DESIGNER DIRECTORY :
เจ้าของ : คุณพงษ์พันธ์ – คุณชุติพร ชอบขาย
ออกแบบ : Wish Architect Design Studio โดยคุณชาญวิทย์ อนันต์วัฒนกุล
เริ่มต้นจากแนวคิดการสร้างบ้านเพื่ออยู่ชั่วคราว โดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ง่ายๆ แต่หลังจาก คุณนนท์-พงษ์พันธ์และคุณส้ม-ชุติพร ชอบขาย ได้พูดคุยกับเพื่อน คุณวิทย์ – ชาญวิทย์ อนันต์วัฒนกุล แห่ง Wish Architect Design Studio ซึ่งเป็นผู้ออกแบบ ผลลัพธ์ที่ได้คือ บ้านตู้คอนเทนเนอร์ ที่เหนือความคาดหมายหลังนี้
พื้นเพของครอบครัวคุณส้มเป็นคนขอนแก่น ส่วนครอบครัวคุณนนท์เป็นคนร้อยเอ็ด แต่ภายหลังได้ย้ายมาทำกิจการที่จังหวัดขอนแก่น บ้านตู้คอนเทนเนอร์
“ตั้งใจจะสร้างบ้านหลังใหม่ แต่ก่อนหน้านี้มีบ้านหลังเดิมอยู่ตรงที่ดินที่ติดกัน ก็ต้องทุบบ้านหลังนั้นก่อน ประกอบกับซอยนี้เล็ก เลยคิดว่าใช้ตู้คอนเทนเนอร์เป็นที่อยู่ชั่วคราวตรงนี้ แต่พอได้แบบกลับมา ก็คิดว่าคงไม่ชั่วคราวแล้วล่ะ” คุณนนท์อธิบายถึงที่มาของการสร้างบ้านจากตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งดูแปลกตาต่างจากบ้านหลังอื่นในขอนแก่น
คุณวิทย์ในฐานะผู้ออกแบบบ้านหลักที่รอการสร้าง และบ้านตู้คอนเทนเนอร์หลังนี้ได้วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย ซึ่งประกอบด้วย คุณนนท์ คุณส้ม คุณพ่อ คุณแม่ และคุณยายของคุณส้มไว้ว่า “เราพบว่าคุณส้มกับคุณนนท์มีของเยอะ และแต่ละคนในครอบครัวก็มีคาแร็กเตอร์ไม่เหมือนกัน อย่างคุณยายชอบดูทีวี จริงๆ แล้วตู้คอนเทนเนอร์ก็มีข้อจำกัดพอสมควร อย่างการทำห้องน้ำ งานโครงสร้างหลักของระบบน้ำจึงเป็นโครงสร้างปูน ส่วนตู้คอนเทนเนอร์ก็พยายามหารายละเอียดที่จะรื้อได้ด้วย ส่วนจำนวนตู้ที่ใช้ จริงๆ ผมคิดเป็นตารางเมตรก่อน ตู้ใบหนึ่งมีขนาด 2.40 x 6 เมตร บ้านหลังนี้ใช้ไป 15 ใบ”
แปลนบ้านโดยรวมมีการแบ่งออกเป็น 2 ปีก ฝั่งหนึ่งสำหรับห้องนั่งเล่นและบนชั้นสองเป็นห้องคุณนนท์กับคุณส้ม ส่วนห้องคุณพ่อคุณแม่และคุณยายจะอยู่อีกฝั่งหนึ่ง โดยมีลานไม้เป็นตัวเชื่อมปฏิสัมพันธ์ของสมาชิก รวมถึงมีหน้าที่เป็นลานอเนกประสงค์สำหรับรับแขกหรือใช้ทำบุญตามโอกาสต่างๆ ซึ่งก็เป็นส่วนสะท้อนวัฒนธรรมของคนอีสานที่บริเวณบ้านมักมีลานเช่นนี้
“ผมว่าบ้านต่างจังหวัดมีความสัมพันธ์อย่างหนึ่งที่ชัดเลยนะ นั่นคือแขกที่มาแต่ละคนจะมานั่งคุยกันนานๆ บางทีก็ 3-4 ชั่วโมง ก็จะมีทั้งแขกคุณส้มคุณนนท์ แขกคุณพ่อ แขกคุณยายก็มา บ้านจึงไม่ได้เป็นพื้นที่ส่วนตัวอย่างเดียว แขกก็สามารถนั่งข้างนอกตรงลานได้สบายๆ”
