บ้านไม้ผสมปูน ขนาด 2 ชั้น ที่ตั้งใจสร้างขึ้นจากไม้เก่าแต่ผสมผนังปูนบางส่วนเพราะไม้หมด ออกแบบโดยเน้นการเปิดช่องหน้าต่างเชื่อมออกไปสู่ท้องฟ้า ทุ่งนา และขุนเขาโดยรอบ
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Studio Miti
บ้านไม้กลางทุ่งนา
บางครั้งสถานที่ที่เราเกิดก็ไม่ใช่สถานที่ที่เราเลือกอาศัยอยู่ยามเติบโต ตราบเมื่อเราสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ที่ไหนแล้วมีความสุขที่สุด เหมือนกับสาวฉะเชิงเทราคนนี้ที่ได้มาพบรักกับหนุ่มลำปางแล้วชวนกันมาเริ่มต้นชีวิตที่จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเพราะหลงรักในวัฒนธรรมพื้นถิ่น คูเมือง ต้นไม้ และขุนเขา จึงเลือกสร้าง บ้านไม้ผสมปูน หลังเล็กๆ ร่วมกันอยู่ในเขตอำเภอแม่ริมเมื่อหลายปีก่อน บ้านไม้กลางทุ่งนา
จากบ้านหลังเล็กๆ ก็เริ่มขยับขยายมาเป็นบ้านหลังใหญ่ขึ้น และในที่สุดไม่ว่าจะด้วยโชคชะตาหรือเหตุบังเอิญ ก็ทำให้ คุณซา-นราวัลย์ (ราชสีห์) วังตระกูล และคุณต้อม-อภิชัย วังตระกูล บอกขายบ้านหลังเดิมเมื่อเจอที่ดินผืนงามกลางท้องนากว้างนี้ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านหลังเดิม และตัดสินใจซื้อที่ดินนี้เพื่อสร้างบ้านหลังใหม่ของพวกเขากันอีกครั้ง
“จากมุมบ้านหลังเดิมเรามองมาเห็นต้นจามจุรีโดดเด่นอยู่ตรงนี้ ก็คิดว่าน่าจะเป็นผืนดินที่มีน้ำอยู่ใกล้ๆ ยามค่ำคืนไม่เคยมีแสงไฟของบ้านเรือนเปิดให้เห็น จนวันหนึ่งก็เลยชวนกันมาเดินดูและได้เจอกับลุงเจ้าของที่ ก็ตกลงขอซื้อที่ดินซึ่งตัดแบ่งมาเป็นรูปทรงแอล (L) กลับด้าน ฐานเล็กแต่ยาว จากนั้นก็ติดต่อ คุณประกิจ กัณหา แห่ง Studio Miti มาช่วยออกแบบบ้านให้ เพราะชอบผลงานการออกแบบบ้านไม้ของเขาค่ะ” คุณซาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างบ้านกลางทุ่งนาให้ฟัง
เพราะหลงรักในบ้านไม้ ทั้งคู่จึงพยายามเสาะหาบ้านไม้เก่าจากที่ต่างๆ ในเชียงใหม่มาได้ 5 หลัง แล้วถอดชิ้นส่วนไม้ออกมาเพื่อเลือกใช้งานตามส่วนต่างๆ ของบ้าน โดยเฉพาะโครงคร่าว ฝา และเสา แต่เนื่องจากคุณต้อมขอขยายสัดส่วนของบ้านออกมาจากขนาด 3.50 เมตรที่สถาปนิกออกแบบไว้อีก 50 เซนติเมตรให้กลายเป็น 4 เมตร พร้อมพื้นที่ระเบียงกว้างขึ้นเพื่อออกมานั่งรับลมชมวิวได้สบาย แต่เมื่อมีไม้อยู่จำกัดจึงจำเป็นต้องผสมพื้นที่ชั้นล่างด้วยผนังก่อปูน ส่วนระยะไม้ที่ไม่พอก็ใช้เหล็กเข้าไปเสริมแทน
