สวนขนาดใหญ่ ที่เปรียบเป็นโอเอซิสของชุมชนละแวกนี้ - บ้านและสวน

สวนขนาดใหญ่ ที่เปรียบเป็นโอเอซิสของชุมชนละแวกนี้

จะดีแค่ไหนหากที่ทำงานและบ้านอยู่ในบริเวณเดียวกัน ไม่ต้องเดินทางไปผจญรถติดกับฝุ่นควันให้เสียเวลาและสุขภาพ และคงจะดีมากขึ้นถ้ามีสวนสวย สนามหญ้า น้ำตก รวมถึงบ่อปลารวมอยู่ในพื้นที่นั้นด้วย

ครั้งนี้เราจะพาคุณไปย่านเพชรเกษม พ้นความวุ่นวายจากถนนด้านนอกเข้ามาในซอยเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยอาคารพาณิชย์ ตึกแถว และอาคารโรงงาน ก็จะได้พบกับโอเอซิสกลางเมืองซึ่งเป็นโรงงานลูกชิ้นชื่อดัง “ลูกชิ้นทิพย์” ของ คุณพงษ์ศักดิ์และคุณศราลี พรอำนวย ซึ่งมีโรงงานและบ้านพักพร้อมสวนอยู่ในพื้นที่เดียวกัน สร้างความร่มรื่นให้แก่ชุมชนในละแวกนี้

สิ่งแรกที่เรารู้สึกคือความเย็นสบายจากต้นไม้ใหญ่กว่าสิบต้น ทั้งสาละลังกา กระพี้จั่น ลั่นทม ชงโค ตีนเป็ดน้ำ และแก้วมุกดา ซึ่งล้วนมีขนาดใหญ่จนอดสงสัยไม่ได้ว่าต้นไม้เหล่านี้โตมานานแล้ว หรือเลือกต้นขนาดใหญ่มาปลูกให้สวยทันใจอย่างที่นิยมทำกันในปัจจุบัน

“ผมเข้ามาทำสวนนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2552 คุณพงษ์ศักดิ์ชอบสไตล์การจัดสวนของผม จึงได้โอกาสเข้ามาออกแบบสวน สิ่งที่เจ้าของบ้านต้องการคืออยากให้มีบ่อน้ำ บ่อปลา มีต้นไม้ที่ร่มรื่น” คุณไห – ทินกร  ศรีวัฒนะธรรมา ผู้ออกแบบจากบริษัทสวนสวย แลนด์สเคป จำกัด เริ่มเล่าที่มาของสวนแห่งนี้ให้ฟัง

บริเวณน้ำตกซึ่งเป็นไฮไลต์ของสวน จัดองค์ประกอบต่างๆ เลียนแบบสภาพน้ำตกและลำธารตามธรรมชาติ ทำเนินเล่นระดับวางก้อนหินทรายเป็นชั้นลดหลั่นกันไป เลือกใช้พรรณไม้ที่ชอบน้ำและแสงรำไร เช่น เฟินชนิดต่างๆ คล้า จั๋ง เฮลิโคเนีย เตย หน้าวัวใบซานาดู เหงือกปลาหมอด่าง
สนามหญ้ากว้างกลางสวนเป็นพื้นที่ค่อนข้างร่ม เพราะมีอาคารสูงล้อมรอบ จึงเลือกปลูกหญ้ามาเลเซียซึ่งเติบโตได้ดีในที่ร่ม

“จากพื้นที่โล่งๆ กว่า 200 ตารางวา ล้อมรอบด้วยอาคารสูง ตึกแถว และอาคารโรงงาน ผมเริ่มจากการปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อบังสายตาและสร้างความเป็นส่วนตัวให้ได้มากที่สุด ตอนนั้นเลือกไม้ต้นที่ไม่ผลัดใบ เพื่อสร้างร่มเงา ต้นไม้ใหญ่ที่เห็นตอนนี้เป็นต้นเดิมที่นิยมในสมัยนั้น เช่น สาละลังกา สัตบรรณ ปาล์มฟอกซ์เทล ผมลงไม้ใหญ่ค่อนข้างเยอะเพื่อให้บรรยากาศร่มรื่นดูเหมือนป่า เป็นจุดกำเนิดของน้ำตกและลำธารกลายเป็นภาพรวมของสวนป่าเมืองร้อนตามแนวที่ผมถนัด ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของเจ้าของบ้าน

