รีโนเวททาวน์เฮ้าส์เก่า อายุ 30 ปี ให้กลับมามีชีวิตชีวากว่าเดิม

รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์เก่าอายุ 30 ปี ให้กลับมามีชีวิตชีวากว่าเดิม

รีโนเวททาวน์เฮ้าส์เก่า อายุ 30 ปี ให้กลับมามีชีวิตชีวากว่าเดิม
รีโนเวททาวน์เฮ้าส์เก่า อายุ 30 ปี ให้กลับมามีชีวิตชีวากว่าเดิม

ด้วยความต้องการขยับขยายที่อยู่อาศัย คุณตี๋-ฉัตรชัย คงเดชอุดมกุล จึงได้วางแผนกับ คุณปู-พิชญ์จุฑา จ๋วงพานิช ผู้เป็นภรรยา รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์เก่า ขนาด 29 ตารางวาในย่านพหลโยธินของพ่อแม่คุณปูให้กลายเป็นบ้านหลังใหม่ที่อบอุ่น

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Touch Architect

ทำเลของบ้านหลังนี้มีสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวตั้งอยู่ตรงหน้าปากซอย และเป็นบ้านหลังแรกของซอยที่ติดกับถนนใหญ่เสียด้วย ปัจจุบันราคาที่ดินในย่านนี้พุ่งขึ้นไปสูงมาก การรีโนเวทอาคารบนพื้นที่เก่า จึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับการใช้งานของครอบครัวนี้ที่ปัจจุบันมีสมาชิกคือคุณตี๋ คุณปู น้องปิงปิง วัยอนุบาล และกำลังจะมีสมาชิกใหม่เพิ่มอีกหนึ่งคนในอีก 6 เดือนข้างหน้า รีโนเวททาวน์เฮ้าส์เก่า

ทาวน์เฮ้าส์
ทาวน์เฮ้าส์เก่าอายุ 30 ปีที่ปรับเปลี่ยนเป็นอาคารพาณิชย์ ด้านล่างมีรั้วเหล็กสูงเพื่อความปลอดภัย ด้านบนเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก เยื้องออกไปสุดอาคารที่ติดกันด้านขวาคือถนนพหลโยธิน

คุณเศรษฐการ ยางเดิม และคุณภาพิศ ลีลานิรมล จาก Touch Architect เป็นผู้เข้ามารับผิดชอบงานออกแบบในครั้งนี้ เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมโดยรอบและทำเลที่ตั้งดังกล่าว จึงได้ขออนุญาตปรับปรุงทาวน์เฮ้าส์เก่าสภาพทรุดโทรมให้กลายเป็นอาคารพาณิชย์ พร้อมงานออกแบบที่เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องแสงสว่างและจัดวางงานระบบให้ลงตัว

ภาพก่อนการปรับปรุงอาคาร ด้านขวาเป็นด้านหลังของธนาคารที่ติดถนนใหญ่ ด้านซ้ายเป็นอาคารของเพื่อนบ้าน
จุดเชื่อมต่อระหว่างโครงสร้างเก่ากับใหม่เปิดเป็นช่องแสงด้วยการสร้างเป็นคอร์ตด้านหน้า พร้อมตะแกรงเหล็กสีขาว ผนังสีขาวทั้งสองด้านฉาบทับโครงสร้างเหล็ก H-Beam ที่รับน้ำหนักอาคารด้านบน โดยมีฐานรากเป็นเสาไมโครไพน์

“ผู้ออกแบบช่วยทำให้ทาวน์เฮ้าส์นี้ได้อารมณ์เหมือนบ้านเดี่ยวเลย มีแสงทางด้านหน้าตรงช่องกลาง และด้านหลังตรงครัว ซึ่งหาจากทาวน์เฮ้าส์ทั่วไปไม่ได้​และจากเดิมพื้นที่ใช้สอยมีไม่ถึง 200 ตารางเมตร ตอนนี้ก็มีพื้นที่ใช้สอยถึงราว 300 ตารางเมตร” คุณตี๋เอ่ยถึงการปรับปรุงในครั้งนี้

