สวนเกษตรอินทรีย์ ทำเกษตรกรรมในฟาร์มสเตย์แบบพอเพียง

       การได้สูดไอดินในยามเช้า หอมกลิ่นกรุ่นดอกข้าว มีหยาดน้ำค้างที่พรมลงมาให้เย็นชื่น เคยเป็นความสุขที่เกิดขึ้นและสามารถสัมผัสได้ทั่วไปแม้ในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ แต่นานเพียงใดแล้วที่สิ่งเหล่านี้ค่อยๆห่างและหายจากเราไปเรื่อย ๆ ความรู้สึกแบบที่เราขอเรียกว่านี่แหละคือกลิ่นอายความเป็นบ้านนอกคอกนา สวนเกษตรอินทรีย์

“บ้านนอกคอกนา” คือชื่อโครงการแสนเรียบง่ายบนที่ดินขนาด 11 ไร่ ของ คุณสา – สาริศา เกตุทอง และครอบครัว บนแผ่นดินผืนนี้แบ่งพื้นที่ออกเป็นบ้านพักอาศัยของตัวเองและสมาชิกในครอบครัว บ้านพักตากอากาศรายวันสำหรับผู้สนใจมาพักผ่อนท่ามกลางบรรยากาศแบบบ้านนอกที่แสนสบาย รวมถึงร้านอาหารและคาเฟ่ ทั้งหมดออกแบบให้รายล้อมด้วยหัวใจหลัก นั่นคือ งานภูมิทัศน์แบบไร่ สวนเกษตรอินทรีย์ ซึ่งนำหลักการทำเกษตรกรรมวิถีพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ให้เข้ากับความถนัดและความชอบของตัวเองและคนรอบข้าง จนออกมาเป็นสวนสวยอย่างที่เราได้เห็นกัน

บ้านนอกคอกนา
ลำคลองธรรมชาติที่ไหลผ่านที่ดินทำให้สามารถแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน เจ้าของได้ขุดลอกคลองเพิ่มเติมเพื่อให้มีน้ำไว้ใช้รดน้ำต้นไม้ในฤดูแล้ง และในฤดูฝนที่มีน้ำหลากก็ยังมีท่าสำหรับพายเรือเล่นได้
บ้านนอกคอกนา
คาเฟ่และร้านอาหารออกแบบให้มีลักษณะคล้ายศาลา บางมุมจัดให้มีที่นั่งใต้ซุ้มไม้เลื้อย เพื่อให้ผู้มาเยือนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติโดยรอบ
บ้านนอกคอกนา
จัดพื้นที่สำหรับปลูกผักและข้าวอย่างเป็นสัดส่วน สามารถดูแลได้ง่าย โดยเลือกปลูกพืชต่างชนิดหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้แร่ธาตุในดินเสื่อมสภาพและมีผักหลากหลายชนิดไว้บริโภค
บ้านนอกคอกนา
สะพานไม้ไผ่สานที่ซ่อนโครงสร้างเหล็กแข็งแรงไว้ภายใน ทำหน้าที่ทั้งเชื่อมและกั้นความเป็นส่วนตัวระหว่างแปลงผัก บ้านพัก และร้านอาหารซึ่งอยู่บริเวณด้านหน้าที่ติดกับถนน

“ที่ตรงนี้เป็นที่เก่าดั้งเดิมของพ่อแม่ เมื่อก่อนก็ทำเกษตรกรรมปลูกผักปลูกข้าวโพดหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ แต่ยังใช้สารเคมีอยู่ เราอยู่กับมันมาตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นก็ไปศึกษาต่อและทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ยังหมั่นกลับบ้านที่ปากช่องบ่อยๆ พอพี่ชายทำเกษตรต่อจากพ่อก็เริ่มประสบปัญหาขาดทุนเรื่อยๆ หมดเงินไปกับค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง และค่าคนงาน ขาดแหล่งน้ำ ต้องรอฝนซึ่งก็ไม่ได้ตกตามฤดูกาลเหมือนสมัยก่อน เขาก็เริ่มไม่มีอาชีพแล้ว เราเลยปรึกษากับสามีว่าจะทำอย่างไรให้ครอบครัวเรามีอาชีพและได้ทำอะไรร่วมกัน ที่สำคัญคือ อยากให้ที่ดินผืนนี้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น” คุณสาเล่าถึงที่มาของสถานที่แห่งนี้ให้ฟัง

