เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (BAB) ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ ขยายวงความสุขให้กว้างขึ้น จัดกิจกรรม BAB Short Film Contest 2019 การประกวดภาพยนตร์สั้น ระดับอุดมศึกษา ภายใต้แนวคิด “Beyond Bliss” หรือ “สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต” ชิงทุนการศึกษารวมมูลค่ากว่า 70,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ
เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี ไม่จำกัดชั้นปีและคณะวิชา สร้างผลงานหนังสั้น ไม่จำกัดเทคนิค และที่สำคัญในภาพยนตร์จะต้องมีภาพของชิ้นงานศิลปะใน เทศกาล บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ปรากฏอยู่ด้วย โดยมีผู้สนใจส่งโครงเรื่องย่อ (Treatment) เข้าร่วมมากถึง 82 ทีม จาก 26 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ
งานนี้ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวฒิทั้ง 6 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการศิลป์ ของเทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ , นิติกร กรัยวิเชียร กรรมการ มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่, ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), รองศาสตราจารย์อรชุมา ยุทธวงศ์ นักการละคร อาจารย์ นักเขียน และครูสอนการแสดง, เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับภาพยนตร์ และ ผู้กำกับโฆษนาแถวหน้าของไทย ศิลปินศิลปาธร สาขาภาพยนตร์ ปี 2547 , ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ภาพยนตร์อิสระ และรองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) มาร่วมกันเฟ้นหาหนังสั้นที่เหมาะสมที่สุดตอบโจทย์ ความสุข สะพรั่ง พลังอาร์ต นำศิลปะร่วมสมัยมาตีความใหม่ผ่านผลงานภาพยนตร์สั้นในมุมมองของคนรุ่นใหม่ จนได้ 10 ทีมที่ดีที่สุด ได้รับทุนสนับสนุนทีมละ 10,000 บาท เพื่อไปผลิตผลงานทำโครงเรื่องย่อนั้นให้กลายเป็นภาพยนตร์สั้นขึ้นมา โดย ทั้ง 10 ทีมได้รับใบประกาศเกียรติคุณ จากมูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และ 3 เรื่องที่ดีที่สุด จะได้รับรางวัลเป็นเงินสด 35,000 บาท 25,000 บาท และ 15,000 บาท ตามลำดับ
งานประกาศผลและมอบรางวัลจัดขึ้นที่ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2562 โดยมีผู้แทนคณะกรรมการและศิลปินในโครงการ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เข้าร่วมชมภาพยนตร์ และให้กำลังใจกับน้องๆทุกทีมด้วย
เราไปฟังความรู้สึกจากตัวแทนของคณะกรรมการ ที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้
เป็นเอก รัตนเรือง, ศิลปินศิลปาธร สาขาภาพยนตร์ ประจำปี 2547 และ ผู้กำกับภาพยนตร์มือรางวัล
“รู้สึกว่าการตัดสินในรอบสุดท้ายค่อนข้างยาก เพราะทุกทีมที่ผ่านเข้ารอบ สามารถทำผลงานออกมาได้ดี สูสีกัน โดยภาพรวมผลงานของทุกทีมที่โดดเด่นคือทุกทีมมีการทำการบ้าน ศึกษาหาข้อมูลเป็นอย่างดี มีการลงพื้นที่ศึกษาชิ้นงานศิลปะจริง จึงสะท้อนออกมาในผลงานทุกเรื่อง สามารถนำชิ้นงานศิลปะมาเล่าเรื่องได้ แบบสัมผัสได้ เข้าถึงได้ ซึ่งฝากคำแนะนำสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการทำภาพยนตร์ ทุกครั้งที่มีโอกาส ให้ลงมือทำ ไม่ต้องคิดมาก ปัจจุบันความรู้หาได้ง่ายมาก แต่อย่าคิดเยอะ ใช้ความกล้าในการตัดสินใจ เราก็จะพัฒนาความสามารถขึ้นไป โดยคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีที่จัดงานศิลปะระดับโลก เมื่องานจบ ยังต่อยอดเป็นภาพยนตร์ได้อีก ถูกตีความเป็นงานศิลปะผ่านภาพยนตร์”
ชลิดา เอื้อบำรุงจิต, ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
เผยว่า “ต้องบอกว่าบรรยากาศในห้องตัดสินนั้น ถึงแม้ว่าจะตึงเครียด แต่ก็สนุก เพราะงานศิลปะมันมีมุมมองที่หลากหลาย การที่ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับกรรมการท่านอื่นๆก็สนุก การตัดสินค่อนข้างยาก อาจเป็นเพราะหนังทุกเรื่อง มีจุดเด่นด้อยต่างกัน 10 เรื่องก็ไม่ได้หนีกันมาก ประเด็นสำคัญ คือโจทย์ ให้ใช้ศิลปะในงานBAB มาเป็นโจทย์ ก็จะตัดสินในเรื่องของการเอาชิ้นงานเข้ามาเล่าเรื่องได้แบบเป็นเหตุเป็นผล และการตีความของชิ้นงานศิลปะ นอกเหนือจากโปรดักชั่นหรือการแสดง ความโดดเด่นของ 3 เรื่องสุดท้ายที่ได้รับรางวัลก็จะแตกต่างกันไป เล่าเรื่องชิ้นงานศิลปะได้ดี มีความโดดเด่นในการถ่าย ความหมายของการใช้ภาพ เข้าใจความหมายของชิ้นงานศิลปะ ซึ่งสะท้อนได้ว่าทำการบ้านเกี่ยวกับชิ้นงานนั้นได้อย่างดี ฝากถึงทีมที่ไม่ได้รางวัล ว่าการตัดสินก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการสิ้นสุด งานภาพยนตร์ก็คือศิลปะอย่างหนึ่ง ต่างคนมองก็ต่างเหตุผล ต่างความรู้สึกแตกต่างกันไป อย่าไปคาดหวังกับรางวัลมาก พลาดงานนี้ก็อาจจะได้รางวัล จริงๆหนทางของคนทำภาพยนตร์มันก็ไม่ได้ง่าย คนที่จะอยู่ในวงการได้จริงๆ คือต้องรักและทุ่มเท เพราะต้องฟันผ่าหลายอย่าง หนทางไม่ได้สวยหรู ต้องรักจริงๆ”
