การออกแบบบ้านเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ต้องมีสถาปนิกและวิศวกรออกแบบ แปลนห้อง เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางโครงสร้างและการใช้งานทั้งภายในบ้านและพื้นที่โดยรอบให้ถูกกฎหมาย แต่เมื่อถึงคราวต้องสร้างบ้าน
เรามักไม่สามารถอธิบายสิ่งที่ตัวเองต้องการให้สถาปนิกเข้าใจ หรือเมื่อเห็นผังพื้น (Plan) ก็นึกไม่ออกว่าเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะเป็นอย่างไร เราจึงทำคู่มือการออกแบบและวางแปลนบ้านด้วยตัวเองฉบับพื้นฐาน เพื่อทำความรู้จักระบบการออกแบบอย่างง่ายที่จะช่วยให้เจ้าของบ้านเข้าใจระบบของสถาปนิกมากขึ้น หรือเพื่อวางแปลนบ้านเองแล้วส่งต่อสถาปนิกให้ออกแบบบ้านได้อย่างที่ต้องการ หรือถ้าใครจะปรับเปลี่ยนบ้านโดยไม่กระทบโครงสร้าง ก็สามารถวาด แปลนห้อง แล้วให้ช่างมาทำเองก็ได้เช่นกัน
1 | วิธีกำหนดเฟอร์นิเจอร์
หลายคนถามว่าจะมีวิธีกำหนดจำนวนและขนาดเฟอร์นิเจอร์อย่างไร คำตอบคือให้ดูผู้ใช้งานและพื้นที่เป็นเกณฑ์ ได้แก่ ผู้ใช้งานคือใคร เด็ก ผู้สูงอายุ หรือวัยทำงาน จำนวนเท่าไร ทำกิจกรรมอะไรบ้างและช่วงเวลาในการใช้พื้นที่ ซึ่งเป็นคำถามที่เราต้องตอบเองและวางแผนเผื่ออนาคต ถ้ายิ่งมีความชัดเจนก็จะกำหนดเฟอร์นิเจอร์และพื้นที่ได้ง่ายและประหยัดงบประมาณเพราะไม่ต้องเผื่อมากเกินจำเป็น
2 | รู้จักขนาดเฟอร์นิเจอร์ (Furniture Scale)
ก่อนวางแปลนควรทราบขนาดเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหลักที่จะวางในห้อง เพื่อออกแบบการจัดวาง การเว้นช่องทางเดิน ก็จะรู้ขนาดห้อง หรือในทางกลับกัน ถ้ามีขนาดห้องแล้วก็จะได้กำหนดขนาดเฟอร์นิเจอร์ให้เข้ากับห้องได้พอดี ยกตัวอย่างขนาดเฟอร์นิเจอร์เช่น
- โซฟา 3 ที่นั่ง ขนาด 2.00 x 0.80 m
- อาร์มแชร์และสตูลวางเท้า ขนาด 0.75 x 1.27 m
- โต๊ะสี่เหลี่ยมผืนผ้า 4 ที่นั่ง ขนาด 2.17 x 1.50 m
- เตียง King Size Bed ขนาด 2.00 x 2.10 m
- ตู้เสื้อผ้า ขนาด 1.50 x 0.60 ,1.20 x 0.60 m
3 | มากำหนดฟังก์ชันให้ห้องกัน
การวางแปลนบ้านไม่มีแบบสำเร็จรูป ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของแต่ละคน จำนวนคน ลักษณะที่ดินและการสร้างสรรค์ เรามาดูวิธีการกำหนดฟังก์ชันในบ้านและการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ในแต่ละห้องกัน
การกำหนดฟังก์ชัน
วิธีกำหนดฟังก์ชันง่ายๆ คือการสร้างไดอะแกรม (Diagram) เป็นวิธีการเดียวกับการเขียนมายแมพ (Mind Map) คือเขียนฟังก์ชันที่ต้องการ แล้วลากเส้นโยงความสัมพันธ์ของแต่ละฟังก์ชัน เมื่อวาดแปลนบ้านจริง เส้นโยงเหล่านั้นก็จะกลายเป็นประตูหรือทางเดินที่เชื่อมถึงกัน วงกลมแต่ละวงอาจทำเป็นห้องหรือเป็นแค่พื้นที่ซึ่งรวมกันเป็นห้องโถงใหญ่แทนก็ได้ โดยฟังก์ชันจะแบ่งเป็น 3 โซนตามลำดับการเข้าถึง คือ สาธารณะ (Public Zone) กึ่งสาธารณะ (Semi-public Zone) และส่วนตัว (Private Zone)
