รถที่วิ่งผ่านใต้สะพาน คนที่นั่งๆนอนๆ อยู่ในกระบะหลัง เป็นภาพที่เรามักจะเห็นได้ในชีวิตประจำวันในกรุงเทพฯ สำหรับหลายคน ภาพเหล่านี้ดูเหมือนจะชินตา และ ไม่มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ
ธำมรงค์ วนาฤทธิกุล มนุษย์เงินเดือนที่ทุกเช้า ต้องขึ้นสะพานลอยไปทำงาน กลับมองเห็นเรื่องราวบางอย่างที่เกิดขึ้น ณ พื้นที่เล็กๆของท้ายรถกระบะ จึงเกิดไอเดียสร้างสรรคเก็บภาพรวบรวมสร้างเป็นผลงานชุดที่สร้างความฮือฮาไปทั้งการวงการศิลปะภาพถ่าย จนในที่สุดเขาได้มีนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกที่ชื่อว่า “8 โมงเช้า” ที่ คัดมันดู โฟโต้ แกลเลอรี่ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 12 มกราคม – 23 กุมภาพันธ์ 2562 บ้านและสวน ได้ไปพูดคุย และ นำคำถามที่ที่หลายท่านสงสัย ตั้งแต่กระบวนการสร้างงาน ไปจนถึงว่า แท้จริงแล้ว ชายผู้อยู่เบื่้องหลังผลงานชุดนี้เป็นใคร มาจากไหน วันนี้บ้านและสวนจะพาทุกท่านมาร่วมหาคำตอบกัน
ธำมรงค์ เล่าให้เราฟังว่า หลังจากที่ผลงานของเขาได้กระแสตอบรับอย่างรวดเร็ว หลายคนก็เริ่มถามว่าเขาเป็นศิลปิน หรือ ช่างภาพอาชีพใช่หรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ธำมรงค์ จบปริญญาโทด้าน IT มาจาก Queen Mary College, University of London ปัจจุบันเป็นพนักงานของบริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับเว็บไซต์ ทุกวันเข้าทำงาน 9 โมงเข้า และ เลิก 5 โมงเย็นแบบคนทั่วๆไป เขาไม่ได้เรียนและทำงานที่เกี่ยวข้องในสายอาร์ต แต่ทว่าสิ่งที่จุดประกายอารมณ์ศิลป์ในการสร้างผลงานชุดนี้ เกิดขึ้น ณ เช้าวันหนึ่งขณะที่เขาเดินทางไปทำงาน
“ทุก 8 โมงเช้า เวลาผมเดินทางไปทำงานต้องผ่านสะพานนี้ทุกวัน (สะพานลอยหน้าพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด ถนนศรีอยุธยา) วันหนึ่งผมมองลงไปเห็นภาพคนนั่งอยู่ท้ายกระบะ ผมรู้สึกว่าภาพนี้มันต้องสวยแน่ๆ เลยว่าจะหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย แต่ว่ากว่าจะหยิบ กว่าจะเปิดโทรศัพท์มาถ่าย รถก็วิ่งผ่านไปแล้ว ถึงแม้วันนั้นจะไม่ได้ถ่ายภาพ แต่ภาพที่ผมมองเห็นยังติดอยู่ในใจ รุ่งขึ้นจึงลองเอากล้องมาเก็บภาพ จนกลายเป็นที่มาของผลงานชุดนี้”
[ ธำมรงค์ใช้กล้อง DSLR (กล้องเปลี่ยนเลนส์ได้) โดยใช้เลนส์ระยะ 17-40 ถ่ายที่ Shutter Speed ประมาณ 1/800 – 1/1000 s เพื่อจับภาพของรถที่เคลื่อนไหวให้หยุดนิ่ง ]
หนุ่มไอทีคนนี้ได้เปลี่ยนทุกวันทำงานธรรมดาให้เป็นวันแห่งการสร้างสรรค์ศิลปะภาพถ่ายโดยเขายอมตื่นเช้าขึ้นอีกเล็กน้อยและใช้เวลาเก็บภาพอยู่บนสะพานนี้ตั้งแต่เวลา 08.00 – 08.45 จนได้ภาพประมาณหนึ่ง เขาก็เริ่มเอาผลงานต่างๆไปเสนอที่ Gallery แต่หลายที่ก็ไม่ค่อยจะให้ความสนใจเท่าไรนัก จนกระทั่งเขาได้มาพบกับ มานิต ศรีวานิชภูมิ (ช่างภาพอันดับต้นๆของเมืองไทย และ เจ้าของ คัดมันดู โฟโต้ แกลเลอรี่ )
“พอได้เอาภาพมาให้พี่มานิตชม และบอกพี่เขาว่าบางวันก็ถ่ายได้คันเดิมซ้ำมาด้วย พี่มานิตบอกว่าประเด็นรถซ้ำ นี่น่าสนใจ เลยแนะนำให้ เน้นการถ่ายรถคันเดิมที่วิ่งผ่าน ณ จุดเดิมในแต่ละวัน จนทำให้เกิดเป็นภาพ Collection ชุดนี้”
โดย มานิต ได้กล่าวถึงผลงานของธำมรงค์ว่า “การนำเอาปัจจัยเวลา ‘8 โมงเช้า’ มาเป็นเงื่อนไขของการถ่ายภาพชุดนี้ ทำให้ผลงานของเขาโดดเด่น ไม่ธรรมดาขึ้นมาทันที เพราะภาพชุดนี้บางชุดต้องใช้เวลาถ่ายถึง 30 วัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อว่า ช่างภาพจะสามารถถ่ายรูปรถกระบะคันเดิมได้เกือบทุกเช้า บางวันคนที่เคยนั่งท้ายกระบะนั้นหายไป พวกเขาอาจไม่สบาย หรืออาจโดนไล่ออกจากงาน มันมีนิยายให้เราได้จินตนาการไปต่างๆนานา”
นอกจากนี้ ธำมรงค์ยังบอกเราว่า ภาพทั้งหมดที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้มีทั้งหมด 15 Series โดยแบ่งเป็นภาพติดผนังทั้งหมด 7 Series และ เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ทำให้ทั้งหมดที่เหลือไปอยู่ใน วิดิโอ ที่เปิดอยู่ภายในนิทรรศการ รวมๆแล้วเกือบ 200 ภาพ ซึ่งคัดเลือกมาจากภาพที่หมดที่ถ่ายสะสมมาเป้นระยะเวลา ปีครึ่ง
สุดท้ายนี้เราถามเขาว่า จากการที่ไปยืนถ่ายรูปที่สะพานนี้ 6 พันกว่าภาพ เป็นระยะเวลา ปีครึ่ง เขาได้อะไรจากการถ่ายรูปชุดนี้
“มันทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า แม้ว่าสิ่งที่ผมถ่ายจะ เป็นสิ่งเดิม เวลาเดิม แต่ในทุกๆวันนั้น กลับมีเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไปไม่ซ้ำกัน”
เรื่อง: สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์
ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล