รีวิวนิทรรศการ FROM MONET TO KANDINSKY ภาพ-คลิป จัดเต็ม พร้อมรายละเอียด กิจกรรมเสริม

เป็นอีกหนึ่งที่น่าจับตามองกับนิทรรศการ FROM MONET TO KANDINSKY ‘Visions Alive’  ที่ได้เดินทางจาก กรุง เบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน มาจัดแสดงที่ประเทศไทยแล้ว (ชมภาพที่จัดที่ประเทศเยอรมันได้ที่นี่) นิทรรศการนี้ นำเสนอผลงานของ 16 ศิลปิน ศิลปะสมัยใหม่ระดับตำนาน ได้แก่ Claude Monet, Edgar Degas, Paul Gaugin, Henri Rousseau, Henri Toulouse-Lautrec, Gustav Klimt, Paul Signac, Piet Mondrian, Amedeo Modigliani, Vincent Van Gogh, Pierre August Renoir, Juan Gris, Paul Klee, Edward Munch, Wassily Kandinsky และ Kazimir Malevich

ผลงานของศิลปินเหล่านี้ได้ถูกนำมาเสนอในรูปของ ผลงานวิดิโอดิจิทัล ฉายจากโปรเจ็กเตอร์ลงรอบบนผนังห้องสูง 3 เมตรเปลี่ยนพื้นที่นับพันตารางเมตร ของ RCB Galleria (ชั้น 2 ของศูนย์การค้า River City Bangkok) ให้กลายเป็นโลกแห่งศิลปะ ที่ผลงานระดับ Master Piece จะโอบล้อมผู้ชม สร้างประสบการณ์การเสพย์งานศิลป์ในรูปแบบที่แปลกใหม่ ซึ่งวันนี้ บ้านและสวน จะพาทุกท่านไปชมนิทรรศการนี้กัน พร้อมบทสัมภาษณ์ พูดคุยกับ คุณ Oleg Marinin (โอเลก มารินิน) ผู้บริหารทีมที่อยู่เบื้องหลังนิทรรศการนี้ที่บินตรงมาจากเยอรมัน

พร้อมแล้ว ….ไปชมกันได้ ณ บัด นี้

เมื่อแรกก้าวเข้ามาถึง นิทรรศการ FROM MONET TO KANDINSKY ‘Visions Alive’ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรก เป็นส่วนของ Introduction Room ที่ตามผนังจะมีแผ่นป้ายแนะนำประวัติ และ ตัวอย่างผลงานของศิลปินทั้ง 16 ท่านให้ผู้ชมได้รู้จักแต่ละท่านมากยิ่งขึ้น

FROM MONET TO KANDINSKY
Introduction Room ที่จะให้ข้อมูลของศิลปินทั้ง 16 ท่าน
FROM MONET TO KANDINSKY
แต่ละป้ายจะมีข้อมูลของศิลปินแต่ละคน ซึ่งประกอบไปด้วย สไตล์การวาดรูป, ประวัติตามไทม์ไลน์, วาทะเด็ด และ รูปแบบลายเซ็น

ส่วนที่สอง คือส่วน Multimedia Room ซึ่งเป็นส่วนหลักของนิทรรศการนี้ที่ผู้ชมจะได้ชมผลงานศิลปะวิดิโอดิจิทัลประกอบเพลงที่จะฉายจากโปรเจ็กเตอร์ลงบนกำแพงทั่งห้อง โดย  Multimedia Room จะมีสองแบบให้ท่านได้เลือกเข้าไปชม ทั้งแบบห้องใหญ่ที่มีเก้าอี้ให้เลือกนั่งชมได้หลายมุม และ ห้องขนาดเล็กลงมาหน่อย ที่มี เบาะ BeanBag ให้ผู้ชมได้เอนกายนอนชมผลงานอย่างใกล้ชิด แม้ว่าวิดิโอที่เปิดในทั้งสองห้องนั้นจะเหมือนกัน แต่จากที่ผู้เขียนได้สัมผัสรับชม พบว่า ประสบการณ์ที่ได้รับนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยในห้องเล็กที่นอนได้ จะให้ความรู้สึกราวกับว่าผลงานศิลปะอยู่โอบล้อมตัวเราอย่างใกล้ชิดมากกว่า ในขณะที่การนั่งชมในห้องที่ใหญ่กว่าจะทำให้เห็นงานศิลปะในมุมกว้างๆ แบบ Panorama ซึ่งทำให้ได้อรรถรสของการเสพย์งานศิลป์กันคนละแบบ (ซึ่งใครไปชมมาแล้ว รู้สึกอย่างไรกันบ้าง เขียนบอกเล่าพูดคุยกันได้ใน Comment เลยนะครับ)  และ เราก็ไม่พลาดที่จะเก็บภาพบรรยากาศของห้องทั้งสองแบบมาให้ชมกัน