คุณต้อมบอกว่า “ตอนแรกข้างล่างออกแบบเป็นเสาไม้ แต่หาไม่ได้ก็เลยเป็นเสาปูนแทน และเดิมก็เป็นหน้าต่างไม้ทั้งหมด แต่ผู้รับเหมาทิ้งงาน ก็เลยใช้หน้าต่างเหล็กกับกระจกผสม และผมก็ไปตระเวนหาหน้าต่างเก่าจากบ้านธิทุกวัน บางทีเจอที่ชาวบ้านกองไว้เราก็ขอซื้อ แล้วเอามาด้นสดหน้างานเลยว่าจะใส่ไว้ที่ผนังตรงไหนบ้าง มันเลยดูไม่ค่อยเท่ากัน ส่วนหลังคาเราใช้ออนดูลีนที่มีส่วนผสมของเส้นใยธรรมชาติแข็งแรงแต่เบาและใส่ฉนวนเข้าไปแต่ไม่มีฝ้า ปิดด้วยแผ่นไม้อัดโอเอสบี ผนังด้านที่อยู่ทิศตะวันตกซึ่งโดดแดดจัดๆ ก็กรุด้วยยิปซั่มบอร์ดโทนสีขาวเป็นฉนวนช่วยลดความร้อน ผมว่าตรงนี้เป็นซิกเนเจอร์หนึ่งของสตูดิโอมิติด้วยเหมือนกัน”
การจัดวางฟังก์ชันใช้สอยของบ้านรับและล้อไปกับพื้นที่รูปทรงตัวแอลที่มีขนาดยาว จึงเอื้อต่อการเปิดช่องหน้าต่างเชื่อมออกไปสู่ท้องฟ้า ทุ่งนา และขุนเขาโดยรอบได้ดี ทำให้ทุกห้องของบ้านสามารถมองเห็นธรรมชาติได้หมด แม้แต่มุมห้องครัวที่คุณซาเคยใฝ่ฝันไว้ว่าอยากมองเห็นภูเขาได้แม้ขณะยืนล้างจานอยู่ในห้องครัว
“บ้านหลังเดิมเราค่อนข้างปิดทึบ มีเฉพาะมุมที่มองเห็นดวงอาทิตย์ตกดินเป็นหลัก พอมาบ้านหลังนี้เราเลยเน้นเปิดโล่งทุกมุม เพราะเรามีธรรมชาติสวยๆ รอบตัวอยู่แล้ว เราจึงใช้หน้าต่างบานสูงผสมผนังกระจก มีทางเดินที่เป็นแกนกลางของบ้านเปิดโล่งเชื่อมทุกมุมในบ้านและเป็นช่องทางลมหมุนเวียน แม้แต่ในห้องน้ำก็ต้องเห็นวิวธรรมชาติ และโดยเฉพาะห้องนอนหลักของเราที่มองเห็นวิวทั้งด้านดอยสะเก็ดและหมอกเช้าสวยๆ ทางฝั่งแม่น้ำปิง ตกกลางคืนก็เห็นดวงจันทร์ดวงโตจากอีกด้านหนึ่ง ส่วนของตกแต่งในบ้านก็เป็นเฟอร์นิเจอร์และของเก่าสะสมที่นำมาจากบ้านหลังเดิมเกือบทั้งหมด ทำให้บรรยากาศในบ้านไม่ต่างจากบ้านหลังเดิมที่เราเคยอยู่เท่าไร”
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ธรรมชาติยังคงทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะสร้างสายหมอกสวยๆ ในยามเช้า ท้องฟ้าสีแจ่มในตอนกลางวัน หรือมืดสนิทจนเห็นดวงดาวถี่ระยิบที่สุดในยามค่ำคืน นั่นเพราะที่นี่ยังไม่มีระบบไฟฟ้า ทั้งคู่จึงเลือกใช้โซลาร์เซลล์ที่ต้องคำนวณการใช้พลังงานให้พอเพียงในแต่ละวัน แม้ไม่มีเครื่องปรับอากาศแต่ลมธรรมชาติที่นี่ก็เย็นถึงใจ แลกมาด้วยความสงบเงียบของบ้านไม้สวยๆ ที่ซ่อนตัวอยู่กลางทุ่งนากว้าง และเป็นบรรยากาศที่หลงเหลือให้สัมผัสอยู่น้อยเต็มที
In the Middle of the Field บ้านไม้กลางทุ่งนา
DESIGNER DIRECTORY :
เจ้าของ : คุณนราวัลย์ (ราชสีห์) วังตระกูล และคุณอภิชัย วังตระกูล
สถาปนิก : Studio Miti โดยคุณประกิจ กัณหา
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
เรื่องที่น่าสนใจ