“พื้นที่สวนที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมแบบนี้ช่วยให้ออกแบบสวนได้ค่อนข้างง่าย โดยเปิดพื้นที่โล่งตรงกลาง ล้อมรอบด้วยต้นไม้ แบ่งพื้นที่เป็น 2 โซน คือ โซนน้ำตกและบ่อปลา อีกโซนคือสนามหญ้าโล่ง โดยใช้ทางเดินเป็นตัวเชื่อมพื้นที่ทั้งหมด จากนั้นก็วางรายละเอียดสวนตามจุดต่างๆ เช่น น้ำตก ลำธาร บ่อปลา พิจารณามุมมองจากจุดต่างๆ ทั้งมุมมองจากในบ้าน หน้าบ้าน และออฟฟิศ แล้วจึงวางตำแหน่งต่างๆ ให้เหมาะสม ผมทำน้ำตกให้ห่างจากตัวบ้านพอสมควร ผมว่าการวางตำแหน่งลำธารให้ไหลเข้าไปทางบ้าน เอาน้ำตกลำธารออกไปอยู่ให้ไกลบ้าน ยิ่งไกลมากก็จะยิ่งดูสมจริง เล่นกับลำธารได้เยอะ เช่น ทำให้คดเคี้ยว ทำน้ำตกให้เป็นชั้นลดหลั่นกันเลียนแบบให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด”

ศาลาไม้ขนาดใหญ่ตั้งเด่นอยู่กลางน้ำ พื้นเป็นไม้เต็งที่ทนแดดทนความชื้น ทำราวกันตกรอบศาลา เนื่องจากที่บ้านมีเด็กวัยกำลังซน
ศาลาหลังเล็กทำขึ้นใหม่ใกล้ตัวบ้าน เลือกใช้รูปทรง วัสดุ และสีเดียวกับศาลากลางน้ำ เพื่อให้ดูต่อเนื่องสัมพันธ์กัน เป็นอีกหนึ่งมุมทำงานเล็กๆ ที่มองเห็นบรรยากาศสวนทั้งหมด
ด้านหน้าบริเวณทางเข้าบ้านจัดเป็นสวนหย่อมเล็กๆ เลือกใช้พรรณไม้น้อยชนิดเพื่อให้ดูเป็นระเบียบ สบายตา และดูแลรักษาง่าย พื้นทางเดินปูแผ่นหินทรายวางเป็นเส้นโค้งเชื่อมไปยังสวนบริเวณอื่นๆ
เนื่องจากน้ำตกที่อยู่ด้านในออกแบบเป็นชั้นลดหลั่นกัน ผู้ออกแบบจึงวางไม้หมอนรถไฟและแผ่นหินทรายเป็นทางเดินลัดเลาะไปตามลำธาร บางส่วนสามารถเดินข้ามได้ ปลูกพรรณไม้หลายชนิดแทรกเป็นกลุ่ม เลียนแบบสภาพป่าในธรรมชาติ ในพื้นที่ที่ค่อนข้างร่มโรยกรวดแม่น้ำแทนการปลูกหญ้า เพื่อให้ดูแลรักษาง่าย และสามารถเดินเข้าไปดูแลรดน้ำต้นไม้ที่อยู่ด้านในได้

ไม่น่าเชื่อว่าสวนนี้ผ่านฝนผ่านหนาวมานานถึง 10 ปี แต่ยังคงความสวยงามมาจนถึงทุกวันนี้ ต้นไม้สูงใหญ่ให้ร่มเงาทั่วบริเวณ น้ำตกลำธารก็มีตะไคร่ขึ้นปกคลุมก้อนหินไปทั่ว ไม้พุ่มที่เติบโตออกดอกแตกใบ สังเกตพรรณไม้ที่เลือกใช้มีทั้งไม้จัดสวนยุคเก่า เช่น อโกลนีมา คล้า เฟิน เฮลิโคเนีย จั๋ง หมากผู้หมากเมีย โกสน ชบา และต้นไม้ใหม่ๆ เช่น หงส์ฟู่ สับปะรดสี ฟิโลเดนดรอน หน้าวัวใบ ปลูกคละปนกันดูเป็นธรรมชาติ