สำหรับพื้นที่ด้านหน้าที่ได้เพิ่มขึ้นมาจากการเปลี่ยนเป็นอาคารพาณิชย์ ทางสถาปนิกไม่ได้ต่อเติมเต็มพื้นที่ทั้งหมด มีการออกแบบให้จุดเชื่อมต่อของอาคารเดิมมีช่องเปิดให้แสงส่องทะลุมาจนถึงชั้นล่างที่ปลูกต้นไม้ใหญ่ จัดเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก มีน้ำพุย่อมๆ สร้างสุนทรีย์เสมือนการต้อนรับก่อนเข้าสู่ตัวบ้าน ใช้ประโยชน์ในการนั่งใส่รองเท้าและวางงานระบบบางส่วน รวมทั้งยังคงเปิดใช้งานเป็นโรงรถแต่มีเพดานสูงเพื่อให้มีระดับต่างกับอาคารเดิมในชั้นสอง เนื่องจากอาคารแทบจะอยู่ติดถนนใหญ่ เพื่อความปลอยภัยจึงได้ติดตั้งรั้วเหล็กสูงจรดเพดาน แต่ออกแบบให้ดูนุ่มนวลด้วยการใช้เหล็กเจาะรูที่ยังคงได้แสงและลมเข้ามาในบ้าน โดยที่ภายนอกไม่สามารถมองเข้ามายังภายในได้สะดวก

มองจากคอร์ตภายในบ้านจะเห็นห้องชั้นสองที่สร้างใหม่ และสกายไลท์ที่เป็นทางเดินโปร่งแสงของห้องนอนใหญ่บนชั้นสามไปสู่สวนดาดฟ้า
ชั้นล่างใช้โครงสร้างเสาและคานเก่า แต่ผนังทั้งหมดสร้างขึ้นใหม่ ฝ้าถูกดันสูงขึ้นไป 15 เซนติเมตร ออกแบบบันไดให้หันหน้าออกเพื่อจะได้มองเห็นกันตลอด บริเวณนี้ยังคงใช้สีขาวเป็นหลักเพื่อให้ได้บรรยากาศโปร่งโล่ง

“ผมออกแบบให้มีความเป็นทรอปิคัล” คุณเศรษฐการเน้นย้ำถึงแนวคิดในการออกแบบครั้งนี้ ซึ่งต้องการนำแสงเข้าสู่ตัวอาคาร ขณะที่ความเรียบน้อยและผิวสัมผัสของไม้ก็เป็นตัวที่เข้ามาเสริมในเรื่องความอบอุ่นของบ้าน พื้นที่ใช้งานมีการใช้ผนังกระจกค่อนข้างมากตามการใช้ชีวิตของเจ้าของบ้าน ที่ต้องการให้สมาชิกมองเห็นกันได้ตลอดเนื่องจากมีเด็กเล็ก โดยเห็นได้ชัดเจนบนชั้นสองที่สามารถมองทะลุจากห้องนั่งเล่นไปยังห้องเด็กที่ต่อเติมไว้ด้านหน้า และยังมองลงไปถึงชั้นหนึ่งตรงรั้วบ้านได้ด้วยเช่นกัน

ห้องทานข้าว
ส่วนรับประทานอาหารซึ่งเชื่อมต่อกับห้องครัวแบบเปิดโล่ง นอกจากนี้เพดานของห้องครัวยังทำช่องแสงเพื่อให้มีแสงสว่างส่องเข้ามาอย่างเพียงพอ
ครัว
พื้นที่ที่คุณปูใช้ทำอาหารเป็นประจำ เคาน์เตอร์ครัวสีขาว ท็อปเป็นหินสังเคราะห์สำหรับใช้งานหนัก ด้านบนเจาะช่องแสงนำแสงสว่างเข้าสู่ด้านใน
บันได
บันไดออกแบบสร้างเฟรมเป็นกล่องแบบยกตัว ช่วยให้บ้านดูมีมิติมากขึ้น