บ้านขนาดเล็ก-กลาง นิยมให้ห้องรับแขกหรือห้องนั่งเล่นเป็นห้องแรก แล้วกระจายไปยังห้องต่างๆ บ้านที่มีขนาดใหญ่ หลายห้องหรือมีฟังก์หลากหลาย นิยมทำห้องโถงทางเข้าเป็นห้องแรกเพื่อกระจายไปยังส่วนต่างๆ ได้สะดวก และไม่รบกวนกันและกัน
- จากที่จอดรถจะเข้ามาบริเวณทางเดินที่เชื่อมระหว่างห้องรับประทานอาหารกับห้องครัว
- การโยง 3 ห้องเชื่อมกันแบบนี้แปลว่า ห้องน้ำนี้สามารถเข้าได้จากห้องรับประทานอาหารและห้องรับแขก
- จากห้องรับแขกเชื่อมไปยังห้องนอนซึ่งเป็นโซนส่วนตัว
- ห้องนอน ห้องแต่งตัวและห้องน้ำเชื่อมถึงกันได้
4 | การกำหนดทางเดินในห้อง
ประตู บันได ช่องทางเดินจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการเดินและการใช้งานในห้อง จึงควรกำหนดทางเดินให้สัมพันธ์กับการใช้งาน เช่น
- ทำประตูหรือทางเดินชิดด้านใดด้านหนึ่ง จะได้พื้นที่ใช้งานเต็มพื้นที่อีกด้านหนึ่ง
- ทำประตูบริเวณกลางห้อง จะเกิดทางเดินแบ่งพื้นที่ใช้งานเป็น 2 ส่วน
- ทำประตูเยื้องกัน จะเกิดทางเดินทแยงแบ่งพื้นที่ใช้งานเป็น 2 ส่วน
5 | การวางแปลนห้อง
แต่ละห้องสามารถวางแปลนเฟอร์นิเจอร์ได้หลายแบบ เรามีไอเดียการวางแปลนมาให้ดูเพื่อเป็นแนวทางและนำไปปรับให้เข้ากับบ้านของแต่ละคน
ห้องนั่งเล่น
ห้องศูนย์กลางของบ้านที่รวมหลายกิจกรรมทั้งนั่งดูทีวี อ่านหนังสือ นอนเล่น พูดคุย หรือใช้รับแขกในบางโอกาส มาดูการวางแปลนแบบง่ายๆ กัน
- ทำทางเดินไว้ด้านข้าง เพื่อไม่ให้มีคนเดินผ่านขณะดูทีวี
- นิยมวางที่นั่งเป็นรูปตัวแอล (L) หรือรูปตัวยู (U) เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กัน อาจใช้โซฟายาว ตั่ง หรือเก้าอี้ที่นั่งสบาย
- วางโต๊ะกลางห่างจากโซฟาอย่างน้อย 40 เซนติเมตร ให้เดินผ่านได้สะดวก
- สำหรับครอบครัว 2- 4 คน ควรมีพื้นที่อย่างน้อย 9 ตารางเมตร หรือแบบสบายๆ 12-16 ตารางเมตร
- ผนังด้านที่วางทีวีและผนังฝั่งตรงข้ามควรเป็นผนังทึบเพื่อไม่ให้มีแสงแยงตาและแสงสะท้อน
ห้องรับประทานอาหาร
สิ่งสำคัญของห้องนี้คือระยะการนั่งและการเดินที่สะดวก มีพื้นที่วางอาหารและเชื่อมต่อกับห้องครัวได้
- หากชอบดูทีวีระหว่างรับประทานอาหาร แนะนำให้ติดทีวีด้านหัวโต๊ะ ก็จะมีจำนวนคนเห็นทีวีมากกว่าติดด้านข้างโต๊ะ
- ควรมีส่วนเตรียมอาหารอยู่ใกล้ๆ สำหรับเก็บอุปกรณ์หรือเครื่องปรุง อาจทำเป็นเคาน์เตอร์หรือตู้ที่มีหน้าบานปิดทึบเพื่อความเรียบร้อย พร้อมทำช่องส่งอาหารจากห้องครัวก็จะยิ่งสะดวกขึ้น
- ขนาดห้องขึ้นอยู่กับจำนวนคน ขนาดโต๊ะ และฟังก์ชันเสริมต่างๆ โดยโต๊ะสำหรับ 4 – 6 คน ควรมีพื้นที่ประมาณ 12 – 20 ตารางเมตร
- ควรวางโต๊ะห่างจากผนังอย่างน้อย 1.10 เมตร เพื่อให้เลื่อนเก้าอี้นั่งได้สะดวก หรือห่างอย่างน้อย 1.50 เมตรถ้าต้องการเดินรอบโต๊ะได้
- ควรอยู่ใกล้ห้องครัวและทำประตูปิดให้มิดชิดป้องกันกลิ่นอาหารเข้าบ้าน
ห้องครัว