บรรยากาศในห้อง Multimedia Room ห้องแรก (จาก Introduction Room เลี้ยวซ้าย) ที่มีเก้าอี้จัดไว้ให้คนเสพย์ศิลป์ตามมุมต่างๆ

คลิปวิดิโอ บรรยากาศในห้อง Multimedia Room สำหรับนั่งชม

เราไม่สามารถเปิดเสียงเพลง ใน คลิปวิดิโอได้ เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านลิขสิทธิ์  แต่ท่านสามารถไปรับฟังเพลงที่ใช้ในนิทรรศการนี้ทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ของนิทรรศการนี้

บรรยากาศในห้อง Multimedia Room ห้องที่สอง (จาก Introduction Room เลี้ยวขวา) ห้องขนาดเล็กที่มีเบาะ Beanbag ให้นอนชมงานศิลปะได้แบบชิลๆ

คลิปบรรยากาศในห้อง Multimedia Room ห้องเล็ก

เราไม่สามารถเปิดเสียงเพลง ใน คลิปวิดิโอได้ เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านลิขสิทธิ์  แต่ท่านสามารถไปรับฟังเพลงที่ใช้ในนิทรรศการนี้ทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ของนิทรรศการนี้

สำหรับศิลปะวิดิโอ นำเสนอผลงานของศิลปินเรียงลำดับไปทีละท่าน คนละประมาณ 3-4 นาที (ซึ่งเพลงประกอบจะเปลี่ยนตามศิลปินแต่ละท่านเช่นกัน) รวมความยาวของวิดิโอทั้งหมด 65 นาที แล้วจะฉาย วนซ้ำไปเรื่อยๆ (ผู้ชมสามารถเดินออกมากลางคัน หรือ จะชมต่ออีกนานเท่าใดก็ได้ ตามแต่สะดวก) ซึ่งหากรับชมจนครบทั้ง 16 ศิลปิน ท่านจะได้เห็น วิวัฒนาการแนวคิดการสร้างงานศิลปะตะวันตก เริ่มตั้งแต่ศิลปะ สกุล Impresssion ในยุคราวๆปี 1860 -1880 (โดย ตัวอย่างศิลปินสำคัญในสกุลนี้ได้แก่ Claude Monet, Edgar Degas และ Pierre August Renoir ) ไปจนถึง ศิลปะสกุล Expressionism และ Abstract ในยุคราวๆปี 1910-1940 (โดยศิลปินที่สำคัญในยุคนี้มีหลายท่าน อาทิ Paul Klee, Edward Munch และ  Wassily Kandinsky) ซึ่งเป็นอะไรที่น่าศึกษา และ เป็นประโยชน์กับเยาวชน หรือ ผู้ที่เริ่มสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นอย่างยิ่ง

 

ส่วนหนึ่งที่เป็น Highlight ของนิทรรศการนี้ อยู่ในบางช่วงตอนของศิลปะวิดิโอชิ้นนี้ ที่จะนำองค์ประกอบในภาพของ ศิลปินแต่ละท่าน มาทำให้เคลื่อนไหวได้ ด้วยเทคนิคการใช้ Animation 3 มิติ ยกตัวอย่างในช่วงที่นำเสนอผลงานของ Kazimir Malevich ศิลปินหัวก้าวหน้าของรัสเซีย ผู้ก่อตั้งศิลปะลัทธิ Suprematism ในปี ค.ศ.1913 ศิลปินลัทธินี้เชื่อในการสร้างผลงานศิลปะโดยใช้รูปทรงเรขาคณิตพื้นฐาน อาทิ วงกลม สามเหลี่ยม สีเหลี่ยม และใช้ shade สีในภาพไม่มาก โดยพวกเขามีแนวคิดว่า การใช้รูปทรงและสีเหล่านี้ มีความบริสุทธิ์ในการสื่อความคิดของศิลปิน มากกว่าการวาดงานเป็นรูปร่างที่เห็นแล้วเข้าใจได้ทันทีว่าคืออะไร ซึ่งศิลปะวิดิโอในนิทรรศการนี้ได้นำรูปทรงเรขาคณิตเหล่าต่างๆ มาโลดแล่นอยู่ในผลงานของ Malevich ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอรรถรสของการเสพย์งานศิลป์ที่แตกต่างจากการเสพย์ผลงานจริง อย่างที่จะเห็นได้ จากคลิปข้างล่างนี้ 

