ปิดเทอมนี้ ลองชวนเด็กๆ มาทำขนมสีสวยอย่าง “ อัลลัว ” กัน นอกจากความสนุกสนาน ที่จะได้รับจากการทำกิจกรรมร่วมกันแล้ว เด็กๆยังได้เรียนรู้เรื่องของสีธรรมชาติ การชั่ง ตวง วัด แถมท้ายด้วยประวัติที่น่าสนใจของขนม ซึ่งพ่อแม่สามารถเล่าให้เด็กๆฟังระหว่างทำได้
อัลลัว ขนมสีสวยกลิ่นหอมหวานละมุน ที่ชนะหัวใจเด็กน้อยและผู้ใหญ่หัวใจเด็กจำนวนมาก ด้านในขนมเป็นแป้งหนึบๆ ผิวบางๆด้านนอกจะแข็งเล็กน้อย เพราะผ่านการตากแดดให้แห้งก่อนที่จะนำไปอบควันเทียนเก็บใส่โหลไว้ทาน การกวนแป้งอัลลัวด้วยกะทะทองเหลืองบนเตาถ่าน เป็นเสน่ห์ของการทำขนมไทย และทำให้ขนมมีกลิ่นหอม คนโบราณใช้มือปั้นแป้งให้เป็นขนมอัลลัวรูปหยดน้ำทีละอันทีละอัน จึงต้องใช้เวลามากกว่าการทำขนมอัลลัวในปัจจุบันที่นิยมกดด้วยหัวบีบ
ขนมสีสวยนี้ได้รับการเผยแพร่ในเมืองไทยเป็นครั้งแรกโดยท้าวทองกีบม้า หรือ มารี กีมาร์ หญิงสาวเชื้อสายโปรตุเกส ญี่ปุ่นและเบงกอล ซึ่งเป็นภริยาของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ชาวกรีก ที่เข้ามารับราชการในราชสำนักสมัยอยุธยา
ส่วนผสม
แป้งสาลี (บัวแดง ) 120 กรัม
แป้งถั่วเขียว 2 ช้อนชา
แป้งเท้ายายม่อม 2 ช้อนชา
กะทิ 2 ถ้วย
หัวกะทิ 1 ถ้วย
น้ำตาลทราย 2 1/2 ถ้วย
สีจากดอกไม้ ใบไม้
(สีเขียวจากใบเตย สีฟ้าจากดอกอัญชัญ สีม่วงจากดอกทองหลาง สีเหลืองจากก้านดอกกรรณิการ์ สีชมพูจากลูกผักปลังสุก)
วิธีทำ
1. นำแป้งสาลี แป้งถั่วเขียวและแป้งเท้ายายม่อมร่อนผสมกัน
2.นำน้ำกะทิผสมกับแป้งและน้ำตาล คนจนละลายเข้ากันดี ใส่สีจากดอกไม้ใบไม้ แล้วนำไปกรองด้วยผ้าขาวบาง
3.กวนในกะทะทองเหลืองบนเตาถ่าน จนส่วนผสมทุกอย่างเข้ากันดี แป้งจะมีลักษณะเหนียวใส
4. นำแป้งที่ได้ตักใส่ถุงบีบ แล้วจึงบีบลงในถาดที่ทาเนยบาง ๆ หรือรองด้วยใบตอง แล้วจึงนำไปตากแดดสัก 2 – 3 แดด เสร็จแล้วจึงนำไปอบควันเทียน
5. เก็บขนมอัลลัวในโหลที่มีฝาปิดมิดชิดไว้รับประทาน
ทำขนมกับเด็กๆ
เด็กๆสามารถช่วยชั่งตวงส่วนผสมของแป้ง กะทิ น้ำตาล วิชาคณิตศาตร์เรื่องการชั่งตวงวัดในโรงเรียนก็กลายเป็นภาพแจ่มชัดที่ข่วยให้พวกเขาเข้าใจบทเรียนมากขึ้น สำหรับหนูน้อยวัยอนุบาลก็ได้ใช้ประสาทสัมผัสต่างๆในการเรียนรู้ ได้ช่วยคั้นสีจากดอกไม้ใบไม้ ได้สัมผัสแป้งนุ่ม ดมกลิ่นหอมๆของกะทิ ใบเตย ควันเทียน ได้ชิมขนมอร่อยละมุนลิ้น เก็บเป็นประสบการณ์ที่มีความหมายกับชีวิต
ติดตามเรื่องราวของขนมอัลลัว และกิจกรรมชวนเด็กๆเรียนรู้ผ่านการเล่น เพิ่มเติมได้ใน หนังสือ “เล่นกับดอกไม้ใบหญ้า”
เรื่อง : ศิริลักษณ์ ริ้วบำรุง
ภาพ : อภิรักษ์ สุขสัย