อีกปัญหาหนึ่งของ พื้นทางเดินนอกบ้าน ที่เจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการทรุดตัว หรือ ดินยุบ ทั้งทางเดินในสวน ทางเดินเข้าบ้าน ทางเดินฟุตปาธที่มีให้พบเห็นโดยทั่วไป
ปัญหานี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุคือ ขั้นตอนการปู พื้นทางเดินนอกบ้าน ไม่ได้คุณภาพ กับการเปลี่ยนแปลงของผิวดินซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของสภาพดินในบริเวณนั้นๆ ซึ่งข้อนี้เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของปัญหา ดินทรุด บ้านทรุด ด้วย
การปูพื้นทางเดินนอกบ้าน ไม่ให้เกิดปัญหาดินยุบและใช้งานได้ดีมี 2 ส่วนที่ต้องพิจารณาด้วยกันคือ วัสดุปูพื้นและวิธีการปู โดยส่วนใหญ่แล้วพื้นทางเดินนอกบ้าน เป็นส่วนที่ไม่ต้องรับแรงมากต่างจากพื้นถนนหรือพื้นทางเดินสาธารณะ ขั้นตอนการปูพื้นจึงไม่ได้ยุ่งยากเจ้าของบ้านสามารถทำเองได้
ประเภทวัสดุปู พื้นทางเดินนอกบ้าน
ในท้องตลาดมีวัสดุปูพื้นนอกบ้านแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ ด้วยกันคือ
1. วัสดุจากธรรมชาติ อย่างหินแกรนิต หินทราย หินกาบ ศิลาแลง ซึ่งวัสดุประเภทนี้นิยมใช้ปูตกแต่งตามทางเดินในสวนที่ต้องการความสวยงามเสมือนธรรมชาติ แต่ข้อจำกัดคือแผ่นปูพื้นมักมีขนาดหนาบางไม่เท่ากัน บางชนิดแตกหักได้ง่าย บางชนิดเกิดตะไคร่น้ำได้ง่ายตามธรรมชาติของวัสดุ บวกกับเริ่มหาซื้อได้ยากทำให้นิยมใช้เฉพาะบางจุดเพื่อความสวยงามเท่านั้น ไม่ควรเลือกใช้ในจุดที่ต้องรับน้ำหนักมากๆ
2. คอนกรีตปูพื้น เป็นวัสดุทดแทนที่สร้างขึ้นสำหรับปูพื้นทางเดิน ทำจากซีเมนต์ผสมกับ หิน ทราย และน้ำ แล้วอัดขึ้นรูปให้เป็นรูปทรงต่างๆ รับแรงอัดได้มาก หาซื้อง่าย ติดตั้งง่าย ราคาถูกกว่าหินธรรมชาติจึงเป็นที่นิยมใช้ปูนอกบ้าน ทางเดิน และทางเข้าโรงจอดรถ คอนกรีตปูพื้นแบ่งเป็นย่อย 2 แบบด้วยกันคือ
– คอนกรีตบล็อกประสานปูพื้น หรืออิฐตัวหนอน เป็นบล็อกปูพื้นก้อนขนาดเล็กแต่มีความหนาประมาณ 4-6 เซนติเมตร มีหลายรูปทรงให้เลือกสามารถสร้างลวดลายเองตามแบบที่ชอบทั้ง สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม และรูปตัวหนอนอย่างที่นิยมใช้ปูฟุตปาธ บล็อกคอนกรีตรับแรงอัดได้สูงถึง 350 กิโลกรัม/เซนติเมตร จึงเหมาะสำหรับปูบริเวณลานจอดรถ ทางเดินหน้าบ้านที่เป็นทางสัญจร
– กระเบื้องคอนกรีต ลักษณะเหมือนกระเบื้องปูพื้นเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม หนาประมาณ 3-4 เซนติเมตร มีขนาดใกล้เคียงกับกระเบื้องปูพื้นประมาณ 40 x 40 เซนติเมตร กระเบื้องคอนกรีตจะมีลวดลายและสีสันแตกต่างกันไปตามวัสดุเคลือบผิวหน้า อย่างบางชนิดใช้เทคนิคเคลือบผิวพ่นไฟทำให้ผิวหน้ามีหยาบกร้านเมื่อใช้ไปนานๆ จะเกิดความมันวาวคล้ายกับหินภูเขา กระเบื้องคอนกรีตมีความบางจึงเหมาะสำหรับพื้นที่ที่ไม่ต้องรับแรงมากอย่างปูทางเดินในสวนและทางเดินข้างบ้าน
