บ้านช่างหล่อ คือชุมชนช่างกลางกรุงที่มีเรื่องราวความเป็นมากว่าร้อยปี ตั้งอยู่ในเขตบางกอกน้อย บริเวณเชิงสะพานข้ามคลองบ้านขมิ้น – คลองคูเมือง*
ว่ากันว่าชาวบ้านช่างหล่อมีพื้นเพเดิมเป็นชาวจังหวัดพิษณุโลก**ที่อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาตั้งแต่เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างเมืองกรุงธนบุรี ที่นี่จึงถือเป็นแหล่งรวมช่างฝีมือที่สืบทอดภูมิปัญญาดั้งเดิมต่อกันมาจากบรรพบุรุษ และมีชื่อเสียงมากที่สุดชุมชนหนึ่ง ทั้งยังเป็นแหล่งชุมนุมของช่างงานศิลป์ที่หลากหลาย เพราะการหล่อพระหรือประติมากรรมใดๆล้วนต้องมีงานศิลป์สาขาต่างๆมาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เช่น ช่างปั้น ช่างเททอง ช่างขัด ช่างลงรักปิดทอง ช่างติดกระจก
บ้านช่างหล่อ
ชมขั้นตอนการหล่อพระ
สมัยก่อนการหล่อพระในทุกขั้นตอนล้วนมีความเชื่อที่ปฏิบัติตามกันมา เช่น ไม่หล่อพระในวัน 15 ค่ำ เพราะเชื่อว่าจะเกิดความเสียหายและได้รับบาดเจ็บจากการทำงานได้ วันนี้จึงถือเป็นวันหยุดของช่างและคนในชุมชน หรือการนำสัตว์มาย่างบนเตาหลอมก็เชื่อกันว่าจะทำให้หล่อพระได้ไม่เต็มองค์ จนถึงยุคปัจจุบันความเชื่อและพิธีกรรมบางอย่างได้จางหายไป ยังคงมีทำอยู่บ้างแต่ไม่เข้มข้นเหมือนในอดีต กระทั่งถึงยุคที่บ้านช่างหล่อหลงเหลือไว้แค่เพียงหน้าร้านที่จำหน่ายพระพุทธรูปหล่อ โดยในปี 2535 เป็นปีที่ไม่มีโรงหล่อหลงเหลืออยู่ในบริเวณนี้อีกแล้ว ด้วยเหตุผลของการขยายตัวของเมือง บรรดาโรงหล่อทั้งหลายเริ่มทยอยออกจากพื้นที่ไปหาที่ตั้งใหม่ที่ห่างไกลจากชุมชน เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของคนส่วนใหญ่
ปัจจุบันโรงหล่อพระที่ขยับขยายออกมาจากบ้านช่างหล่อได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ ช่วยให้งานปั้นงานหล่อเร็วขึ้น ประหยัดเวลา เช่น การขึ้นหุ่นด้วยระบบพิมพ์สามมิติ แล้วตัดเป็นโฟมเพื่อขึ้นหุ่นแทนคนปั้น เตาหลอมก็ใช้แก๊สแทนฟืนเพื่อความรวดเร็วในการหลอมสำริดและทองเหลือง วิธีการปั้นดินด้วยคนและกรรมวิธีโบราณยังมีอยู่ ขึ้นอยู่กับชิ้นงานประติมากรรมหรือตามคำสั่งของลูกค้าว่าต้องการงานแบบไหน แต่ที่น่าเป็นห่วงคืองานช่างแขนงต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นนั้นแทบจะไม่มีคนรุ่นใหม่ทำให้เห็น ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน อาจเป็นเพราะว่านี่เป็นงานหนักและร้อน ก็เลยไม่เป็นที่นิยมของแรงงานไทยในโรงหล่อ
- 7 ไอเดียทำ หิ้งพระติดผนัง กราบไหว้ได้แม้ไร้ห้องพระ
- เรียงลำดับพระบนโต๊ะหมู่บูชาและหิ้งพระในบ้าน
- พระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นิยมบูชาในบ้าน
ขั้นตอนการสร้างพระพุทธรูปตามประเพณีนิยมที่สืบทอดกันมา
1. สเก็ตช์ภาพองค์พระและนำไปขึ้นหุ่นดิน
2. แกะรายละเอียดเม็ดพระศกลายดอกพิกุล โดยเทียบขนาดกับองค์พระ
3. เก็บรายละเอียดและความเรียบร้อยของงานหุ่นดิน
4. เริ่มขั้นตอนการถอดพิมพ์ โดยจะแบ่งเป็นพิมพ์หน้าและพิมพ์หลัง ใช้แผ่นสังกะสีตัดเป็นแผ่นแล้วเสียบตรงบริเวณกึ่งกลางองค์พระ เพื่อแบ่งเป็นด้านหน้าและด้านหลัง
5. สาดปูนใส่องค์พระ ความหนาของปูนทั่วองค์คือประมาณ 10 เซนติเมตร
6. เสริมใยมะพร้าวและไม้ค้ำเพื่อให้พิมพ์แข็งแรงไม่แตกหักง่ายเมื่อถึงเวลาถอดพิมพ์ออก
7. แกะพิมพ์ออกและคว้านดินออกให้หมด
8. ใช้แปรงทาขี้ผึ้งบนพิมพ์พระด้านใน จำนวนรอบการทาขี้ผึ้งขึ้นอยู่กับนายช่างว่าต้องการให้องค์พระมีความหนามากน้อยแค่ไหน
9. ประกบพิมพ์ด้านหน้าและด้านหลังเข้าหากัน โดยผสมปูนปลาสเตอร์ ทราย และน้ำแล้วคนให้เข้ากัน จากนั้นเทลงในพิมพ์
10. กะเทาะพิมพ์ชั้นแรกออกให้หมดทั่วองค์
11. กะเทาะส่วนที่ติดกับเนื้อขี้ผึ้ง โดยห้ามให้ขี้ผึ้งองค์พระเสียหาย
12. แต่งองค์พระเก็บรายละเอียด
13. เก็บรายละเอียดพระพักตร์ให้คมชัด
14. ติดเม็ดพระศกและรายละเอียดอื่นๆขององค์พระ
15. ปั้นพระเกศาให้ขนาดได้สัดส่วนกับองค์พระ
16. ขั้นตอนการปั้นเสร็จสมบูรณ์
17. ขั้นตอนเททองหล่อ
18-20. กะเทาะปูนออกให้ทั่วองค์เมื่อเททองเสร็จเรียบร้อยแล้ว
21. ขัดแต่งลงรักปิดทอง ก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์
อ้างอิงจาก
*หนังสือภูมิปัญญาไทยในงานศิลป์ ถิ่นเมืองกรุง
**วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 45 ฉบับที่ 1 มกราคม – มีนาคม 2562
ขอขอบคุณ
โรงหล่อพระพุทธรูปพิสิฐ โทรศัพท์ 08-7675-6576
เรื่องและภาพ : ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
เรื่องที่น่าสนใจ
l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l