสังเกตคนรอบตัว ผมไปอยู่ที่นิวยอร์กคนเดียว เมืองมันบังคับให้เราเป็นแบบนั้น ดูหนังคนเดียว ซื้อตั๋วหนังดูทั้งวัน ไปไหนคนเดียว เดินอยู่คนเดียวท่ามกลางคนเยอะๆแล้วรู้สึกมีความสุข”
ความงดงามของการอยู่ร่วมกันของครอบครัว คือ การสร้างความสุขส่วนตัวให้แต่ละคน และมีสักหนึ่งมุมพิเศษที่ให้ทุกคนในครอบครัวได้ยิ้ม หัวเราะ พูดคุยไปด้วยกัน เป็นการเติมความรักเพื่อให้การเดินไปข้างหน้าของเราเต็มอิ่มไปด้วยกำลังใจ
DESIGNER DIRECTORY : เจ้าของ: คุณพีรพงษ์ คุณวิจิตร และคุณเพียงใจ ศรนุวัตร
ออกแบบ : Project Manhattan Interior Architecture (PMIA) โดยคุณพีรพงษ์ ศรนุวัตร
ที่ตั้ง: กรุงเทพมหานคร
เรื่อง: อุบลวดี พงษ์ทองวัฒนา
ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล
เรื่องที่น่าสนใจ