คุยกับ ปรมาจารย์ ศิลปะแลคเกอร์ จากเวียดนาม Nguyen Xuan Viet

“จิบกาแฟ ชมงาน Lacquer เวียดนาม”  กิจกรรมสัมมนาที่จัดขึ้น ในบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ณ 333 Gallery ณ ริเวอร์ซิตี้ บางกอก  โดยงานนี้ได้ อาจารย์ Nguyen Xuan Viet (อ.เวียด) ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการศิลปะแลคเกอร์ มามากกว่า 30 สิบปี มาร่วมพูดคุย และ แนะนำเทคนิค วิธีการทำภาพแลคเกอร์ กับ ผู้รักศิลปะอย่างเป็นกันเอง พร้อม นำผลงานของตนมาแสดงให้ชมกันอย่างจุใจถึง 25 ชิ้น

อาจารย์ Nguyen Xuan Viet ที่มาพูดคุยกับผู้มาร่วมเสวนาอย่างใกล้ชิด

ถึงแม้ว่าจะเป็นสัมมนาเล็กๆ มีผู้มาร่วมงานไม่กี่สิบคน แต่ต้องบอกได้ว่า ผู้ที่มาแต่ละท่านนั้นเป็นศิลปินเบอร์ใหญ่ระดับอาจารย์ของประเทศไทยทั้งนั้น  อาทิ(ภาพ จากซ้ายไปขวา) หงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ, สมยศ คำแสง และ วสันต์ สิทธิเขตต์ 

“ผมสนใจงาน ศิลปะแลคเกอร์  มานานแล้ว อย่างของไทย เรามีการทำงานลักษณะนี้ อย่างเช่น การเครื่องเขิน ที่ใช้วัสดุแบบเดียวกัน แต่เทคนิคการทำงานที่ได้มาฟังจากอาจารย์ เวียด  วันนี้ จะเห็นว่าทางเวียดนามเขาใช้วิธีทาทับ ถู แล้วขัด ซ้อนกันหลายๆชั้น ซึ่งผมเองก็ไม่เคยทราบถึงเทคแบบนี้มาก่อน อาจารย์ เวียด แกมีชื่อเสียงด้านนี้มาก วันนี้ผมเลยชวนเพื่อนๆน้องๆศิลปินมางานนี้กัน โดย ประเด็นหนึ่งที่อาจารย์ ยกขึ้นมาวันนี้แล้วผมคิดว่าน่าสนใจมากคือ จะทำยังไงจะให้งาน แลคเกอร์ของไทย มันไม่ได้จำกัดอยู่ในเฉพาะงาน Craft อย่างเวลาเราพูดถึงงาน แลคเกอร์ ในไทยเราจะนึกถึง ของฝากทันทีเลย แต่อย่างของเวียดนามเขาเอาไปทำเป็นงานศิลปะกันอย่างแพร่หลาย และ ประสบความสำเร็จมากๆ” วสันต์ สิทธิเขตต์ เล่าถึงงานในวันนี้ให้ฟัง

จากการพูดคุยกับแขกที่มาร่วมงาน ทำให้เราทราบว่า มีศิลปิน อาจารย์ และ ผู้สนใจศิลปะแลคเกอร์ชาวไทยหลายท่านที่เคยได้ไปร่ำเรียนแลกเปลี่ยนวิชากับอ.เวียดที่ประเทศเวียดนาม จึงไม่แปลกใจเลยว่า ผู้ที่มาร่วมงานในวันนี้ถึงเป็นผู้คร่ำวอดในวงการศิลปะแทบทั้งสิ้น

หลังจากจบเสวนาแล้ว baanlaesuan.com ได้พูดคุยกับ อ.เวียด ทำให้ทราบว่า อ.เวียด เรียนจบจากโรงเรียนศิลปะจากกรุง ฮานอย แต่พอเรียนได้สองปีต้องไปเป็นทหารถึง 8 ปี เมื่อกลับมาจึงได้ไปศึกษาต่อที่ Ho Chi Minh City University of Fine Arts โดย อ.เวียด ได้อธิบายถึงแนวคิดและที่มาของการทำศิลปะแลคเกอร์ในเวียดนามให้เราฟังว่า