คุณวิทย์ขยายความถึงหน้าที่การใช้งานเพิ่มเติมของลานนอกบ้านนี้ ซึ่งก่อนจะทุบบ้านหลังเก่าก็มีลานแบบนี้เช่นกัน ขณะที่มองในแง่ของการออกแบบ ลานโล่งตามแนวยาวนี้ยังเป็นทางลมขนาดใหญ่ที่ช่วยให้อากาศไหลเวียนจากหน้าบ้านไปสู่หลังบ้าน เพื่อช่วยระบายความร้อน ขณะที่ลานตามแนวขวางด้านหน้าและ หลังบ้านก็เป็นเหมือนระยะร่นที่ช่วยลดความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านที่สร้างมาจากตู้คอนเทนเนอร์ โดยมีการปลูกต้นไม้ใหญ่บริเวณหน้าบ้านช่วยบังแสงแดดทางทิศตะวันตกอีกชั้นหนึ่ง ขณะที่หลังบ้านใช้บล็อกช่องลมช่วยกั้นความร้อนบางส่วนจากทิศตะวันออกในยามสาย ห้องน้ำส่วนใหญ่จัดวางให้อยู่ทางทิศใต้ เพื่อช่วยระบายความชื้นและกันความร้อน บางห้องปลูกต้นไม้ไว้ภายในเพื่อสร้างบรรยกาศแบบบ้านชนบทสมัยก่อนที่อาบน้ำกับตุ่มนอกบ้าน และหลังคาบ้านมีการพ่นฉนวนกันความร้อนด้วย
ด้านการใช้สี คุณวิทย์เลือกใช้สีขาวเป็นหลัก เพื่อไม่ให้บ้านดูวุ่นวายจนเกินไป เนื่องจากบ้านมีรายละเอียดที่ต้องโชว์ค่อนข้างเยอะตามข้อกำจัดของงานระบบ เหตุเพราะเพดานของตู้คอนเทนเนอร์ค่อนข้างต่ำ จึงจำเป็นต้องเดินงานระบบไฟให้ลอยตัวอยู่ตามเสาเหล็กที่เสริมเข้ามา ผนังตู้เดิม และบนเพดาน เพื่อไม่กดให้เพดานดูต่ำไปกว่านี้ โครงสร้างเหล็กที่เสริมมายังได้รับการเลือกสัดส่วนเหล็กให้จบงานพอดีกับผนังด้วย ส่วนลานบ้านใช้ไม้เพื่อความรู้สึกอบอุ่น เว้นบริเวณหน้าบ้านเล็กน้อยที่ใช้หินจริงตกแต่งตรงบันได ได้บรรยากาศแบบสวนดีไซน์โมเดิร์น รับกับบ้านทรงกล่องของตู้คอนเทนเนอร์ โดยมีรั้วบ้านที่เล่นกับเส้นตั้งเส้นนอนช่วยทั้งในเรื่องภาษา ของการออกแบบและความโปร่งในแบบที่ยังคงความเป็นส่วนตัว
ด้านพฤติกรรมการใช้งาน เนื่องจากคุณส้มชอบอบขนมและคุณยายชอบทำอาหาร จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของบ้านหลังนี้จึงอยู่ที่การวางแปลนห้องนั่งเล่นแบบเปิดโล่ง เชื่อมต่อกับพื้นที่ปรุงอาหารขนาดใหญ่ โดยมีแพนทรี่สำหรับชงกาแฟอยู่ด้านหน้า ไล่เลียงไปเป็นไอส์แลนส์เตาแก๊ส และชั้นเก็บภาชนะซึ่งมีฉากกั้นขนาดใหญ่ช่วยให้บริเวณนี้ดูเรียบร้อยขึ้น
การออกแบบทุกพื้นที่ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของสมาชิก ถือเป็นการเชื่อมโยงคนในบ้านให้มีความผูกพันกันมากยิ่งขึ้นด้วย “เราไม่ได้คิดว่าบ้านจะมาถึงจุดนี้ หลักๆ แค่อยากมีบ้านที่อยู่กับพ่อแม่กับคุณยาย อยากอยู่เป็นครอบครัวใหญ่แบบอบอุ่น”
คุณส้มกล่าวสรุปถึงการสร้างบ้านตู้คอนเทนเนอร์หลังนี้ ซึ่งเดิมคิดเพียงจะใช้อยู่อาศัยแค่ชั่วคราว แต่ด้วยการออกแบบที่พิจารณาจึงองค์ประกอบต่างๆอย่างรอบคอบ จึงได้กลายมาเป็นบ้านถาวรอีกหลังที่ทุกคนในครอบครัวสามารถอยู่อาศัยได้อย่างมีความสุข
บ้านตู้คอนเทนเนอร์เท่ๆ แต่อบอุ่น
ที่ตั้ง: จังหวัดขอนแก่น
เจ้าของ: คุณพงษ์พันธ์ – คุณชุติพร ชอบขาย
ออกแบบ: Wish Architect Design Studio โดยคุณชาญวิทย์ อนันต์วัฒนกุล
เรื่อง : สมัชชา วิราพร
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
เรื่องที่น่าสนใจ