ก้อง ฤทธิ์ดี, นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดัง
“การตัดสินมีกรรมการมาจากหลากหลายสาขา เป็นข้อดีของการมองภาพยนตร์คนละมุมกัน สิ่งที่กรรมการทุกคนสนใจก็คือแต่ละเรื่องมีการใช้งานศิลปะมาเล่าเรื่องอย่างไร สนับสนุนเนื้อเรื่อง ตัวละคร โดย 3 เรื่องที่ได้รางวัลชนะเลิศมีความเป็นศิลปะในภาพยนตร์ได้อย่างดี 10 เรื่องนี้มีความสูสีกัน ทำได้ดี และโดดเด่นแตกต่างกันไป ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการนำชิ้นงานศิลปะมาทำเป็นภาพยนตร์ เป็นการสนทนา 2 สื่อ คือภาพยนตร์ และศิลปะ สำคัญที่ต้องใช้โจทย์นี้ให้มาก สื่อสารผ่านออกมาทางภาพเคลื่อนไหว หากมี BAB ในปีหน้าก็อยากให้จัดอีก”
ศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์, ผู้อำนวยการศิลป์เทศกาล บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ได้พูดคุยกับ baanlaesuan.com เกี่ยวกับประกวดครั้งนี้ว่า มีใบสมัครส่งเข้ามาทั้งหมด 82 ทีมจาก 26 มหาวิทยาลัย ซึงถือเป็นจำนวนที่มากกว่าที่ทางกองประกวดคาดไว้เป็นอย่างมาก ในการประกวดปีหน้า ทางคณะกรรมการกำลังพิจารณาว่า อาจจะจัดประกวดรุ่น โอเพ่น (open) สำหรับมืออาชีพ ซึ่งในครั้งนี้เราจะเห็นแล้วว่าผลงานศิลปะนั้นสามารถต่อยอด สร้างเป็นผลงานศิลปะชิ้นใหม่ได้อย่างไร โดยแต่ละทีมที่ส่งเขามานี้ จะเห็นได้ว่ามีมุมมองต่อชิ้นงานศิลปะต่างๆที่แตกต่างกัน
หลังจากฝ่านด่านการคัดเลือกสุดหิน ทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศรางวัลที่ 1 ในครั้งนี้คือทีม ทีมยี่สิบหมกกะลา จาก คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราไปชมผลงาน เรื่อง ‘Another Sun’ ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างจากผลงาน Giant Twins และ กาชาปองสุดฮอต ของ คมกฤษ เทพเทียน ซึ่งได้จัดแสดงที่วัดอรุณฯ ในเทศกาลศิลปะนานาชาติบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่ผ่านมา และ นี่คือผลงาน ‘Another Sun’
baanlaesuan.com ได้พูดคุยกับสมาชิกทั้งสามในทีม ทีมยี่สิบหมกกะลา ได้แก่ อาทิมา สุรัจกุลวัฒนา, ชญานนท์ วงษ์สมศรี และ อนรรฆมนต์ อังศธรรมรัตน์ น้องๆเพิ่งจะเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 เท่านั้น โดยเหตุผลที่เลือกผลงานของ คมกฤษ มาเล่าเรื่องนั้นเป็นเพราะว่า ชญานนท์ สะสมกาชาปองของคมกฤษ จึงเกิดแรงบันดาลใจเอามาคุยกับเพื่อนๆ จนจุดประกายเป็นไอเดียในการสร้างภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้
“แนวคิดการเอาอับเฉามาทำกาชาปองนั้น ศิลปินต้องการสื่อเรื่องราวการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เราจึงอยากจะให้ตัวละครในหนังของเรานั้น สื่อสารกันด้วยภาษาที่คุยไม่รู้เรื่อง แต่สามารถสื่อสารกันเข้าใจได้ผ่านผลงานศิลปะชิ้นนี้” อนรรฆมนต์กล่าว
เราได้ถามว่าอยากจะฝากอะไรถึง คมกฤษ เทพเทียน ผู้ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจการสร้างหนังสั้นเรื่องนี้
“เราขอขอบคุณ พี่คมกฤษ เป็นอย่างมาก เพราะถ้าไม่มีพี่เขา งานของเราก็คงจะไม่สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้เช่นนี้” อาทิมา เป็นตัวแทนของทีมกล่าวขอบคุณ
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆของเทศกาลศิลปะนานาชาติบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ซึ่งได้จัดกิจกรรมสร้างสรรค์เช่นนี้มาให้คนสายอาร์ตได้เข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง
สุดท้ายนี้เรายังมีผลงาน BAB Short Film Contest 2019 อีก 9 เรื่อง ที่ดูสนุกและได้สะท้อนมุมมองจากศิลปะอันหลากหลายในงาน BAB2018 ที่แตกต่างกันไป ท่านสามารถเข้าไปชมผลงานที่ผ่านเข้ารอบทั้งหมด ได้ที่นี่
เรื่องและภาพ(ข้างบนสุด): สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์
ภาพ: ทีมงาน BAB Short Film Contest 2019