สิ่งที่ต้องพิจารณาในการเลือกวัสดุปูพื้นคือคุณสมบัติของวัสดุ เช่นความสามารถในการดูดซับน้ำป้องกันปัญหาน้ำท่วมขัง ลวดลายความหยาบของผิวสัมผัสเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ไม่ก่อให้เกิดตะไคร่น้ำ มีความแข็งแรงสามารถรับแรงน้ำหนักตามการใช้งาน และความสวยงามตามแบบที่ชื่นชอบ ปัจจุบันมีคุณสมบัติอื่นๆ เข้ามาเป็นตัวเลือกเพิ่มเติม อย่างการกันความร้อนสะสมบนพื้นคอนกรีตด้วยการกักเก็บน้ำไว้ในตัวเนื้อคอนกรีต
วิธีการปู พื้นทางเดินนอกบ้าน
การปูพื้นทางเดินสามารถปูได้ทั้งแบบ ปูบนพื้นคอนกรีตกับการปูบนบนพื้นดิน การปูบนพื้นคอนกรีตจะมีความแข็งแรง ทนต่อแรงอัดและรับน้ำหนักได้มากกว่าการปูบนพื้นดิน แต่การปูบนพื้นดินสามารถระบายน้ำได้รวดเร็วกว่า ประหยัดกว่า จึงนิยมกันมากกว่า ขั้นตอนการปูพื้นทางเดินมีขั้นตอนดังนี้
1 ปรับระดับพื้นด้วยการใช้จอบถากผิวดินเกลี่ยให้เสมอกันพร้อมเก็บเศษวัชพืชออกให้หมด
2 กั้นขอบพื้นที่แนวทางเดินด้วยอิฐขอบปูน (Curb) หรือ ขอบสำเร็จรูป เพื่อช่วยให้ทางเดินคงทนแข็งแรงมากขึ้นและง่ายต่อการปูพื้น จากนั้นรองด้วยแผ่นใยสังเคราะห์ (Geotextile) เพื่อรองทรายกันชั้นดินไม่ให้ทรายไหลรวมกับดิน
3 โรยทรายหยาบแล้วเกลี่ยให้ทั่วตำแหน่งทางเดินเพื่อช่วยปรับระดับดินให้มีความเรียบสม่ำเสมอ บดอัดทรายให้แน่นด้วยลูกกลิ้ง ถ้าไม่มีลูกกลิ้งให้ใช้คราดหรือจอบกดอัดให้แน่นแทน ให้พื้นทรายที่อัดแน่นแล้วมีความหนาประมาณ 3-5 เซนติเมตร (หากปูบนพื้นคอนกรีตเดิมให้เริ่มขั้นตอนอัดทรายได้เลย)
4 ลองวางแผ่นปูพื้น เพื่อดูระดับที่สูงเท่ากัน หากยังไม่เท่าให้ใช้เกรียงปาดทรายออก
5 วางแผ่นปูพื้น กดให้แน่น ให้ค้อนยางหรือด้ามเกรียงค่อยๆ เคาะแน่นจนได้ระดับที่ต้องการ โรยทรายอีกรอบให้ทั่วบริเวณเพื่อให้อุดรอยต่อระหว่างแผ่นคอนกรีต เป็นอันเสร็จสิ้น
หากเป็นพื้นที่ใช้งานหนัก อย่างทางเข้าออกโรงจอดรถ หรือทางเดินที่ต้องใช้งานหนัก ควรเพิ่มคอนกรีตโครงสร้างเพื่อความแข็งแรงทนทานยิ่งขึ้น
Tips
หลังจากปูบล็อกคอนกรีตเสร็จเรียบร้อยควรลงน้ำยาประสานทรายอีกชั้นจะทำให้ทรายจับตัวกันแน่นขึ้นลดปัญหาทรายไหลอันเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของทางเดินทรุดตัว และในกรณีต้องการโรยกรวดรอบทางเดินเพื่อตกแต่งเพิ่มเติม ควรรองด้วยตะแกรงพลาสติกก่อนเพื่อป้องกันกรวดจมดินด้วยเช่นกัน