ACCIDENTALLY PROFESSIONAL นิทรรศการจับนักวิเทศสัมพันธ์ วินมอไซค์ และกราฟิกดีไซเนอร์ มาเผยตัวตนอีกด้านที่บ้านอาจารย์ฝรั่งฯ
ไม่ไกลนักจากเชิงสะพานซังฮี้ บนถนนราชวิถีฝั่งพระนคร เรามีนัดกับ 3 หนุ่มใหญ่และอีก 1 สาวน้อย ช่วงราว ๆ 5 โมงเย็นของวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม เพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวที่พวกเขากำลังเล่าผ่านนิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019 ซึ่งจัดขึ้นอยู่ในขณะนี้ที่บนชั้น 2 ของบ้านอาจารย์ฝรั่งศิลป์ พีระศรี ซึ่งมีอายุร่วมร้อยปีนับแต่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6
“ACCIDENTALLY PROFESSIONAL” ชื่อของนิทรรศการนั้นบ่งบอกได้ชัดว่าศิลปินที่มาแสดงงานในครั้งนี้เป็นความบังเอิญโดยตั้งใจ ว่าด้วยการจับเอานักวิเทศน์สัมพันธ์ วินมอไซค์ และกราฟิกดีไซเนอร์ มาเจอกันเพื่อเผยความเป็นศิลปินที่ซ่อนอยู่ในตัวของแต่ละคนออกมา โดยมี คุณหนุ่ม-รังสรรค์ นราธัศจรรย์ นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ niiq และเจ้าของคาเฟ่ Craftsman x บ้านอาจารย์ฝรั่ง แห่งนี้เป็นคิวเรเตอร์ของงาน และนับเป็นนิทรรศการแรกของทั้ง Craftsman Roastery รวมถึงตัวของคุณหนุ่มเองในฐานะเจ้าภาพอีกด้วย
เรามาถึง Craftsman x บ้านอาจารย์ฝรั่ง ก่อนเวลานัดเล็กน้อยเพื่อใช้เวลาช่วงคอยศิลปินทุกคนมากันพร้อมหน้า เดินชมผลงานที่แขวนประดับอยู่ภายในแกลเลอรีซึ่งแบ่งออกเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ 2 ห้อง และห้องขนาดเล็กอีก 1 ห้อง ไปพราง ๆ โดยให้หลังจากนั้นไม่นานศิลปินคนแรกก็มาถึง คุณเอก-พิชัย แก้วพิชิต วัย 43 ปี ช่างภาพหนุ่มใหญ่ที่สลัดคราบมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาจับกล้องถ่ายรูปบันทึกมุมมองผ่านเลนส์ สื่อให้เห็นภาพถ่ายตึกรามบ้านช่องที่ในภาษาช่างภาพเต็ก (สถาปัตยกรรม) เรียกกันว่า “ตีฟตรง” ทุกรูป และจัดว่าสวยงามไม่แพ้ช่างภาพวิชาชีพเลยแม้แต่น้อย
คนถัดมาที่มาถึงในเวลาไล่เลี่ยกันคือ คุณกรุ๊ป-พรรษชล โตยิ่งไพบูลย์ กราฟิกดีไซเนอร์สาววัย 25 ปีแห่ง Teaspoon Studio ที่เธอใช้เวลาว่างวาดภาพประกอบเป็นงานอดิเรก แล้วอัพรูปลงอินตาแกรมจนไปเตะตาคุณหนุ่ม-รังสรรค์ แอบกดติดตามอยู่ห่าง ๆ มาสักพักใหญ่จนได้เวลาประจวบเหมาะชวนมาแสดงงานในครั้งนี้ด้วยกัน
จบด้วย คุณมด-รพิ ริกุลสุรกาน นักวิเทศสัมพันธ์วัย 35 ปี ที่รับราชการอยู่ในสำนักประธานศาลฎีกา เลิกจากงานประจำตามมาสมทบเป็นคนสุดท้าย คุณมดนำผลงานการเขียนตัวอักษรด้วยมือ (Calligraphy) ที่เขาเองบอกกับเราว่าเป็นสมุดการบ้านที่เขาใช้ซ้อมมือมาจัดแสดง ซึ่งคุณหนุ่มผู้ชักชวนเขามาเป็น 1 ใน 3 ศิลปินได้ให้คำจำกัดความต่อ “ครูมด” ว่าเป็น Penman ที่เขียนอักษรด้วยมือเก่งเบอร์ต้น ๆ ของไทยเลยทีเดียว
“คนแรกที่ผมเห็นผลงานคือเอกผ่านการแนะนำของ จัง ปลูกปั่น (คุณศิริลักษณ์ มหาจันทนาภรณ์)” คุณหนุ่มกล่าว “เวลาเราเจอกัน เราจะคุยกันเรื่องสัพเพเหระ แล้วจังเขาก็เล่าให้ผมฟังว่าได้ไปเจอน้องคนหนึ่งฝีมือถ่ายภาพน่าสนใจ แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือสตอรีของเขา เพราะเขาเป็นมอเตอร์ไซต์รับจ้างอยู่ราชเทวี”