“งานแลคเกอร์ในเวียดนามนั้น เริ่มจากอาจารย์ด้านศิลปะชาวฝรั่งเศสไปเห็น งานแลคเกอร์ตามวัดต่างๆในเวียดนาม แล้วคิดว่าสิ่งนี้สามารถ นำมาสร้างสรรค์เป็นภาพวาด หรือ งานศิลปะได้ จึงได้ศึกษาและส่งต่อความรู้ให้กับอาจารย์ที่เวียดนาม โดยในช่วงปี 1925 มีอาจารย์ท่านหนึ่งชื่อ เจิ่น กว่าง เจิน ได้ไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นไปศึกษาเทคนิคโบราณมา พอเอาผนวกกับสิ่งที่อ.ฝรั่งเศสสอน เลยกลายเป็นศิลปะแลคเกอร์แบบร่วมสมัยของเวียดนาม”

ระหว่างการสัมภาษณ์ อ.เวียด พูดภาษาไทยอย่างคล่องแคล่ว เมื่อสอบถาม อ.เวียด บอกว่า แกเกิดและเติบโตที่ จังหวัด นครพนม ก่อนจะย้ายไปที่เวียดนาม

อ.เวียดได้ทำงานศิลปะ แลคเกอร์ มานานมากกว่า 30 ปี เสน่ห์และเอกลักษณ์ของศิลปะแลคเกอร์ ที่เขาได้ค้นพบนั้น เป็นอย่างไรไปฟังกัน

“แลคเกอร์ โดยธรรมชาติเป็นสื่อที่มีความทนทานมาก แนวคิดในการสร้างศิลปะแลคเกอร์นั้น ความสวยงาม กับ ความทนทานต้องคู่ไปด้วยกัน ถ้าทำอย่างถูกวิธี อาจารย์ผมเคยบอกว่ามันสามารถเก็บไว้ได้เป็นหมื่นๆปีเลยนะ มันทนทานกว่าสีน้ำมันเยอะ”

อ.เวียด กับ ‘Abstract” ผลงานศิลปะแลคเกอร์ ขนาดใหญ่ 6 x 2.5 เมตร | ขอบคุณภาพจาก 333 Gallery

อย่างที่ วสันต์ ได้พูดคุยกับเราก่อนหน้าว่า ศิลปะแลคเกอร์ ในไทยยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไรนัก อ.เวียดเองมีความเห็นไปในทางเดียวกัน โดยเราได้ถามต่อไปว่า หาก น้องๆนักศึกษา หรือ ใครที่สนใจอยากจะเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จในศาสตร์ด้านนี้ควรเริ่มต้นอย่างไรบ้าง

“หนึ่งต้องรักการงาน สองต้องมีความรู้ด้านศิลปะ ศิลปะทั่วโลกสากลเป็นอย่างไรเราต้องรู้ สามต้องเรียนรู้ศิลปะดั่งเดิมของตนเอง อย่างคนไทยนี่ มีมรดกทางศิลปะเยอะมาก อย่างเวียดนามเราเป็นประเทศสงคราม มรดกทางวัฒนธรรมเก่าแก่ของเรานั้นมีไม่มาก”

สุดท้ายนี้เราถาม อ.เวียด ว่า สำหรับเขาแล้ว ศิลปะแลคเกอร์คืออะไร

“มันคือชีวิตของผม ถึงแม้มันจะเป็นงานที่หนักมากแต่มันก็คือชีวิตของผม ผมอยากเห็นรุ่นใหม่ๆที่สามารถทำงานได้เหมือนผม บรรดาอาจารย์ท่านเคยบอกว่าเมื่อไหร่ที่เห็นศิษย์ทำได้อย่างท่านแล้วก็จะหยุด ผมเองก็เริ่มคิดว่าจะหยุดเพราะอายุ 70 แล้ว แต่ทุกวันนี้ผมยังไม่เห็นใครที่ทำได้แบบผม (หัวเราะ) แต่ผมรออยู่นะ รอคนรุ่นใหม่ๆที่จะมาอนุรักษ์ศาสตร์การทำศิลปะแลคเกอร์ได้แบบที่ผมทำ”

 

เรื่อง และ ภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

 


“ซูเปอร์ อั้งโล่ ” เตาประหยัดถ่านของดีเมืองราชบุรี

คนทำ หัวโขน : งานศิลป์ชั้นสูงที่ทุกคนสามารถทำได้