Spirou and Marsu : สองการ์ตูน ปกป้องมนุษย์ และ ธรรมชาติ ของ UN
เนื่องในโอกาสเทศกาล “เดือนแห่งผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส” (Francophonie Month) ซึ่งจะจัดขึ้นทั่วโลก ทุกปี ในเดือนมีนาคม โดยสถานฑูตประเทศต่างๆที่เป็นสมาชิกของ องค์การนานาชาติประชาคมโลกภาษาฝรั่งเศส (Organisation internationale de la Francophonie) จะร่วมกันจัดกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็น การแสดงดนตรี ศิลปะ หรือ กิจกรรมการศึกษาและอื่น ไปตลอดเดือน
สำหรับในประเทศไทย ประเทศที่เป็นเจ้าภาพกิจกรรมในเทศกาลนี้จะพลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปทุกปี ซึ่งในปีนี้เป็นวาระของ ประเทศเบลเยี่ยม
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม – 2 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตเบลเยี่ยมประจำประเทศไทย และ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights : OHCHR) ร่วมกับ พันธมิตรหลายภาคส่วน ได้จัดนิทรรศการศิลปะการ์ตูน “Spirou4Rights & Marsu4Nature :นิยายภาพเพื่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ” ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ
บ้านและสวน ได้รับเกียรติอย่างสูงจากท่าน ฟิลลิป คริเดลก้า เอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทยที่ได้พาเราชมนิทรรศการนี้ด้วยตัวเองแบบ Exclusive ในวันเปิดตัวนิทรรศการ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา
“ประเทศเบลเยี่ยม คือ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมหนังสือการ์ตูนของโลกในช่วงต้นศตวรรษ 20 มีตัวละครชื่อดังระดับโลกมากมายที่เกิดขึ้นในประเทศของเราอาทิ Tintin, The Smurfs และ 2 ตัวละครที่เราจะได้รู้จักไปพร้อมๆกันในนิทรรศการนี้ได้แก่ Spriou และ Marsupilamis (Marsu)” ท่านทูต เล่าถึงที่มาของการจัดงานในวันนี้

ในส่วนแรกของนิทรรศเราจะพบกับ ผลงานภาพวาดการ์ตูนที่สื่อถึง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 30 ข้อ ที่ได้ประกาศมาเป็นเวลา 70 ปีแล้ว แต่ละหัวข้อของ ปฏิญญาสากล ได้ถูกนำเสนอเป็นเรื่องราวผ่านบรรดาตัวการ์ตูนชื่อดังจาก วารสาร Spirou (Le Journal de Spirou) ซึ่งเป็นวารสารการ์ตูนเก่าแก่ของประเทศเบลเยี่ยมที่เริ่มตีพิมพ์ โดย Dupuis Publishing ตั้งแต่ปี 1938 – จนถึงปัจจุบัน และ ตัวละครที่สำคัญที่สุดก็มีชื่อเดียวกันกับวารสารนี้ ‘Spirou’ เด็กหนุ่มน้อยร่าเริงในชุด uniform สีแดง ซึ่งเดิมทีเป็นพนักงานบริการในลิฟท์ และ ต่อมาได้ผันตัวเองมาเป็นนักข่าว และ ต่อสู้กับความความอยุติธรรมในสังคม
เราได้ถามท่านเอกอัครราชทูตฯว่า ที่ประเทศเบลเยี่ยมนั้นตัวละคร Spirou นั้นมีชื่อเสียงแค่ไหน ท่านบอกว่า “ผมเชื่อว่าคนทุกช่วงวัย รู้จักตัวละครตัวนี้แทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะคนรุ่นผมที่หนังสือการ์ตูนเป็นนั้นนิยมอย่างมาก ทุกคนโตมากับการอ่านเรื่องราวการผจญภัยต่างๆของ Spirou ”

[ตัวละคร Spriou ได้ถูกคัดเลือกจาก สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Office) ให้ผู้เล่าเรื่อง ปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 30 ข้อ ผ่านการจัดนิทรรศการ #Spriou4rights ซึ่งได้นิทรรศการนี้ได้จัดครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2561 ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ ที่กรุง เจนีว่า ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะส่งไม้ต่อไปจัดงานนิทรรศการที่ประเทศอื่นๆอีก 40 ประเทศทั่วโลก]

เมื่อมาถึงส่วนที่สองของนิทรรศการ เราจะได้รู้จักกับวิวัฒนาการของตัวละคร Spriou มากขึ้น จากต้นฉบับของ วารสาร และ หนังสือพิมพ์ Spirou ที่หาชมได้ยากเป็นอย่างยิ่ง ทั้งหมด 25 ฉบับ ซึ่งรวบรวมมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939 – 1977 รวมถึง ลายเส้นต้นฉบับของตัวละครสำคัญอีกตัวผู้มีบทบาทในการพิทักษ์ธรรมชาติ อย่าง Marsupilamis ซึ่งเป็นลิงที่มีลักษณะคล้ายเสือ ซึ่งมีหางที่ยาวมาก … มากมาก


“สำหรับผม Marsupilamis เสมือนตัวแทนของความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยลักษณะที่เป็นลิงที่รูปร่างคล้ายเสือ ซึ่งในเนื้อหาแต่ละตอน มันได้ต่อสู้เพื่อรักษาธรรมชาติจากผู้ที่มารุกราน ผมเชื่อว่ามันน่าจะช่วยทำให้คนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งที่แวดล้อมที่เราต้องช่วยกันรักษาไว้” มร.ฟิลลิป กล่าวถึงเจ้าลิงหางยาวตัวนี้


