แบบบ้านชั้นเดียว ที่มีแนวคิดใหม่ของการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ และใช้อย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนขึ้น
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Sumphat Gallery
หากบ้านเป็นเสมือนร่างกายที่เราให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น การสร้างบ้านในยุคนี้คงไม่ได้หยุดอยู่แค่ความสวยงามและอยู่สบายเท่านั้น เพราะความรู้สึกผิดต่อวัฒนธรรมแบบบริโภคนิยมที่ผ่านมาได้ส่งผลโดยตรงต่องานออกแบบ ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ของ แบบบ้านชั้นเดียว ที่ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ และใช้อย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนขึ้น บ้านชั้นเดียว
ด้วยแนวคิดนี้เองที่สถาปนิกและเจ้าของบ้านเห็นพ้องต้องกัน จนกลายเป็นแนวทางหลักของการสร้างบ้านชั้นเดียวไว้พักผ่อนกลางธรรมชาติหลังนี้ ที่มีทิวเขาอยู่เบื้องหน้าภายใต้ท้องฟ้าเปิดโปร่งห่มคลุมด้วยลมธรรมชาติตลอดปี จนดูไม่ออกเลยว่าที่นี่อยู่ห่างจากตัวเมืองหัวหินเพียงแค่สิบกว่ากิโลเมตรเท่านั้น
คุณรัฐ เปลี่ยนสุข สถาปนิกผู้ออกแบบบ้านเล่าให้ฟังว่า “ครอบครัวนี้ตัดสินใจย้ายบ้านจากกรุงเทพฯ มาอยู่ที่หัวหิน ก็เลยอยากทำบ้านให้ตอบรับกับแนวคิดของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ชนิดที่ว่าหากเกิดสงครามในอนาคต พวกเขาก็ยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนี้ได้ด้วยระบบที่พึ่งพาตัวเองและธรรมชาติรอบตัว ผมเองก็เป็นเหมือนเชฟที่นำวัตถุดิบ หรือแนวคิดทั้งหมดของเขามาปรุงและสร้างบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวหลังนี้”
เริ่มจากเลือกบ้านในโครงการที่มีระบบบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวส่วนกลางได้ดี ทำให้สภาพแวดล้อมมีความร่มรื่น โดยคุณรัฐออกแบบบ้านให้เป็นแบบชั้นเดียวในขนาดพื้นที่ใช้สอย 1,500 ตารางเมตร เปิดมุมมองออกสู่ภูเขา มีสระว่ายน้ำอยู่ตรงกลาง ตัวบ้านโอบล้อมสระไปทางด้านซ้ายและขวาคล้ายรูปตัวยู (U) ฝั่งซ้ายเป็นห้องนอนของครอบครัวกับเรือนนอนหลังเล็กที่แยกไว้เผื่อใช้รับรองเพื่อนลูกๆ ฝั่งขวาเป็นห้องนอนสำหรับแขกกับห้องหนังสือพร้อมมุมนั่งสมาธิและศาลาสำหรับซาวน่า เชื่อมทั้งสองฝั่งด้วยพื้นที่ส่วนกลางซึ่งเป็นห้องอาหารและครัวแพนทรี่
“ผมอยากทำให้บ้านกับสภาพแวดล้อมอยู่ร่วมกันได้ดี เลยออกแบบงานสถาปัตย์ที่เปิดหาแลนด์สเคป โครงสร้างบ้านต้องสวยรับกับแสงเงาและทิศทางของแดด ใช้หลังคาแบบบ้านไทยแต่ไม่ชะลูดเกินไปและทำเป็นสองชั้นมีช่องให้ระบายความร้อนตรงกลาง หน้าต่างก็ออกแบบเลยว่าเปิดออกมาแล้วจะเจอต้นไม้อะไรโดยเลือกชนิดที่เหมาะสม ที่สำคัญคือการเปิดช่องรับลมธรรมชาติ เพราะหัวใจหลักของบ้านคือไม่ใช้พลังงานเยอะ และที่นี่ก็ใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ซึ่งปกติแล้วกลางวันแทบไม่ต้องใช้ไฟเลย เพราะอากาศเย็นสบายอยู่แล้ว”
งานตกแต่งภายในเองก็มีการผสมดีไซน์หลายๆ อย่างไว้ด้วยกัน ทั้งความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม การเลือกวัสดุที่ไม่เป็นพิษต่อสุขภาพ และการใช้งานหัตถกรรมของชุมชนมาตกแต่งส่วนต่างๆ ในบ้าน นอกจากเพื่อการใช้งานแล้ว ยังช่วยเสริมเสน่ห์ให้บ้านมีบุคลิกเฉพาะที่ชัดเจน
“อย่างผนังบ้านก็ทาด้วยสีดินของ La Terre ที่ได้จากแหล่งดินธรรมชาติของไทย เป็นมิตรกับคน และไม่มีค่า VOC (สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายที่เป็นพิษ) มันจะออกสีขาวนวลๆ หน่อย เป็นสีที่ไม่สะสมความร้อน จึงช่วยให้อุณหภูมิในบ้านคงที่ และเน้นใช้งานหัตถกรรมเพื่อสร้างงานให้ชุมชนด้วย เช่น โคมไฟหวาย เก้าอี้ผักตบชวา งานทองเหลืองเคาะมือ จนเป็นซิกเนเจอร์ของบ้านผสมกลมกลืนไปกับงานศิลปะที่เจ้าของบ้านสะสมเอง รอบๆ บ้านก็ยังจัดสวนตามระบบ Permaculture ที่ไม่ต้องดูแลมาก มีทั้งไม้ใบ ไม้ดอก ไม้ผล สมุนไพร และพืชผักสวนครัวเกือบร้อยชนิดที่สามารถนำมาบริโภคได้ตลอด เพราะเจ้าของบ้านเป็นมังสวิรัตที่กินแค่วันละมื้อ รวมถึงระบบกรองน้ำฝนให้กลับมาใช้สอยภายในบ้านด้วยเพื่อพึ่งพาปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด”
บ้านหลังนี้จึงไม่เพียงตอบปรัชญาการออกแบบในเชิงฟังก์ชันและความงามตามที่สถาปนิกตั้งใจไว้ หากยังเป็นไปตามปรัชญาการใช้ชีวิตในแบบที่เจ้าของบ้านต้องการคืออยู่ร่วมกับธรรมชาติ แวดล้อมด้วยงานศิลปหัตถกรรม และผสมผสานไปกับความสะดวกสบายแบบสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน
สถาปนิก: คุณรัฐ เปลี่ยนสุข Sumphat Gallery
ที่ตั้ง:จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
เรื่องที่น่าสนใจ