“ครั้งแรกที่ผมดูภาพจากไอจีของเอกที่จังเปิดให้ดูถึงกับร้องโอ้โห! นี่มันไม่ธรรมดาเลยนะ เราก็เลยคิดกันว่าจะช่วยเอกยังไงดี จะหาเวทีให้เขาไปแสดงงานหรือต่อยอดทำให้ผลงานเขารู้จักในวงกว้าง เพราะผมเชื่อว่าคนที่ได้เห็นงานเขาหรือได้ยินสตอรีของเขา มันเป็นแรงบันดาลใจได้เลย จริง ๆ แล้วเขาก็ยุ่งอยู่กับการทำมาหากินของเขา แต่ยังมีเวลาไปหามุมมองแล้วเก็บเรื่องราวมาเล่าให้คนอื่นดู ซึ่งผมมองว่าการถ่ายรูปของเอกเป็นการเล่าเรื่อง แล้วมันก็มาประจวบกับเราเปิดคาเฟ่อยู่ที่นี่ ซึ่งชั้นบนของบ้านทั้งปีนี้ พี่นิจ ผู้ดูแลบ้าน เขาก็เสนอว่า Craftsman สนใจจะมาช่วยจัดนิทรรศการบ้างไหมพอดี”
อ่านต่อบทสัมภาษณ์: เมื่อภาพถ่ายเปลี่ยนชีวิตพิชัย แก้ววิชิต วินมอไซค์แห่งราชเทวี
คุณหนุ่มเริ่มชักชวนคุณเอกมาเป็นศิลปินคนแรก ในขณะที่ตัวคุณเอกกลับแอบกังวลว่าผลงานภาพถ่ายของเขา จำนวน 121 รูปในอินสตาแกรมแอ็คเคานต์ @phichaikeawvichit ที่ล่าสุดยอดฟอลโลวจากหลักพันเพิ่มเป็นหลักหมื่นในชั่วข้ามคืนจะไม่เพียงพอต่อการจัดแสดงเดี่ยว คุณหนุ่มอธิบายต่อว่า “พอเรามีโอกาสได้นั่งคุยกันเรื่องวิธีคิดของเอก เราก็เห็นด้วยว่ามันน่าจะมีการสร้างประเด็นขึ้นมาสักประเด็น ซึ่งสิ่งที่เราจับประเด็นได้คือเอกเขาบอกว่า เขาไม่ได้ถูกฝึกขึ้นมาเป็นช่างภาพอาชีพ มันเป็นความบังเอิญมากกว่า พอทำไปทำมามันกลายเป็นการฝึกด้วยตัวของตัวเอง แม้มันยังไม่ถึงการเป็นวิชาชีพ แต่ผมกลับคิดว่าเขาเป็นคนที่ทำเป็นวิชาชีพได้แล้วนะ”
“จากนั้นเราก็เริ่มมองหาคนที่ทำงานในสายที่เขาเองไม่ได้ร่ำเรียนมาโดยตรง เรานึกถึงคนเขียนคาลิคราฟต์ จนไปได้ยินเรื่องราวของครูมด” คุณหนุ่มเล่าย้อนถึงที่มาถึงการชักชวนศิลปินคนที่สอง “ครูมดที่จริงเขาไม่ได้จบศิลปะ เขาจบกฏหมาย เรียนนิติฯที่จุฬาฯ แล้วปัจจุบันก็ยังทำงานรับราชการด้านกฏหมาย แต่ว่าด้วยความที่เขาสนใจเรื่องนี้และตั้งใจศึกษาด้วยตัวเองจนถึงระดับที่บินไปเรียนกับมาสเตอร์ อายุ 70-80 ปี จนตอนนี้มันก็กลายเป็นวิชาชีพหนึ่ง ซึ่งถ้าจะหาคนที่เขียนแบบนี้เก่ง ๆ ในบ้านเรา มันก็ต้องมีเขาอยู่ในลิสต์”
อ่านต่อบทสัมภาษณ์: รพิ ริกุลสุรกาน นักวิเทศสัมพันธ์ที่ฝึกมือวาดอักษรด้วยพรแสวง และนิทรรศการที่เขาขนการบ้านมาแสดงให้ชมที่บ้านอาจารย์ฝรั่ง
เมื่อได้ช่างภาพ ได้นักวาดตัวอักษร คุณหนุ่มจึงอยากได้คนทำงานด้านการวาดภาพประกอบอีกสักคนที่มีคาแรกเตอร์ของตัวเองชัดเจนมาสมทบให้ครบไลน์อัพ 3 ศิลปินในนิทรรศการ และนั่นเองก็เป็นที่มาของการไปชักชวนคุณกรุ๊ป-พรรษชล กราฟิกดีไซเนอร์สาวขี้อาย ซึ่งครั้งนี้เป็นนิทรรศการแรกของเธอเองเช่นกัน
อ่านต่อบทสัมภาษณ์: พรรษชล โตยิ่งไพบูลย์ กราฟิกดีไซเนอร์ผู้สรรค์ศิลป์สีสดใสจากฉากในภาพยนตร์
“ผมตามไอจีของกรุ๊ป @patsachon มาสักพักใหญ่ ผมชอบงานเขา แล้วมีน้องคนหนึ่งเขาก็พูดถึงกรุ๊ปอีกหมือนกัน เราก็เลยไปคุยกับกรุ๊ปดูว่าเขาเคยแสดงงานมาก่อนไหม” คุณหนุ่มให้เหตุผล “แล้วเราก็กลับไปย้อนดูพอร์ตที่เขาทำลงในไอจีช่วงแรก ๆ เขาจะสเก็ตช์ด้วยดินสอเป็นลายเส้นที่วาดด้วยมือ แต่ช่วงหลัง ๆ ก็เริ่มมีคาแรกเตอร์ที่ชัด เขาจะเป็นคนที่ใช้โทนสีแม่สี แดง เหลือง น้ำเงิน เป็นหลักได้น่าสนใจ เราคุยกันจนมารู้ว่ากรุ๊ปเคยเขียนงานภาพประกอบที่ร้าน On the table ที่ผมเป็นคนออกแบบมาก่อนด้วย ตอนนั้นคิดว่าเคมีเราคงตรงกันแล้วล่ะ (หัวเราะ)”