นิทรรศการส่วนที่สาม เราได้ชมผลงานของนักวาดการ์ตูนชาวไทยชื่อดัง 34 ท่าน อาทิ อาจารย์ โอม รัชเวทย์, อาจารย์ สุรพล ล่อใจ และ จิ๋ว ประวิทย์ มงคลเนาวรัตน์ ซึ่งแต่ละท่านได้สร้างผลงาน จากตัวละคร Marsupilami ที่ทำให้เราได้เห็นเจ้าลิงชื่อดังระดับโลกตัวนี้ มาโลดแล่นอยู่บริบทแบบไทยๆ โดยเฉพาะประเด็นธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม
บ้านและสวนได้พูดคุยกับศิลปินรุ่นใหญ่ หนึ่งในทีมศิลปินผู้วาดภาพผลงานการ์ตูนฉบับพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” อาจารย์ โอม รัชเวทย์ ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานของเขาในนิทรรศการนี้นี้ว่า “ระหว่างที่ผมกำลังคิดจะสร้างผลงาน ประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องมลภาวะอากาศ PM 2.5 พอดี ผมเลยใช้ประเด็นนี้มาวาดการ์ตูน โดยผมตั้งใจว่าอยากให้มันสื่อตรงๆ ไม่ซับซ้อน และใช้ส่วนที่เป็นหางซึ่งเป็นองค์ประกอบที่โดดเด่นของตัวละครตัวนี้มาเล่นกับกลุ่มมลพิษ PM 2.5”

ในฐานะผู้คร่ำอยู่ในวงการการ์ตูนมาหลายทศวรรษ เราได้ถาม อาจารย์ โอม ต่อไปว่า รู้สึกอย่างไรกับตัวละครที่ชื่อ Marsupilami
“เอาจริงๆ ตอนแรก ผมอยากจะบอกว่า ผมไม่อยากจะเขียนการ์ตูนของคนอื่นหรอก แต่พอได้มาเห็นเจ้า Marsupilami รู้สึกประทับใจมาก คนออกแบบตัวละครตัวนี้มีทักษะสูงมากและมีพื้นฐานการวาดการ์ตูนที่ดีเยี่ยม ลายเส้นก็สวยงาม อย่างรายละเอียดตรงหางที่ยาวมากๆของมันนั้นในเนื้อเรื่องมันจะใช้เป็นอาวุธก็ได้ หรือ เป็นสิ่งที่ใช้ปกป้องธรรมชาติก็ได้ มันเลยทำให้ผมรู้สึกอยากลงมือทำงานกับตัวละครตัวนี้ดูบ้าง”
ทางด้านศิลปินการ์ตูนรุ่นใหม่ ‘PUCK’ หรือ ไตรภัค สุภวัฒนา ได้กล่าวชื่นชมการออกแบบเจ้าลิง Marsupilami นี้ว่า
“ผมว่าตัวการ์ตูนตัวนี้ออกแบบได้ฉลาดมาก โดยเฉพาะส่วนหางที่ยาวมาก หางของมันนี้จะทำให้เกิดเหตุการณ์อะไรก็ได้ มันเอามาคิดต่อได้สนุกมาก อย่างผลงานของผม เป็นฉากที่ Marsu กำลังจะจับขวานของคนที่มาตัดไม่ แล้ว กำลังวิ่งผ่านกระสุนที่ยิงเข้าไป เป็น scene ต่อสู้ที่ทำให้ผู้ชมคิดต่อไปว่า จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น”


ในนิทรรศการนี้ ยังมีผลงานชั้นครู ของ สองตำนานแห่ง การ์ตูนบาทเดียว โต้ด โกสุมพิสัย (อาจารย์สูงศักดิ์ สุพรมพันธ์) และ อาจารย์ สุรพล ล่อใจ ก็ได้นำเจ้าลิงหางยาว(มาก)ตัวนี้ มาอยู่ในบริบทที่เราจะเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำในสังคมไทย เราได้พูดคุยกับอาจารย์ สุรพล กับ ผลงาน “โรคมักง่าย” ที่สะท้อนถึงพฤติกรรมของคนไทยได้อย่างมีชั้นเชิงพร้อมผสมอารมณ์ขัน
“ผลงานของผมเป็นเรื่องราวของ Marsupilami กำลังช่วยเก็บขยะท่ามกลางเมืองที่เต็มด้วยมลพิษ และ ขณะที่ทำความสะอาดอยู่นั่นเอง ทันใดนั้น อยู่ๆก็มีคนมักง่ายมาทิ้งขยะต่อหน้าต่อเลย ผมจึงใส่คำว่า “อุ้ย” ลงไปกลางภาพ ประมาณว่า อุ้ย! ทิ้งกันต่อหน้าต่อตายเลย ทำไมมักง่ายกันจริงๆ”



เมื่อชมนิทรรศการจบแล้ว ท่านเอกอัครราชฑูตฯ ได้กล่าวทิ้งท้ายกับเราว่า
“นิทรรศการนี้ เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ศิลปะการ์ตูนที่ดูเผินๆเหมือนสิ่งที่ให้แต่ความสนุก เป็นสื่อสำหรับการพักผ่อนเบาสมอง แต่จริงๆแล้วสามารถเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่ทรงพลัง ที่สามารถสื่อถึงประเด็นปัญหาที่เข้มข้นที่สำคัญของโลกได้ อย่างเช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม และ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

เรื่อง: สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์
ภาพ: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
Let’s BAB: นิทรรศการล่าสุดของ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กลับมาให้หายคิดถึง