เราไม่สามารถเปิดเสียงเพลง ใน คลิปวิดิโอได้ เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านลิขสิทธิ์  แต่ท่านสามารถไปรับฟังเพลงที่ใช้ในนิทรรศการนี้ทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ของนิทรรศการนี้

กว่าจะได้เป็นศิลปะวิดิโอมาให้เราชมกันได้เช่นนี้ ทางทีมผู้สร้างต้องรวบรวมภาพจาก 20 พิพิธภัณฑ์ทั่วโลก และ ภาพ ลิขสิทธิ์สาธารณะ (Public Domain) จาก อินเทอร์เน็ท รวมแล้ว กว่า 1,500 ภาพ เราได้พูดคุยกับคุณ Oleg Marinin ผู้ดำรงตำแหน่ง Managing Partner ของบริษัท Vision Multimedia Projects GmbH ทีมสร้างสรรค์นิทรรศการนี้ ซึ่งได้นำไปแสดงที่ กรุง เบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน เมื่อปีที่แล้ว

คุณ Oleg Marinin (ซ้าย) และ คุณ Linda Cheng (ขวา) ขณะกำลังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
คุณ Oleg Marinin (ซ้าย) และ คุณ Linda Cheng (ขวา) ขณะกำลังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

“ที่เบอร์ลิน เราจัดตลอดทั้งปี 12  เดือน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนิทรรศการที่ได้จัดแสดงยาวนานที่สุดในเบอร์ลิน และครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกสำหรับเราที่ได้นำผลงานมานำเสนอที่ประเทศไทย ซึ่งนิทรรศการนี้เราได้เลือกศิลปินทั้ง 16 ท่านนี้ เนื่องจากเรามองว่าพวกเขาเป็นศิลปินระดับมาสตอร์ที่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ พวกเขาปฏิเสธแนวทางของยุคเก่า  และ ให้ความสำคัญต่อนวัตกรรมและการทดลองสิ่งใหม่ในแง่ของรูปแบบ วัสดุที่ใช้ตลอดจนเทคนิคเพื่อค้นหารูปแบบทางทัศนศิลป์ที่สามารถสะท้อนเรื่องราวแห่งยุคสมัยของพวกเขาได้อย่างแท้จริง โดยในส่วนของ Introduction Room ทุกท่านสามารถศึกษาผลงาน และ รู้จักศิลปินแต่ละท่านก่อนเข้าไปชมตัวผลงานวิดิโอ”

เราถามเขาต่อไปว่า การเลือกภาพนับพันมาผลิตเป็น ศิลปะวิดิโอ ที่ต้องเชื่อมต่อร้อยเรืยงกันเช่นนี้ มีกระบวนการอย่างไร โดยคุณ Oleg บอกกับเราว่า เขามีทีมงานที่ดูแลด้านนี้โดยเฉพาะประมาณ 4-5 คน ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นใช้เวลาเกือบครึ่งปี ในการเรียงลำดับตัดต่อ และดูความกลมกลืน ต่อเนื่องของภาพในวิดิโอ ทั้งหมด คุณ Oleg ยังบอกว่าอีกว่า สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความอดทน และ การทำงานหนักเป็นอย่างมาก และ สิ่งที่ยากไม่แพ้กันคือ

“เราคิดกันหนักมาก ว่า จะทำอย่างไร ให้คุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ของผลงานจริงนั้น ยังคงอยู่ เมื่อมันถูกเปลี่ยนมานำเสนอในรูปแบบศิลปะวิดิโอที่ต้องฉายลงบนกำแพงเช่นนี้ มันเป็นงานที่ยากมาก แต่พวกเราก็อยากจะทดลองสิ่งใหม่ๆ เหมือนกับยอดศิลปินทั้ง 16 ท่าน ที่ได้แสวงหาแนวทางการทำงานใหม่ๆในยุคสมัยของพวกเขา” คุณ Oleg เล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังการทำงาน

