บ้านปูนเปลือย ที่ดูดิบสไตล์ลอฟต์ แต่ผสมด้วยหลังคาทรงจั่วแบบไทยที่เข้ากันได้ดีกับสภาพอากาศร้อนชื้น ภายในเรียบแบบมินิมัลแต่ครบถ้วนทุกฟังก์ชันที่จำเป็น
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Spacelab
แม้หน้าตาและรูปทรงของบ้านจะเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่หลายคนคำนึงถึงเมื่อต้องการสร้างบ้านสักหลังของตัวเอง แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าหน้าตาก็คือฟังก์ชันการใช้สอยที่ซ่อนอยู่ภายใน บ่อยครั้งเราจึงมักเจอบ้านที่มีรูปทรงเรียบง่ายแต่ภายในซ่อนฟังก์ชันน่าทึ่งไว้มากมาย เหมือนกับ บ้านปูนเปลือย หลังนี้
ด้วยเพราะผนังส่วนใหญ่เป็นปูนเปลือยที่ดูดิบๆ ในสไตล์ลอฟต์ แต่พอเงยหน้ากลับเจอหลังคาทรงจั่วแบบไทยที่เข้ากันได้ดีกับการยกพื้นบ้านให้สูง และมองเข้าไปภายในก็ยังดูเป็นบ้านที่แสนเรียบโล่งแบบมินิมัล เพราะหัวใจสำคัญของบ้านนี้ไม่ใช่การกำหนดสไตล์ แต่เป็นสิ่งที่ คุณกิ๊ฟท์-เกษรา กิติสุข เจ้าของบ้าน บอกไว้ว่าคือฟังก์ชันทุกพื้นที่ในบ้านซึ่งตอบรับการใช้งานได้ดีที่สุดต่างหาก
ความเรียบโล่งและเฟอร์นิเจอร์เพียงน้อยชิ้นที่เห็นอาจทำให้เข้าใจไปว่าเป็นบ้านเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ แต่คุณกิ๊ฟท์ยิ้มให้ความคิดนี้แล้วบอกว่า “เราอยู่บ้านนี้กันมา 3 ปีแล้วค่ะ ป๊ากับม๊าเป็นคนมีระเบียบและไม่ชอบให้บ้านมีของวางเกะกะรกตา ตอนจะสร้างบ้านหลังนี้เขาบอกเลยว่าขอบ้านเล็กๆ ที่ไม่รก ดูแลง่าย และใช้งบก่อสร้างไม่มาก เหมือนจะเป็นโจทย์ง่ายๆ นะ แต่ก็ยากค่ะ”
บนที่ดินขนาด 160 ตารางวา ที่ครอบครัวกิติสุขซื้อไว้นานหลายปีกว่าคุณกิ๊ฟท์ผู้เป็นลูกสาวจะเรียบจบด้านสถาปัตย์ และพร้อมลงมือออกแบบบ้านของตัวเองร่วมกับ คุณอู-ธเนศ แซ่อู รุ่นพี่สถาปนิกที่ได้ชื่อว่าเป็นนักประดิษฐ์ตัวยง คุณกิ๊ฟท์เริ่มจากการนำพฤติกรรมการใช้ชีวิตของทุกคนในบ้านมาวิเคราะห์ เพื่อออกแบบพื้นที่ใช้งานที่เน้นการใช้สอยร่วมกันให้กลมกลืนและกลมกล่อมที่สุด โดยมีคุณอูช่วยจัดการเรื่องกลไกการก่อสร้าง เพื่อทำให้ความคิดบนแผ่นกระดาษใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพที่สุดเช่นกัน
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมห้องครัวของบ้านถึงเป็นเรือนหลังเล็กที่อยู่ด้านนอกก่อนเข้าบ้าน คุณอูเล่าถึงแนวคิดนี้ว่า “เพราะห้องครัวของบ้านนี้เป็นทั้งห้องรับแขก ห้องนั่งเล่น มุมปาร์ตี้ ห้องทำงาน และห้องอาหาร ซึ่งไม่อยากให้มีปัญหาเรื่องกลิ่นในบ้านด้วย ผมเลยแยกครัวออกมาเป็นเรือนเล็กขนาด 4×3 เมตร ทำประตูบานเฟี้ยมกระจกไว้ด้านหน้าให้เปิดออกกว้างเพื่อถ่ายเทอากาศได้ดี และเจาะช่องแสงด้านข้างช่วยให้ครัวโปร่งสว่างขึ้น เวลามีเพื่อนมาปาร์ตี้ทั้งเสียงและกลิ่นก็จะไม่รบกวนคนที่อยู่ในบ้านเลย”