“ทั้ง 3 คนนี้ต่างมีคำถามอยู่ในใจนะ เขาเริ่มต้นที่จะค้นหาคำตอบในใจของตัวเองมาเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นผลงาน ความต่อเนื่อง มาถึงจุดที่เป็นวิชาชีพได้จริง ๆ มันก็เลยเป็นที่มาของโปรเจ็กต์นี้” คุณหนุ่มกล่าวทิ้งทาย
ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019
- พิชัย แก้วพิชิต
กล้องตัวแรกของผมเป็นกล้องฟิล์มที่ได้มาจากพี่ที่รู้จักกัน แนวการถ่ายภาพของผมในช่วงแรกเป็นการเดินทางไปถ่ายภาพธรรมชาติตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ทั้งค่าอุปกรณ์และค่าเดินทาง ผมจึงได้หยุดถ่ายรูป จนเวลาผ่านมาประมาณ 10 ปี ความชอบในการถ่ายรูปยังคงอยู่ในตัวผม ผมจึงได้เปลี่ยนวิธีและมุมมองการถ่ายของผม จากฟิล์มมาเป็นดิจิตอล หันมาถ่ายสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัว และถ่ายทอดมุมมองของผมออกมาในแบบที่เป็นตัวผมจริง ๆ
- พรรษชล โตยิ่งไพบูลย์
เราเริ่มสร้างงานจากการดูและจดจําสิ่งที่ได้เห็นได้เจอมา โดยส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ มาวาดเป็นภาพประกอบ โดยช่วงแรกเทคนิคที่ใช้เป็นการนำดินสอและสีไม้มาวาดลงบนกระดาษ เพราะมันตอบโจทย์ความคิดและภาพในหัวที่อยากจะสื่อได้เร็วที่สุด แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่าการสร้างงานบนพื้นผิวอื่นที่นอกเหนือจากกระดาษนั้นมีความน่าสนใจ ซึ่งผลลัพธ์ของงานที่ได้ในแต่ละครั้งนั้นก็จะต่างกันออกไป ทําให้เกิดพื้นผิวที่คาดไม่ถึงและคาดเดาไม่ได้
- รพิ ริกุลสุรกาน
การเขียนตัวอักษรด้วยมือโดยปากกาแบบจุ่มหมึก เป็นสิ่งที่ทําให้ “มด” รู้สึกหลงใหลอย่างมาก และทุ่มเทเวลาเพื่อฝึกฝนและศึกษาอย่างจริงจังตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นจากการศึกษาผ่านตําราเก่า ๆ เมื่อฝีมือของผมพัฒนาขึ้นผมจึงได้ศึกษากับ Master Penman และอาจารย์ชาวต่างประเทศคนอื่น ๆ ซึ่งทุกวันนี้ผมยังคงตั้งใจฝึกฝนและพัฒนาฝีมือเพื่อให้การเขียน Calligraphy นั้นยังคงอยู่ต่อไป และเพื่อเป็นเครื่องมือให้ผมได้กล่อมเกลาจิตใจตัวเอง
นิทรรศการ ACCIDENTALLY PROFESSIONAL EXHIBITION 2019 ณ Craftsman x บ้านอาจารย์ฝรั่งศิลป์ พีระศรี ถนนราชวิถี เชิงสะพานซังฮี้ จัดแสดงระหว่างวันที่ 8 – 31 มีนาคม 2562 เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 7.00 – 19.00 น. นอกจากนี้ยังเปิดจำหน่ายโปสการ์ดประชาสัมพันธ์นิทรรศการในราคาใบละ 20 บาท และโปสเตอร์ในราคา 100 บาท รายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายจะถูกนำไปบริจากให้กับภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อ “ช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการมองเห็น ให้สามารถมองเห็นโลกที่สวยงามได้เหมือนเดิม” ตามความตั้งใจของคุณเอก-พิชัย แก้วพิชิต
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของศิลปินทั้ง 3 คนได้ที่นี่
เรื่อง : นวภัทร
ภาพ : นันทิยา