 

ทางด้าน คุณ Linda Cheng (ลินดา เชง) กรรมการผู้จัดการ ริเวอร์ ซิตี้แบงค็อก ที่ได้มาร่วมพูดคุยกับเรา กล่าวเสริมว่า “เรามองว่าการนำเสนอผลงานในรูปแบบดั่งเดิม และ สื่อใหม่นั้น เป็นสิ่งที่ส่งเสริมกันและกัน อย่างคนที่มาชมนิทรรศการนี้เสร็จแล้ว เขาอาจจะอยากไปตามหาชมภาพของจริงต่อไปในอนาคต เราได้ตัดสินใจนำนิทรรศการนี้เข้ามาแสดงในประเทศไทย เพราะคิดว่านิทรรศการนี้จะช่วยทำให้คนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ หันมาสนใจศิลปะมากยิ่งขึ้น ซึ่งระหว่างช่วงที่จัดแสดงนิทรรศการนี้ เรามีแผนจะจัดกิจกรรมให้ความรู้ต่างๆ ทั้ง Workshop และ เสวนา ต่างๆ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะทั้งจากทั้งในและต่างประเทศ โดยเราจะประกาศตารางกิจกรรมต่างๆให้ทราบต่อไป”

หนึ่งใน เสวนาของงานนี้ ที่กำลังจะจัดในอีกไม่กี่วันคือ “Exclusive Talk ประวัติศาสตร์ศิลป์ที่มีชีวิต หวนคืนสู่ลมหายใจแห่งโลกศิลปะ ” โดย รศ. ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ และ เป็นผู้ที่ให้คำแนะนำคุณ อุ๊ หฤทัย ม่วงบุญศรี ในกรณีการพิสูจน์ภาพวาด “แวนโก๊ะ”  โดยงานเสวนานี้จะขึ้นในวันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2562 เวลา 10.00-12.00 ณ ห้อง RCB Forum (ชั้น 2 ของศูนย์การค้า River City Bangkok) ซึ่งตอนนี้เปิดให้ลงทะเบียนจองที่นั่งกันแล้ว งานนี้ ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย เพียงแค่ 100 ที่นั่งเท่านั้น ท่านสามารถไปลงทะเบียนได้ที่นี่

 

 

สำหรับนิทรรศการ FROM MONET TO KANDINSKY ‘Visions Alive’  เปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้าชมแล้ว วันนี้ – 31 กรกฏาคม 2562 ณ RCB Galleria (ชั้น 2 ของ ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ ) โดย เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00-22.00 น.

หากใครยังชมไม่จุใจ หลังจากนิทรรศการนี้เตรียมพบกับนิทรรศการ ITALIAN RENAISSANCE ซึ่งจะจัดที่ประเทศไทยเป็นที่แรกของโลก โดยจะนำผลงานของ 4 มหาอัครศิลปินแห่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (ช่วงศตวรรษที่ 14-15) ได้แก่ Leonardo da Vinci, Michelangelo, Raphael และ Sandro Botticelli มาโลดแล่นในรูปแบบ ศิลปะวิดิโอดิจิทัล (เช่นเดียวกับนิทรรศการ FROM MONET TO KANDINSKY  )ซึ่งจะประกอบไปภาพชื่อดังระดับโลกอาทิ Mona Lisa, ภาพวาดบนเพดานของวิหารซีสทีน (The Sistine Chapel) และ The Birth of Venus

โดย ITALIAN RENAISSANCE จะเริ่มจัดแสดงระหว่าง วันที่ 8 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2562 เปิดให้ชมทุกวัน ณ RCB Galleria เช่นเดียวกัน

สำหรับใครที่สนใจอยากซื้อตั๋วเข้าชมทั้ง นิทรรศการ FROM MONET TO KANDINSKY ‘Visions Alive’  หรือ  ITALIAN RENAISSANCE  สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

 

เรื่อง และ วิดิโอ: สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข และ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

 


BORDERLESS สร้างศิลป์ สู่ขุนเขา ไร้พรมแดน จิตรกรรม เชื่อม สัมพันธ์ ไทย-จีน

เมื่อคนสร้างเว็บ…สร้างศิลป์

สำริดศิลป์ บ้านช่างหล่อ