ชั้นสามมีห้องพระ ห้องนอนเล็ก ห้องนอนใหญ่ รวมถึงสวนดาดฟ้าเล็กๆ ด้านหน้าด้วย ความจริงจุดนี้เป็นจุดติดตั้งงานระบบหลายส่วนของบ้าน ด้วยข้อจำกัดในด้านโครงสร้างของทาวน์เฮ้าส์ สถาปนิกจึงออกแบบให้กลายเป็นวิวของห้องนอนใหญ่ด้วยเลย ช่องแสงที่มองทะลุไปยังด้านล่างเป็นกระจกอะคริลิกสามารถเดินได้ คอมเพรสเซอร์แอร์วางอยู่ด้านบนนี้ แท็งก์น้ำก็เลือกซื้อรุ่นที่เป็นรูปทรงม้านั่ง เพื่อสร้างบรรยากาศแบบสวนหย่อม ทั้งยังมีรูปทรงแนวนอนเพื่อช่วยกระจายแรงลงไปยังเพดานชั้นล่าง

ห้องนั่งเล่น
บริเวณชานพักบันไดขึ้นไปชั้นสองกรุผนังกระจกเพื่อให้รู้สึกเชื่อมโยงกับห้องนั่งเล่น ทำให้บ้านดูโปร่งและแสงสว่างยังคงเข้าถึง
จากห้องนั่งเล่นที่เป็นส่วนตัวมากขึ้นบนชั้นสอง สามารถมองทะลุไปยังห้องด้านหน้าที่สร้างขึ้นใหม่ และประตูบ้านในกรณีที่มีคนมาติดต่อด้วยการเปิดพื้นที่โล่งของจุดเชื่อมต่ออาคาร โดยมีสกายไลท์เป็นจุดเด่น
ห้องนั่งเล่น
ห้องนั่งเล่นบนชั้นสองของบ้านที่คุณตี๋ คุณปู และน้องปิงปิงใช้งานเป็นประจำ ตอนนี้คุณปูยังมีทายาทอีกคนในท้องแล้วด้วย

รายละเอียดในการรีโนเวตทาวน์เฮ้าส์หลังนี้ยังมีอีกหลายจุด อาทิ การวางงานระบบใหม่ทั้งหมดให้ลงตัวในพื้นที่จำกัด ซึ่งมีทั้งการสร้างโครงสร้างขึ้นมาครอบและปล่อยโชว์ในบางจุด การดันฝ้าให้สูงขึ้นอีกราว 15 เซนติเมตร​ เพื่อให้บ้านดูโปร่งโล่งขึ้น แต่ก็ต้องแก้ปัญหาหน้างานในบางจุดขณะติดตั้งจริง การใช้ประตูบานเลื่อนแทนประตูบานสวิงในตำแหน่งของห้องที่ติดกับทางเดินที่แคบ การสร้างระดับของโครงสร้างด้านหน้าที่สร้างใหม่กับโครงสร้างเดิมให้มีระดับต่างกัน เพื่อกำหนดมุมในการมองเห็น และช่วยเรื่องแยกการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันในอนาคต การเติมช่องแสงในห้องครัวเพื่อให้ได้แสงสว่าง การทำพื้นที่ทรุดใหม่ทั้งหมด รวมไปถึงการเสริมโครงสร้างเหล็กเข้าไปในห้องน้ำใหม่ด้วย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันทั้งสามฝ่าย ระหว่างเจ้าของบ้าน ผู้ออกแบบ และผู้ก่อสร้างและติดตั้งงานระบบ เพื่อให้บ้านตอบโจทย์ในสิ่งที่ได้วางแผนงานเอาไว้ กลายเป็นบ้านแห่งความสุขที่แท้จริงเมื่อได้เข้ามาอยู่อาศัย

ห้องนอน
ห้องนอนใหญ่ของเจ้าของบ้านได้รับวิวจากสวนดาดฟ้าที่จัดวางงานระบบอยู่ภายนอก
ห้องพระ
ห้องพระแบบเรียบน้อยบนชั้น 3
ดาดฟ้า
สวนดาดฟ้าขนาดเล็กที่เชื่อมต่อกับห้องนอนใหญ่ ด้านขวาเป็นพื้นกระจกลามิเนตซึ่งเปิดให้แสงสว่างส่องลงไปสู่ด้านล่างตรงบริเวณหน้าประตู

เจ้าของ : คุณฉัตรชัย คงเดชอุดมกุล และคุณพิชญ์จุฑา จ๋วงพานิช
ออกแบบ : Touch Architect โดยคุณเศรษฐการ ยางเดิม และคุณภาพิศ ลีลานิรมล

เรื่อง : สมัชชา วิราพร

ภาพ :  ฤทธิรงค์ จันทองสุข