พื้นที่นี้ยังตั้งอยู่ในเขตกฎหมายบังคับทำให้หลังคาของบ้านต้องเป็นรูปทรงจั่ว คุณอูจึงปรับรูปแบบของจั่วให้ดูทันสมัยขึ้น โดยเลือกใช้เมทัลชีทซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าหลังคาทั่วไปและช่วยประหยัดเรื่องโครงสร้างไปได้ แล้วพ่นฉนวนกระดาษไว้ด้านในเพื่อป้องกันความร้อนและดูดซับเสียงรบกวนจากภายนอก ทั้งยังใช้โปรแกรมการคำนวณองศาของหลังคาให้เลี่ยงการซัดสาดของฝน เพิ่มชายคาที่กั้นแนวแสงแดดไม่ให้เข้ามาในบ้าน จึงสามารถนั่งเล่นที่ระเบียงนอกบ้านได้อย่างสบาย แต่หลังคายังช่วยดักลมให้พัดผ่านเพิ่มความเย็นสบายตามธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ยกพื้นบ้านให้สูงจากพื้น เพื่อให้เกิดช่องอากาศถ่ายเทคลายความอับทึบ และเป็นช่องทางสำหรับการดูแลซ่อมแซมระบบที่ซ่อนอยู่ใต้บ้านไปด้วย
“เราสร้างบ้านขนาดเล็กมากเพราะกลัวดูแลเองไม่ไหว” คุณกิ๊ฟท์เล่าต่อ “มีแค่ 3 ห้องนอน ให้ห้องป๊าม๊าอยู่ชั้นล่างใกล้กับห้องอาหาร พื้นที่ส่วนกลางเน้นเปิดโล่งและใช้วัสดุตกแต่งที่ธรรมดาสามัญแต่พยายามออกแบบฟังก์ชันให้ดูพิเศษ ผนังบ้านนอกจากปูนเปลือยก็เป็นกระจกโปร่ง คือถ้ามองจากภายนอกก็จะเห็นว่าภายในไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าเฟอร์นิเจอร์เท่าที่จำเป็นจริงๆ ชิ้นใหญ่สุดก็เป็นโต๊ะกินข้าวที่เป็นไม้ขนาดยาว ผลงานของอาจารย์ไสยาสน์ เสมาเงิน ซึ่งเราตั้งใจเลือกให้เป็นอาร์ตพีซของบ้านเลย ที่เหลือก็เป็นตู้บิลท์อินสำหรับเก็บของไม่ให้ดูรกตา”
ความรักในมุมมองที่เรียบโล่งยิ่งเห็นได้ชัดที่สุดภายในห้องนอนของคุณกิ๊ฟท์เอง เพราะนอกจากตู้ไม้บิลท์อินกับหน้าบานแบบเลื่อนสีขาวแล้ว ก็มีแค่ฟูกนอนขนาด 3.50 เมตรปูด้วยผ้านวมสีขาววางนิ่งอยู่บนผ้าผืนบางเหนือพื้นปูนเปลือย ภายใต้ฝ้าเพดานสูงที่โชว์เห็นเส้นสายของจั่วจากมุมหลังคา ที่เหลือคือบรรยากาศของความสงบนิ่งและผ่อนคลายอย่างน่าทึ่ง
“ความจริงกิ๊ฟท์ยังหาเตียงนอนที่ถูกใจไม่ได้ เลยนอนแบบนี้มา 3 ปีแล้วค่ะ (หัวเราะ) ก็ชอบความโล่งๆ ที่ดูไม่รกแบบนี้แหละ กิ๊ฟท์ว่าบ้านเราถึงจะมีขนาดเล็กไม่หรูหราแต่ก็ประสบความสำเร็จในการใช้งานมากจริงๆ”
ในความเล็กซ่อนด้วยฟังก์ชันที่หลากหลาย ในความเรียบซ่อนความสุขไว้มากมาย และในความโล่งยังเปี่ยมไปด้วยความปลอดโปร่งผ่อนคลายที่พอดีกับชีวิต บ้านจะเป็นสไตล์ไหนก็ไม่สำคัญเท่าความรู้สึกที่แท้จริงของผู้อยู่อาศัยภายใน
เรื่อง: ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : อนุพนธ์ ฉายสุขเกษม