“ปัจจุบันไม้ใหญ่ต่างๆ ที่ลงไว้โตขึ้นมาก แสงก็ส่องผ่านมาด้านล่างน้อยลง พวกไม้พุ่มและไม้คลุมดินด้านล่างหลายต้นเริ่มอยู่ไม่ได้ เลยต้องปรับใหม่ จากที่เมื่อก่อนใช้ไม้ดอกที่ชอบแสงแดด ต้องเปลี่ยนมาใช้ไม้ที่ชอบแสงร่มรำไรมากขึ้น เน้นไปที่กลุ่มไม้ใบในร่มเป็นหลัก มีการปรับพื้นที่ใหม่บางส่วน เช่น สนามพัตต์กอล์ฟด้านหน้าที่เดิมเคยเป็นลานโล่งไว้ให้คนงานได้พักผ่อน เราย้ายชิงช้าที่เคยวางไว้ไปตั้งอีกด้านของสวนแทน ปลูกไม้ริมรั้วเพิ่มให้แน่นขึ้น ส่วนน้ำตกและบ่อปลายังคงเดิมครับ”  

ต้นไม้บริเวณน้ำตกเลือกใช้ไม้พุ่มที่ไม่สูงมากหรือตัดแต่งทรงพุ่มเพื่อควบคุมความสูง ไม่ให้บังทัศนียภาพของน้ำตก เน้นพวกไม้ในร่มสีเขียวเป็นหลัก ผสมกับไม้ใบที่มีสีสัน เช่น คล้าหลังแดง หน้าวัวใบ จั๋ง เฮลิโคเนีย เฟิน ซานาดู เหงือกปลาหมอด่าง แซมด้วยไม้ดอก เช่น เข็ม พีทูเนีย เพื่อเพิ่มสีสันให้สวน
สาละลังกาเป็นต้นไม้เดิมที่ลงไว้เมื่อสิบปีที่แล้ว ถือเป็นไม้จัดสวนที่ได้รับความนิยมมากในสมัยนั้น ปัจจุบันเติบใหญ่ให้ร่มเงาแก่สวนได้ดี ทั้งออกดอกและผลที่แปลกตาน่าสนใจ

เราปิดท้ายการมาเยือนสวนนี้ด้วยการแวะมานั่งพักผ่อนที่ศาลากลางน้ำกับคุณพงษ์ศักดิ์ เจ้าของบ้าน ซึ่งได้เอ่ยถึงความสุขยามใช้งานสวนว่า

 “ผมเป็นคนไม่ชอบออกไปเที่ยวไหน การได้พักผ่อนอยู่บ้าน ได้ดูแลครอบครัวลูกหลาน ได้ดูแลกิจการที่เรารักอย่างใกล้ชิด ได้ต้อนรับเพื่อนๆ และลูกค้าผู้ร่วมธุรกิจ ที่นี่เรามีทุกอย่างที่อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ในอาณาจักรของเราเอง ทั้งทำงานและพักผ่อนได้พร้อมๆ กัน แค่นี้ก็มีความสุขที่สุดแล้วครับ”

สวนที่ออกแบบและวางระบบต่างๆ ไว้อย่างดี กอปรกับการดูแลเอาใจใส่ทั้งจากเจ้าของบ้านและผู้ออกแบบสวนที่เข้ามาคอยดูแลให้เป็นประจำ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน สวนก็ยังคงสวยงามไปตราบนานเท่านาน

Land of Greenery  อาณาจักรแห่งความสุข
คอลัมน์สวนสวย พฤษภาคม 2562

เจ้าของ : คุณพงษ์ศักดิ์–คุณศราลี พรอำนวย
จัดสวน : บริษัทสวนสวย แลนด์สเคป จำกัด โดยคุณทินกร  ศรีวัฒนะธรรมา

เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : ฤทธิรงค์  จันทองสุข

เรื่องที่น่าสนใจ