สาริศา เกตุทอง บ้านนอกคอกนา
คุณสาริศา เกตุทอง ผู้ออกแบบสวนและแปลงผักในโครงการทั้งหมด กำลังเก็บผลผลิตที่พร้อมบริโภค จากนั้นก็จะพักดินไว้สักพัก แล้วจึงค่อยเริ่มปลูกผักชนิดใหม่

บ้านนอกคอกนา แปลงผัก

บ้านนอกคอกนา หมากสง ไม้เรือนยอด
หมากสงเป็นไม้เรือนยอดอีกชนิดที่น่าปลูก เพราะให้ทั้งร่มเงาและผลผลิตสำหรับจำหน่าย
บ้านนอกคอกนา ลานหินนั่งเล่น
ลานหินวงกลมสำหรับนั่งเล่นสังสรรค์และทำกิจกรรมเป็นหมู่คณะในตอนกลางคืน เมื่อถึงช่วงฤดูหนาวก็สามารถก่อกองไฟเพื่อช่วยให้รู้สึกอบอุ่นขึ้นได้
ทางเดินไม้ไผ่สาน บ้านนอกคอกนา
ทางเดินไม้ไผ่สานฝีมือคนในพื้นที่ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมไปยังห้องพักต่างๆ ผู้มาเยือนยังสามารถใช้ทางเดินนี้เดินไปชมสวนและแปลงผักรอบๆได้โดยไม่เหยียบย่ำต้นไม้ในแปลง

คุณสาและสามี คุณอาร์ต – อธิพันธ์ ศรีจักร จึงได้ริเริ่มการทำเกษตรอินทรีย์ร่วมกับการทำที่พัก ร้านอาหาร และคาเฟ่ไปด้วย โดยนำเงินเดือนจากงานประจำที่กรุงเทพฯมาเป็นเงินทุน ขั้นตอนแรกเริ่มจากการปรับพื้นดิน พร้อมขุดลอกคูคลองธรรมชาติที่ไหลผ่านที่ดินซึ่งกลายเป็นตัวแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน จากนั้นถางไผ่ตงที่ขึ้นเป็นป่ารกชัฏออก ขุดบ่อน้ำเพื่อใช้เก็บน้ำ ก่อนลงต้นไม้ใหญ่ แล้วจึงปลูกพืชตระกูลถั่วอย่างถั่วบราซิลและปอเทืองเพื่อเพิ่มแร่ธาตุในดิน ตามด้วยการปลูกไม้พุ่ม ทุ่งนา และแปลงผักตามลักษณะนิสัยของต้นไม้แต่ละชนิด รวมถึงดูทิศทางของแสงแดดให้เหมาะสม ขณะเดียวกันก็ไม่ใช้สารเคมีในการดูแลต้นไม้ จากนั้นจึงเริ่มสร้างอาคารรอบๆ โดยคุณอาร์ตซึ่งชื่นชอบงานสถาปัตยกรรมอยู่แล้วเป็นผู้ออกแบบอาคาร ส่วนคุณสาที่ชอบงานออกแบบและงานประดิษฐ์เป็นผู้ออกแบบงานตกแต่งและองค์ประกอบต่างๆภายในสวน โดยอิงแนวคิดมาจากความเป็นคนบ้านนอกคอกนาของตัวเอง สื่อผ่านวัสดุเรียบง่ายอย่างไม้ไผ่หรือใบจากซึ่งเป็นไม้พื้นถิ่น

บ้านนอกคอกนา ริบบิ้นตกแต่งสวน
ต้นไม้ใหญ่ทรงสวยที่ให้ทั้งร่มเงาและช่วยรักษาระบบนิเวศ สามารถนำริบบิ้นสีขาวมาตกแต่งเพิ่มความสวยงามได้อีกด้วย
บ้านนอกคอกนา ทุ่งข้าวไรซ์เบอร์รี่
ทุ่งข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวชนิดนี้เปี่ยมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ นิยมปลูกด้วยวิธีปักดำหรือโยนกล้าในสถานที่ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นและได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน เป็นกิจกรรมให้แขกที่มาเข้าพักหรือผู้สนใจได้ลองทำ

อ่านต่อหน้า 2