ไม้ต้นประดับใบหลายชนิดนอกจากมีใบสวยงามเป็นเอกลักษณ์แล้ว บางชนิดยังปลูกเลี้ยงง่ายแถมช่วยดักจับฝุ่นและฟอกอากาศได้เป็นอย่างดี วันนี้ขอแนะนำให้รู้จักกับ ต้นยางอินเดีย หรือยางลบ ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้เป็นไม้กระถางประดับในอาคารกันมาก เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยดูดสารพิษฟอกอากาศภายในบ้านและสำนักงานได้ดี
ต้นยางอินเดีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ficus elastica อยู่ในวงศ์ Moraceae เช่นเดียวกับโพ มะเดื่อ กร่าง และไทรชนิดต่าง ๆ ชื่อระบุชนิด elastica แปลว่า “ยาง” สื่อถึงน้ำยางสีขาวในต้นนั่นเอง ส่วนชื่อสามัญก็มีความหมายสื่อถึงน้ำยางเช่นกัน นั่นคือ Decora Tree, Indian Rubber Tree และ Rubber Plant
ลักษณะทั่วไปเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ แตกกิ่งแผ่กว้าง ถ้าปลูกลงดินจะสูงได้ถึง 25 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นสีน้ำตาลเข้ม ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยว รูปรี หรือรูปไข่กลับ ขอบใบเรียบ ใบหนาแข็งเกลี้ยงเป็นมัน มีหูใบสีชมพูหรือสีแดงห่อหุ้มยอดอ่อนไว้ ก้านใบสีแดงเรื่อ ดอกขนาดเล็ก แยกเพศออกเป็นคู่ ผลทรงกลมรี เมื่อแก่เป็นสีเหลือง ปัจจุบันมีการกลายพันธุ์เป็นพันธุ์ใบด่างที่มีสีสันสวยงาม เช่น ด่างสีขาว เหลือง หรือสีเข้มเกือบดำ และพันธุ์แคระ
ยางอินเดียเป็นพรรณไม้ที่โตเร็ว ปลูกเลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง หรือปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีทั้งกลางแจ้งและที่มีแสงน้อย ถ้าปลูกกลางแจ้งต้นจะสูงไม่มากนัก ต้องการน้ำปานกลาง ไม่ชอบน้ำขังแฉะ ระบบรากแผ่ได้ไกลจึงไม่ควรปลูกชิดอาคาร เมื่อต้นสมบูรณ์จะแตกรากอากาศตามลำต้นห้อยย้อยดูสวยงาม ให้ร่มเงาได้ดี ควรตัดแต่งกิ่งล่างให้โล่ง ทำเป็นที่นั่งเล่น ปลูกริมทะเลได้เนื่องจากทนลมแรง แต่จะทิ้งใบมากถ้าแห้งแล้ง
นอกจากนี้ ปลูกเป็นไม้กระถางประดับในอาคาร และควรหมั่นใช้ผ้าชุบน้ำพอหมาดเช็ดใบเพิ่มความชุ่มชื้น ส่วนใบนิยมใช้ประกอบในการทำพวงหรีด เนื่องจากใบหนาเป็นมัน ทนทานไม่เหี่ยวเฉาง่าย
ทั้งนี้ ติดตามข้อมูลพรรณไม้ชนิดอื่น ๆ ที่ปลูกเลี้ยงในประเทศไทย ซึ่งรวบรวมไว้มากกว่า 1,500 ชนิด ได้ที่ https://www.baanlaesuan.com/plants
เรื่อง: อังกาบดอย
ภาพ: อภิรักษ์ สุขสัย, ธนกิตติ์ คำอ่อน
วิธีเลือกซื้อยางอินเดีย และปลูกเลี้ยงอย่างไรให้รอด
ไม้ใบในบ้านห้องไหนปลูกต้นอะไรดี
ติดตามข้อมูลดีๆเกี่ยวกับ บ้านและสวนแฟร์ ได้ทาง แฟนเพจบ้านและสวน
ต้นยางอินเดีย
l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l