ไม่ว่าห้องครัวขนาดเล็กหรือใหญ่จะมีหลักการออกแบบเหมือนกันคือ ออกแบบให้มีลำดับการใช้งานและระยะที่เหมาะสม มีหลักเบื้องต้นในการวางแปลนคือ
- การออกแบบเคาน์เตอร์ครัวมี 4 รูปแบบคือ รูปตัวไอ (I) รูปตัวแอล (L) รูปตัวยู (U) และแบบมีเคาน์เตอร์กลาง (Island Counter) เหมาะกับพื้นที่ขนาดเล็กไปถึงใหญ่ตามลำดับ เคาน์เตอร์มีความลึก 60 – 65 เซนติเมตร ความสูงเคาน์เตอร์ที่เหมาะกับคนไทย คือ 85 – 87 เซนติเมตร แต่ถ้าเป็นคนสูงก็ใช้ความสูงเดียวกับคนยุโรป คือ 90 – 93 เซนติเมตร หากทำเตี้ยไปอาจทำให้ปวดหลังเพราะต้องก้มขณะใช้งาน
- อุปกรณ์ครัวมี 3 สิ่งหลักๆ คือ ตู้เย็น อ่างล้างจาน และเตาไฟ โดยมีลำดับการใช้งานเป็นสามเหลี่ยมหรือเส้นตรง คือ หยิบของจากตู้เย็นวางข้างอ่างล้างจาน แล้วล้างหรือจัดเตรียม จากนั้นนำไปปรุงที่เตาไฟ
- บริเวณอ่างล้างจานควรมีหน้าต่างเพื่อระบายความชื้น ส่วนบริเวณเตาไฟควรเป็นผนังทึบเพื่อกันลม
- ทางเดินระหว่างเคาน์เตอร์ควรกว้างอย่างน้อย 1 เมตร แต่ถ้ามักเข้าครัวตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ควรกว้างอย่างน้อย 1.50 เมตร ให้เดินสวนกันได้สะดวก
- ควรมีทางเข้าออกจากหลังบ้านเพื่อทิ้งขยะและขนของเข้าบ้านได้สะดวก
ห้องนอน
หลักการวางแปลนห้องนอนไม่ยาก โดยเน้นการสร้างความสงบ เป็นส่วนตัว และมีสุขลักษณะที่ดี
- ห้องนอนทั่วไปที่อยู่สบายควรใช้พื้นที่ประมาณ 18 – 24 ตารางเมตร ขึ้นอยู่กับขนาดเตียงและฟังก์ชันในห้อง
- ทางเดินข้างเตียงควรกว้างอย่างน้อย 60 เซนติเมตร
- หัวเตียงควรเป็นผนังทึบเพื่อทำให้รู้สึกปลอดภัย
- บางคนชอบทำงานหรือดูทีวีในห้องนอน จึงอาจมีโต๊ะทำงาน ทีวี และตู้เย็น ซึ่งขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์แต่ละคน
- หากมีพื้นที่เพียงพอ อาจทำห้องแต่งตัวแยกให้เป็นสัดส่วนและทำต่อเนื่องไปยังห้องน้ำส่วนตัวก็จะสะดวกยิ่งขึ้น
ห้องน้ำ
ฟังก์ชันทั่วไปของห้องน้ำจะเหมือนกันทุกบ้าน จะแตกต่างกันเมื่อมีการเพิ่มฟังก์ชันพิเศษ เช่น อ่างอาบน้ำ อ่างน้ำวน หรือเป็นห้องน้ำผู้สูงอายุ เรามาดูการวางแปลนพื้นฐานกัน
- ประตูห้องน้ำทั่วไปควรเปิดเข้า เพื่อไม่ให้น้ำหยดออกมานอกห้อง แต่ถ้าเป็นห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ ควรใช้ประตูแบบเปิดออกหรือบานเลื่อน เพื่อเมื่อมีคนล้มในห้องน้ำจะยังสามารถเปิดประตูเข้าไปช่วยเหลือได้
- ควรแยกพื้นที่ส่วนแห้ง คือ อ่างล้างหน้าและโถสุขภัณฑ์ เพื่อให้ทำความสะอาดง่าย และลดอันตรายจากพื้นที่เปียกน้ำ
- พื้นที่ส่วนเปียกสำหรับยืนอาบน้ำควรกว้างอย่างน้อย 80 เซนติเมตร และลดระดับพื้นลง 10 เซนติเมตร อาจแบ่งสัดส่วนด้วยผนังกระจก ม่าน หรือตู้อาบน้ำ
- ผนังด้านที่ติดตั้งสุขภัณฑ์แนะนำให้ทำเป็นผนัง 2 ชั้น เพื่อฝังท่อน้ำแล้วลดเสียงรบกวนไปยังห้องข้างเคียง อาจทำเป็นแท่นลึก 10 – 20 เซนติเมตร สูง 0.80 – 1 เมตร ก็ใช้เป็นแท่นวางของได้ด้วย
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล
กราฟิก : อาติยาห์